ยิ่งเกา ยิ่งคัน หรือจะเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง

2 นาทีในการอ่าน
ยิ่งเกา ยิ่งคัน หรือจะเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง

อาการคันคะเยอเป็นหย่อม ๆ โดยเฉพาะบริเวณต้นคอเชื่อมต่อไหปลาร้า เอว สะโพก ขา ข้อศอก และหลังมือ แต่ละจุดมีผื่นขึ้นต่างกัน บางจุดเป็นเม็ดใสคล้ายหิด บางจุดเป็นผื่นแดงวงกว้าง แต่ที่สำคัญคือ ยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน


เรื่องเล็กน้อยแต่บ่งบอก “ภูมิแพ้ผิวหนัง”

คนที่ผิวแพ้ง่ายเมื่อเจออากาศเปลี่ยนเล็กน้อยก็จะเกิดอาการคัน ลองสังเกตตัวเอง ไม่ว่าจะเหงื่อออก มดกัด ยุงกัด คนอื่นเป็นแป๊บเดียวหาย แต่ของเราเป็นนานมาก หรือมีปฏิกิริยามากกว่าคนอื่น คนเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังส่วนใหญ่ ผิวค่อนข้างแห้งระคายง่าย แค่ล้างจาน ซักผ้า บางทีมือแห้งลอกเป็นผื่น ลองสังเกตมือซึ่งเป็นจุดที่ต้องสัมผัสสารเคมีบ่อย ๆ ดูว่าแห้งลอกเป็นขุยไหม บริเวณข้อพับเป็นตำแหน่งที่มีเหงื่อและฝุ่นสะสม มีอาการแดงหรือคันไหม คันบริเวณคอที่สัมผัสปกเสื้อและส่วนที่อับชื้นไหม อาการต่าง ๆ เหล่านี้บ่งบอกว่ามีแนวโน้มเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง เพราะผิวค่อนข้างไวต่อการตอบสนองสิ่งแวดล้อม มีอะไรมากระทบนิดหน่อยเกิดอาการแพ้ได้ง่าย ผิวแห้งทำให้คัน เมื่อคันก็เกา ผื่นก็ขึ้น 

 

ตรวจ PATCH TEST เพื่อความชัวร์

การทำ Patch Test เป็นวิธีตรวจให้แน่ชัดว่าคนไข้แพ้อะไร เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งนั้น ๆ โดยนำสารเคมี อาทิ ครีมกันแดด ยาย้อมผม โลหะ ฯลฯ มาทดสอบ โดยใช้วิธีการ คือ ใส่แผ่น Finn Chamber ปิดไว้ที่หลังบริเวณระหว่างสะบัก (คล้ายปิดพลาสเตอร์ยาขนาดใหญ่) นาน 3 วัน ห้ามถูกน้ำ จากนั้นจึงมาเปิดดูว่าคนไข้มีปฏิกิริยากับสารเคมีตัวไหน

 

5 ข้อสำคัญเปลี่ยนพฤติกรรมปรับไลฟ์สไตล์

  1. กลับถึงบ้านรีบอาบน้ำล้างเหงื่อหรือฝุ่นออก ใส่เสื้อใหม่ อย่าใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในรัด ยิ่งรัด ยิ่งถู ยิ่งคัน
  2. ใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่มีน้ำหอม (No Perfumed) หรือไม่ใส่สาร Preservative หรือมีคำว่า No Preservative หรือ For Sensitive Skin
  3. ทาโลชั่นหลังอาบน้ำทุกครั้ง เลือกโลชั่นที่ไม่มีน้ำหอมหรือสารเคมี ไม่ควรใช้โลชั่นประเภทไวท์เทนนิง เพราะมีกรดผลไม้ ยิ่งทายิ่งระคาย ผื่นยิ่งเห่อ
  4. กินยาแก้แพ้ เป็นยากลุ่มแอนตี้ฮีสตามีนที่คุณหมอสั่งเท่านั้น ห้ามซื้อยากินเองเด็ดขาด
  5. รักษาด้วย Phototherapy โดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตคลื่นความถี่เพื่อการรักษาผื่นผิวหนังโดยเฉพาะ เพื่อช่วยกดภูมิในร่างกายไม่ให้ไวต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้คนไข้เข้าไปยืนในตู้ รับการฉายแสง 1 – 2 นาที อาทิตย์ละ 2 ครั้ง อาการดีขึ้นจึงค่อย ๆ ลดปริมาณฉายแสงน้อยลง จากนั้นค่อย ๆ ทายาและกินยาตามปกติ


โรคนี้จะรักษาหายหรือไม่หายขึ้นอยู่กับตัวคนไข้ เมื่อผื่นดีขึ้นต้องระวังตัวเองในการเลือกใช้สบู่และโลชั่น งดการใช้อารมณ์มาก ๆ หรือเครียด หากรักษาหายแล้วกลับไปมีไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมแบบเดิมย่อมกลับมาเป็นโรคนี้ได้อีก

 

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ผิวหนังและความงาม

ชั้น 5 อาคารบางกอกพลาซ่า โรงพยาบาลกรุงเทพ

วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 8.00 - 20.00 น.

วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 8.00 - 17.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด