การผ่าตัดเพื่อซ่อมลิ้นหัวใจและการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

การผ่าตัดเพื่อซ่อมลิ้นหัวใจและการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
แชร์

ปัจจุบันการรักษาโรคลิ้นหัวใจได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่เปิดหน้าอก สามารถผ่าตัดแผลเล็ก ทำให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนลดน้อยลง

การรักษามี 2 วิธี คือ

1. การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ (Valve Repair)

การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่มีความผิดปกติ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยหัวใจที่แข็งแรงหลังผ่าตัดโดยไม่จำเป็นต้องกินยา เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือดซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน คือ การเป็นอัมพาตจากการที่มีเลือดออกในสมอง การผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวสามารถประเมินผลของการรักษาล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังมีวิธีการผ่าตัดที่ทำให้เกิดแผลขนาดเล็กมาก

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ สามารถทำการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจไมทรัล โดยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กเพียงประมาณ 4 เซนติเมตร ที่บริเวณใต้ราวนมด้านขวา หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเจ็บแผลน้อยมาก แผลมีความสวยงาม เมื่อเทียบกับแผลผ่าตัดวิธีเก่าที่อยู่กึ่งกลางหน้าอกและมีขนาดยาวมากกว่า 20 เซนติเมตร

การซ่อมลิ้นหัวใจ ทำได้หลายกรณี ดังนี้

  • 1.1 กรณีที่เป็นลิ้นหัวใจรูห์มาติก (Rheumatic) เกิดจากหินปูนไปเกาะตัวที่ลิ้นหัวใจ ทำให้เป็นพังพืด จะทำการซ่อมลิ้นหัวใจโดยการลอกหินปูนที่จับตัวออกและหาเนื้อเยื่ออื่นมาซ่อมแทนเพื่อให้ลิ้นหัวใจทำงานได้ใกล้เคียงปกติหรือเหมือนเดิม
  • 1.2 กรณีที่เป็นลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามวัย (Degenerative) เช่น เอ็นยึดลิ้นหัวใจที่ยืดหรือขาด ลิ้นหัวใจเองย้วย การซ่อมสามารถทำโดยการซ่อมลิ้นหัวใจให้กระชับได้ใกล้เคียงปกติ

2. การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement)

ในกรณีที่ลิ้นหัวใจเสียหายมากจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจก็มีความจำเป็น ลิ้นหัวใจสังเคราะห์ที่ใช้มีให้เลือกใช้ได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจสังเคราะห์ที่ทำจากโลหะ ซึ่งมีความทนทานสูงและอายุการใช้งานที่ยาวนาน หรือลิ้นหัวใจที่ทำจากเนื้อเยื่อไม่ว่าจากมนุษย์หรือจากสัตว์ ซึ่งลิ้นหัวใจทั้งสองชนิดมีประโยชน์และข้อบ่งชี้ในการใช้งานที่แตกต่างกันตามลักษณะของผู้ป่วย และเช่นเดียวกันกับผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมลิ้นหัวใจ

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้พัฒนาการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยเทคนิคแผลเล็กเพียง 4 เซนติเมตร ลักษณะแผลสวยงาม เจ็บแผลไม่มากเมื่อเทียบกับการผ่าตัดวิธีเดิมที่ต้องตัดกระดูกหน้าอกและเย็บด้วยลวด

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นการรักษาที่ไม่ยากนัก มีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

  • 2.1 ลิ้นหัวใจที่เป็นโลหะ อายุการใช้งานมีความทนทานดี แต่การเปลี่ยนลิ้นหัวใจชนิดนี้ต้องกินยาละลายลิ่มเลือด เพื่อป้องกันเลือดแข็งตัวไปตลอดชีวิต
  • 2.2 ลิ้นหัวใจที่ทำจากเยื่อหุ้มหัวใจหมูหรือวัว ทำให้เกิดลิ่มเลือดต่ำมาก เพราะไม่ใช่โลหะ ไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดไปตลอดชีวิต แต่เนื่องจากเป็นเนื้อเยื่อก็จะโดนภูมิต้านทานของ ร่างกายต่อต้านและทำลาย จนทำให้เกิดพังพืด มีหินปูนมาเกาะจนทำให้ลิ้นหัวใจแข็ง เปิด – ปิดได้ไม่ดี

สิ่งที่ควรพิจารณาสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ คือ ถ้าเปลี่ยนด้วยเนื้อเยื่อจะมีอายุการใช้งาน 10 – 15 ปี หลังจากนั้นอาจต้องพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจอีกครั้ง ในขณะที่เปลี่ยนลิ้นหัวใจที่เป็นโลหะต้องรับประทานยาป้องกันการแข็งไปตลอดชีวิต ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในสมองได้สูง เช่น มีเลือดออกในสมอง ซึ่งจะเป็นได้มากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป

ผลการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจส่วนใหญ่ทำให้คนไข้อาการดีขึ้น เหนื่อยน้อยลง และผลระยะยาวจะดีกว่าการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เนื่องจากไม่ต้องกังวลกับภาวะแทรกซ้อนจากการกินยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด สิ่งสำคัญในการรักษาไม่ว่าจะเป็นการซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจคือ ประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ เพื่อให้คนไข้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาโรคลิ้นหัวใจ

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางในการรักษาโรคลิ้นหัวใจและมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐาน มีเครือข่ายโรงพยาบาลครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถให้คำปรึกษา ทำการผ่าตัดได้อย่างทันท่วงที พร้อมให้บริการด้านโรคหัวใจในทุกด้าน

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com