มาตรฐานรับรองการรักษาระดับสากล JCI โปรแกรมการดูแลแนวทางในการดูแลผู้ป่วยเจ็บหน้าอกสงสัยหัวใจขาดเลือด

Award Image

รายละเอียดเกี่ยวกับโรค

ภาวะเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อหัวใจ หรือ หลอดเลือด แต่สาเหตุที่สำคัญ คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจจะตายในเวลาอันรวดเร็ว ภายใน 6 ชั่วโมง กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดอาจตายมากถึง 90% และเหลือส่วนที่ดีอีกประมาณ 10% ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นบริเวณกว้างจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หัวใจวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตในที่สุด ผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยภาวะหัวใจขาดเลือดควรมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ซึ่งแพทย์จะรักษาโดยการเปิดหลอดเลือดหัวใจทันที เพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายน้อยที่สุด ลดอัตราการตาย และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้น

เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยเจ็บหน้าอกสงสัยหัวใจขาดเลือดให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลจึงได้จัดทำ Acute MI Clinical Pathway ขึ้น

พันธกิจของ Acute MI Program

มุ่งมั่นให้บริการผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันด้วยความเอาใจใส่ และมีคุณภาพการรักษาตามมาตรฐานสากลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญ เป้าหมายของ Acute MI Program ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันตามมาตรฐานและเปิดขยายหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว

วัตถุประสงค์ของ Acute MI Program

  1. เพื่อเป็นมาตรฐานในกระบวรการดูแลและให้การดูแลอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  2. เพื่อเป็นแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
  3. เพื่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ และทีมสหสาขาวิชาชีพ
  4. เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ โดยผู้ป่วยสามารถนำไปปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
  5. มีการประเมินผลและจัดการในกระบวนการและผลลัพธ์

กลุ่มเป้าหมาย/ ผู้เกี่ยวข้อง

  1. ผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  2. อาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกและได้รับการวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกณฑ์การเลือกผู้ป่วยเข้า Pathway

แนวทางนี้ใช้สำหรับ

  1. ผู้ป่วยที่มีสัญญาณหรืออาการปวด หรือ แน่นไม่สบายที่หน้าอก อาการเหล่านี้คือ
    • มักมีแรงดันในหน้าอก หรือ มีอาการบีบ ปวดแสบปวดร้อน หรือ แน่นในหน้าอก
    • มักเริ่มจากบริเวณหน้าอก หลังกระดูกหน้าอก
    • ปวดร้าวไปบริเวณแขน ไหล่ คอ ขากรรไกร ในลำคอ หรือ หลัง
    • อาจรู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย
  2. แนวทางปฏิบัตินี้เริ่มปฏิบัติได้ที่ห้องฉุกเฉิน, แผนกผู้ป่วยนอก, หอผู้ป่วยภาวะวิกฤติ หรือหอผู้ป่วยทั่วไป เมื่อพบผู้ป่วยเจ็บหน้าอกสงสัยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โดยแพทย์หรือพยาบาล In charge ประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากมีอาการ (หากพยาบาลเป็นผู้ประเมินสามารถปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากแพทย์)

แนวทางนี้ไม่ครอบคลุมถึง

  1. ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากอาการบาดเจ็บ หรือ อาการเจ็บหน้าอกจากระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
  2. ผู้ป่วยขอย้ายโรงพยาบาล (Refer out)
  3. ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา
  4. ผู้ป่วยเสียชีวิต
  5. ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 18 ปี

อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาแพทย์โดยด่วน

  • รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เหนื่อยเพิ่มขึ้นจากปกติ รู้สึกอึดอัดเวลานอนราบ
  • บวมตามร่างกายและน้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีจ้ำเลือดตามตัว มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายอุจจาระสีดำ
  • หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น
  • แผลมีอาการอักเสบ บวมแดงเพิ่มขึ้นผิดปกติ

ฉุกเฉิน ติดต่อ 081-3752222 (พยาบาลประสานงาน ด้านโรคหัวใจ) หรือ 1719