รวมคำศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ 2025

รู้ค่ามาตรฐานของการตรวจร่างกายสำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?

การตรวจสุขภาพช่วยให้เรารู้สภาพร่างกายปัจจุบันและตรวจพบโรคหรือความเสี่ยงได้ตั้งแต่ระยะแรก การตรวจสม่ำเสมอช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ทันท่วงที ลดความรุนแรงและค่าใช้จ่ายระยะยาว การเข้าใจวัตถุประสงค์และค่ามาตรฐานของการตรวจยังช่วยให้เราอ่านผลและเข้าใจสถานะสุขภาพของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

 

Table of Contents

 

ตรวจสุขภาพพื้นฐาน (Basic Measurement)



ทำไมต้องตรวจสุขภาพพื้นฐาน?

การตรวจสุขภาพพื้นฐานเป็นขั้นตอนสำคัญในการประเมินสภาพร่างกายเบื้องต้น โดยมีการตรวจวัดสัญญาณชีพ (Vital Signs) และดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) ซึ่งมีรายละเอียดการตรวจ ดังนี้

 

ตรวจวัดสัญญาณชีพ (Vital Signs)

สัญญาณชีพเป็นข้อมูลพื้นฐานที่แสดงถึงการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะมีการวัดค่าความดันโลหิต (Blood Pressure) อุณหภูมิร่างกาย (Temperature) ชีพจร (Pulse) และอัตราการหายใจ (Respiration) หากค่าดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป อาจบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในสภาวะสุขภาพของร่างกาย

ค่าความดันโลหิต (Blood Pressure)

  • ความดันโลหิตระดับเหมาะสมคือ น้อยกว่า 120/80 มม./ปรอท
  • ความดันโลหิตระดับปกติคือ ระหว่าง 120-129/80-84 มม./ปรอท
  • ความดันโลหิตระดับเริ่มสูงคือ ระหว่าง 130-139/85-89 มม./ปรอท
  • ความดันโลหิตระดับสูงคือ ระหว่าง 140-159/90-99 มม./ปรอท
  • ความดันโลหิตระดับสูงมากคือ ระหว่าง 160-179/100-109 มม./ปรอท
  • ความดันโลหิตระดับอันตราย ตั้งแต่ 180 ขึ้นไป/ตั้งแต่ 110 ขึ้นไป มม./ปรอท

ผลของค่าความดันโลหิตสูงและค่าความดันโลหิตต่ำ

ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดปกติ โรคไตเรื้อรัง ขาบวม ซีด ผิวแห้ง โรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการปากเบี้ยว อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก และอาจมีภาวะสมองเสื่อม หรือความผิดปกติที่จอประสาทตาได้

ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การหกล้มจากอาการเวียนศีรษะ อ่อนแรง หรือเป็นลม หากความดันต่ำมาก อาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อหัวใจและสมอง

สาเหตุของค่าความดันโลหิตสูงและโลหิตต่ำ

ค่าความดันโลหิตสูงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ชนิดที่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบได้ 5-10% มักเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ เช่น ไต ต่อมหมวกไต ระบบประสาท ฮอร์โมน หรือสภาวะอื่นๆ เช่น ครรภ์เป็นพิษ และการใช้ยา ส่วนชนิดไม่ทราบสาเหตุพบได้ใน 95% ของผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเพศหญิง ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ กรรมพันธุ์ ความอ้วน ไขมันในเลือดสูง อาหารเค็ม ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ความเครียด และอายุ

ค่าความดันโลหิตต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การหายใจ ความเครียด ท่าทาง การขาดน้ำ การตั้งครรภ์ การใช้ยาบางชนิด ปัญหาหัวใจ ต่อมไร้ท่อ การสูญเสียเลือด การติดเชื้อรุนแรง อาการแพ้รุนแรง หรือขาดสารอาหาร

ค่าอุณหภูมิร่างกาย (Temperature)

  • อุณหภูมิปกติ 35.4 – 37.4 องศาเซลเซียส
  • มีไข้ต่ำ 37.5 – 38.4 องศาเซลเซียส
  • มีไข้สูง 38.5 – 39.4 องศาเซลเซียส
  • มีไข้สูงมาก มากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป

สาเหตุของอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลง

สาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงมาจากหลายปัจจัย เช่น อายุ สภาพร่างกาย กิจกรรมที่ทำ สภาพแวดล้อม รูปร่าง และปัจจัยอื่น ๆ

ค่าชีพจร (Pulse)

  • อัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หัวใจเต้นเกิน 100 ครั้งต่อนาที มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว
  • หัวใจเต้นเกิน 150 ครั้งต่อนาที มีภาวะหัวใจเต้นเร็วมาก เข้าขั้นอันตราย

ผลของค่าชีพจร

ภาวะหัวใจเต้นเร็วโดยที่ไม่ได้ทำกิจกรรม ออกกำลังกาย หรือมีไข้ อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติในร่างกาย หากมีอาการใจสั่น หายใจเหนื่อย หรืออ่อนล้าร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สาเหตุที่หัวใจเต้นเร็ว

สาเหตุที่หัวใจเต้นเร็วมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอก เช่น การออกกำลังกาย เป็นไข้ ตื่นเต้น กลัว ขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ เสียเลือดมาก ความเครียด วิตกกังวล หรือการดื่มเครื่องดื่มและยาที่กระตุ้นหัวใจ ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ ความดันโลหิตสูง และภาวะโลหิตจาง

 

ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index)

ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เป็นเครื่องมือที่ใช้ประมาณปริมาณไขมันในร่างกาย โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวหารด้วยส่วนสูงในหน่วยเมตรยกกำลังสอง แม้ว่า BMI จะช่วยบอกแนวโน้มเกี่ยวกับสุขภาพและระดับความเสี่ยงต่อโรคบางอย่างได้ แต่การใช้ BMI เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอในการประเมินสุขภาพโดยรวม จึงควรใช้การตรวจประเมินอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำและครอบคลุมมากขึ้น

เกณฑ์ดัชนีมวลกาย

  • BMI น้อยกว่า 18.50 | น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
  • BMI ระหว่าง 18.50 – 22.9 | น้ำหนักสมส่วน
  • BMI ระหว่าง 23 – 24.9 | น้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • BMI ระหว่าง 25 – 29.9 | สภาวะอ้วน
  • BMI มากกว่า 30 | สภาวะอ้วนมาก

ผลของค่าดัชนีมวลกาย

  • บุคคลที่ค่า BMI ต่ำกว่ามาตรฐาน มีความเสี่ยงสูงที่จะขาดสารอาหาร ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • บุคคลที่ค่า BMI อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนน้อยที่สุด
  • บุคคลที่ค่า BMI เกินมาตรฐาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน
  • บุคคลที่ค่า BMI เกินมาตรฐานมาก มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน
  • บุคคลที่ค่า BMI สูงมาก มีความเสี่ยงสูงที่สุดในการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน

สาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีมวลกายแตกต่างกัน

สาเหตุที่ทำให้ค่า BMI แตกต่างกันเกิดจากหลายปัจจัย เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย พันธุกรรม ปัจจัยทางสุขภาพ ฮอร์โมน เป็นต้น

 

โปรแกรมคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย  (BMI)

 

ตรวจสุขภาพตา (Eye Screening)



ทำไมต้องตรวจสุขภาพตา?

การตรวจสุขภาพตาเป็นกระบวนการประเมินสุขภาพตา การมองเห็น และตรวจหาสัญญาณความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา เพราะโรคตาบางชนิดอาจจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมาในระยะแรกของโรค เพื่อที่จะป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงที การตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอจึงสำคัญอย่างมาก

รายการตรวจตา

  1. การตรวจระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test หรือ VA)
  2. การประเมินความสามารถในการมองเห็นและตรวจหาความผิดปกติในการหักเหของแสงหรือภาวะทางตา อาชีพต่าง ๆ จำนวนมากมีมาตรฐานความสามารถในการมองเห็นเฉพาะที่ต้องบรรลุให้ได้ ในบางกรณีอาจต้องใช้ความช่วยเหลือ (เช่น สวมแว่น) หรือไม่ใช้ความช่วยเหลือ เรียกค่าสายตาที่สมบูรณ์แบบว่าค่าสายตา 20/20 (หน่วยฟุตตามระบบของสหรัฐอเมริกา) การทดสอบความคมชัดในการมองเห็นยังสามารถระบุได้ว่า :

    • ทารกหรือเด็กมีพัฒนาการทางสายตาที่เหมาะสม
    • บุคคลต้องมีความคมชัดในการมองเห็นที่จำเป็นในการขอใบอนุญาตขับขี่
    • นำไปสู่การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง จากความคมชัดของการมองเห็นลดลง
    • อาการป่วยลุกลามจนทำให้การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
    • ยาได้ผลดีในการรักษาการมองเห็นให้คงที่หรือป้องกันการสูญเสียการมองเห็น
    • ผลการผ่าตัดช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นหรือไม่
  3. การตรวจวัดความดันลูกตา (Auto Tonometer)
  4. ความดันตาสูงเป็นภาวะที่ความดันลูกตามีค่ามากกว่า 21 มม.ปรอท ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคต้อหิน หากปล่อยไว้ไม่รักษาจะส่งผลให้ประสาทตาถูกทำลาย การมองเห็นมัวลงเรื่อย ๆ จนถึงขั้นตาบอดได้

  5. การตรวจวัดสายตา สั้น ยาว เอียง (Auto Refractometer)
  6. เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการประเมินการหักเหของแสงโดยอัตโนมัติ ค้นหาข้อผิดพลาดของการหักเหของแสงเมื่อเทียบกับเทคนิคการหักเหของแสงแบบเดิม ข้อบ่งชี้ต่างๆ ในการทำการวัดสายตา ได้แก่ ผู้ที่มีระดับการมองเห็นลดลง สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง

  7. การตรวจความโค้งของกระจกตา (Auto Keratometer)
  8. การตรวจวัดความโค้งของกระจกตาสามารถวัดภาวะสายตาเอียงได้ และเป็นการวัดที่สำคัญในการผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียม

  9. การตรวจจอประสาทตาโดยไม่ขยายม่านตา (Auto Retina Camera หรือ Fundus Camera)
  10. เป็นกล้องถ่ายภาพที่ให้ภาพถ่ายของจอประสาทตาเหมือนภาพที่แพทย์เห็นจริงในดวงตาของผู้ป่วย ช่วยในการวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาได้ละเอียดแม่นยำ และยังช่วยในการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยอย่างเป็นรูปธรรม

  11. การตรวจคัดกรองตาบอดสี (Color Vision Test)
  12. การตรวจิวินิจฉัยโรคตาบอดสี ควรตรวจคัดกรองตาบอดสีตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยแนะนำที่อายุ 4 ขวบครึ่ง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะช็อคเมื่อตนเองตาบอดสี ซึ่งจะทำให้เกิดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต และการพบว่าเป็นโรคตาบอดสีได้เร็ว จะช่วยในการวางแผนการรักษาและวางแผนการใช้ชีวิตได้ดี วิธีตรวจตาบอดสีมีอยู่หลายวิธี แตกต่างกันไป ได้แก่ แผ่นทดสอบอิชิฮารา (Ishihara plates) แบบทดสอบเคมบริดจ์ (Cambridge color test) การทดสอบด้วยเครื่อง Anomaloscope เป็นต้น

  13. การตรวจค่ากำลังเลนส์ตา (Portable Lensometer)
  14. การวัดกำลังของแว่นตาคนไข้ ด้วยเครื่อง Lensometer เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยใช้กำลังแว่นตาเหมาะสมกับสายตา

 

ตรวจคัดกรองการได้ยิน (Screening Hearing Test)



ทำไมต้องตรวจคัดกรองการได้ยิน?

การได้ยินมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในด้านการสื่อสาร หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น อาจทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างยากลำบาก การสูญเสียการได้ยินสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ดังนั้นการตรวจการได้ยินจึงมีความสำคัญในการป้องกันและรักษาความสูญเสียการได้ยินที่อาจเกิดขึ้นได้

สาเหตุต่าง ๆ ของการสูญเสียการได้ยิน

  • ประสาทหูเสื่อมตามวัย (Presbycusis)
  • กรรมพันธุ์ (Genetics)
  • การได้รับบาดเจ็บ อุบัติเหตุ
  • ขี้หูอุดตัน เยื่อแก้วหูทะลุ
  • โรคต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อ เนื้องอก หินปูนเกาะกระดูก
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดังเป็นเวลานาน
  • การสูญเสียการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด

รายการตรวจคัดกรองการได้ยิน

  1. การตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (Pure-tone Audiometry)
  2. เป็นประเมินระดับเสียงที่เบาที่สุดที่ผู้มารับการตรวจสามารถได้ยินในแต่ละความถี่ทุ้มแหลม Pure-tone Testing มีการนำเสียงได้ 2 แบบ คือ Air Conduction การนำเสียงทางอากาศผ่านหูฟัง และ Bone Conduction การนำเสียงทางกระดูก ผ่านทาง Bone Vibrator หรือ Bone Conductor

    ผู้ที่มีการได้ยิน “ปกติ” จะมีระดับการได้ยินเสียงอยู่ระหว่าง -10 ถึง 25 เดซิเบล หากมากกว่า 25 เดซิเบล ถือว่ามีความผิดปกติของการได้ยิน

  3. การตรวจการได้ยินด้วยคำพูด (Speech Audiometry)
  4. ผู้เข้ารับการตรวจจะฟังและพูดทวนคำที่ได้ยินเพื่อปะเมินระดับเสียงที่เบาที่สุดและความสามารถการฟังเข้าใจคำพูด

    ผลการตรวจจะคำนวณเป็นเปอร์เซนต์ เพื่อบ่งชี้ถึงการเข้าใจคำพูด

  5. การตรวจประเมินการทำงานของหูชั้นกลาง (Middle Ear Function Test)
  6. เพื่อวัดการเคลื่อนไหวของเยื่อแก้วหูและหูชั้นกลางที่มีต่อแรงดันอากาศและเสียงดัง ใช้ผลตรวจร่วมกับอาการแสดงเพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติของหูชั้นกลาง เช่น แก้วหูฉีกขาด มีน้ำมีหนองหรืออักเสบติดเชื้อของหูชั้นกลาง ท่อระบายความดันในหูชั้นกลางทำงานผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น

  7. การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response : ABR)
  8. เป็นการประเมินการทำงานเส้นประสาทระหว่างหูชั้นในกับก้านสมอง ในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติของเส้นประสาทการได้ยิน หรือมีเนื้องอกของเส้นประสาท หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ส่งผลต่อการได้ยิน นอกจากนี้ ABR ยังใช้เป็นการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถตรวจด้วยการตรวจการได้ยิน Pure-tone Audiometry ได้

  9. การตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน (Otoacoustic Emissions Test : OAE)
  10. เพื่อประเมินการทำงานของหูชั้นใน และเป็นการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดด้วย นอกจากนี้ยังช่วยคาดคะเนระดับการได้ยิน รวมถึงประเมินและเฝ้าระวังการได้ยินจากการได้รับยาหรือสารเคมีที่เป็นพิษต่อหูชั้นใน

    หากการตรวจคัดกรองการได้ยินผิดปกติ ควรพิจารณาส่งตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางโรคหูและการได้ยิน เพื่อการประเมิน ติดตามและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

 

ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด (Complete Blood Count : CBC)



ทำไมต้องตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด?

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เป็นการตรวจปริมาณและลักษณะของเม็ดเลือดทั้งสามชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เพื่อค้นหาความผิดปกติของร่างกายและวินิจฉัยโรคหรืออาการต่าง ๆ

 

ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin: Hb/HGB)

เป็นค่าระดับโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่บ่งบอกถึงความสามารถในการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของเม็ดเลือดแดง

ค่าปกติของฮีโมโกลบิน

  • ค่าปกติของผู้ชายอยู่ระหว่าง 13-18 grams per deciliter (g/dL)
  • ค่าปกติของผู้หญิงอยู่ระหว่าง 12-16 grams per deciliter (g/dL)

ผลตรวจของฮีโมโกลบิน

  • หากค่าสูงกว่ามาตรฐาน บ่งบอกถึงภาวะเลือดข้น
  • หากค่าต่ำกว่ามาตรฐาน บ่งบอกถึงภาวะโลหิตจาง

สาเหตุของภาวะเลือดข้นและเลือดจาง

ภาวะเลือดข้นมันมีสาเหตุมาจากการที่มีน้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำในร่างกาย

ภาวะโลหิตจางมีสาเหตุหลักจากการสร้างเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินลดลง ซึ่งอาจเกิดจากการขาดสารอาหาร การตั้งครรภ์ โรคเรื้อรัง หรือปัญหาในไขกระดูก อีกสาเหตุคือเม็ดเลือดแดงแตกและถูกทำลายเร็วเกินไป เช่น โรคพันธุกรรมอย่างธาลัสซีเมีย หรือการติดเชื้อ สาเหตุสุดท้ายคือการสูญเสียเลือด ไม่ว่าจะเป็นการเสียเลือดฉับพลันจากอุบัติเหตุ ผ่าตัด คลอดบุตร หรือลักษณะเรื้อรังที่นำไปสู่การขาดธาตุเหล็ก

 

ฮีมาโทคริต (Hematocrit: HCT)

เป็นค่าปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่อปริมาณของเลือดทั้งหมด

ค่าปกติของฮีมาโทคริต

  • ผู้ชาย 40-54%
  • ผู้หญิง 36-48%

ผลตรวจของฮีมาโทคริต

  • หากค่าสูงกว่ามาตรฐาน บ่งบอกถึงภาวะเลือดข้น
  • หากค่าต่ำกว่ามาตรฐาน บ่งบอกถึงภาวะโลหิตจาง

สาเหตุของภาวะเลือดข้นและเลือดจาง

ภาวะเลือดข้นมันมีสาเหตุมาจากการที่มีน้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำในร่างกาย

ภาวะโลหิตจางมีสาเหตุหลักจากการสร้างเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินลดลง ซึ่งอาจเกิดจากการขาดสารอาหาร การตั้งครรภ์ โรคเรื้อรัง หรือปัญหาในไขกระดูก อีกสาเหตุคือเม็ดเลือดแดงแตกและถูกทำลายเร็วเกินไป เช่น โรคพันธุกรรมอย่างธาลัสซีเมีย หรือการติดเชื้อ สาเหตุสุดท้ายคือการสูญเสียเลือด ไม่ว่าจะเป็นการเสียเลือดฉับพลันจากอุบัติเหตุ ผ่าตัด คลอดบุตร หรือลักษณะเรื้อรังที่นำไปสู่การขาดธาตุเหล็ก

 

จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count : WBC)

เซลล์เม็ดเลือดขาวเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคและสารแปลกปลอมต่าง ๆ โดยเซลล์เหล่านี้มีหลายชนิดและสามารถพบได้ในเลือดและระบบน้ำเหลือง ทั้งหมดเกิดขึ้นจากไขกระดูก

ค่าของเซลล์เม็ดเลือดขาว

สำหรับผู้ที่ร่างกายปกติ ควรมีเม็ดเลือดขาวประมาณ 4,500-10,000 cell/ml

ผลของค่าเซลล์เม็ดเลือดขาว

  • หากค่าสูงกว่ามาตรฐาน บ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสในร่างกาย
  • หากค่าต่ำกว่ามาตรฐาน บ่งบอกถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อที่สูงกว่าคนทั่วไป

สาเหตุของภาวะเม็ดเลือดขาวสูงและต่ำ

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูงกว่า อาจเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม การได้รับเชื้อโรค ไวรัสต่าง ๆ หรือเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการใช้ยาบางชนิด

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากความผิดปกติของแหล่งกำเนิดเม็ดเลือดขาว นั่นก็คือไขกระดูก ความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิด โรคมะเร็ง หรือเกิดขึ้นจากการที่เม็ดเลือดขาวถูกทำลายเป็นจำนวนมากจากการติดเชื้อไวรัส

 

จำนวนเกล็ดเลือด (Platelet count)

เกล็ดเลือดมีหน้าที่สำคัญในการหยุดการไหลของเลือดเมื่อเกิดบาดแผล

ค่าของเกล็ดเลือด

ปริมาณเกล็ดเลือดที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 150,000-450,000 platelets/mm3

ผลของค่าเกล็ดเลือด

หากมีเกล็ดเลือดต่ำเกินไป อาจทำให้เลือดหยุดไหลได้ยาก แต่ถ้ามีปริมาณเกล็ดเลือดสูงเกินไป สามารถนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดตีบได้

สาเหตุของค่าเกล็ดเลือดต่ำ

สาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำเกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก เช่น กลุ่มโรคไขกระดูกฝ่อ หรือการติดเชื้อไวรัส รวมถึงโรคที่มีความผิดปกติในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ ผลของยาบางชนิด การติดเชื้อไวรัส เกล็ดเลือดถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสหรือได้รับวัคซีน โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือการใช้เกล็ดเลือดมากขึ้นจากการหยุดเลือดในภาวะเลือดออกรุนแรง

 

ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด (Sugar Profile)



ทำไมต้องตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด?

การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นการประเมินความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือด เพื่อวิเคราะห์ความสามารถของร่างกายในการควบคุมระดับน้ำตาล

 

ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar : FBS)

การตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด Fasting Blood Sugar หรือ FBS เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดช่วงเวลา 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการตรวจที่ต้องงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือด

ค่าตรวจระดับน้ำตาลในเลือด FBS

  • ค่าน้ำตาลกลูโคสต่ำกว่า 100 mg/dL บ่งบอกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ค่าน้ำตาลกลูโคส 100-125 mg/dL บ่งบอกว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน
  • ค่าน้ำตาลกลูโคสสูงกว่า 126 mg/dL บ่งบอกว่าเป็นโรคเบาหวาน

ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด FBS

หากค่าน้ำตาลกลูโคสอยู่ระหว่าง 100-125 mg/dL หรือกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาล และหากค่าน้ำตาลกลูโคสสูงกว่า 126 mg/dL ที่บ่งบอกว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรจะเข้ารับการรักษาจากแพทย์

สาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูง

สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้ง่าย เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำงานผิดปกติ

ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ความเครียดเรื้อรัง การไม่ออกกำลังกาย การติดเชื้อหรือมีไข้ รวมถึงปัญหาตับอ่อนที่ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน

 

ตรวจหาระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (Glycated hemoglobin : HbA1c)

การตรวจหาระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดเป็นการตรวจวัดระดับโปรตีนฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีน้ำตาลกลูโคสจับเกาะ ผลที่ได้คือค่าความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยสะสมในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา

ค่าตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด HbA1c

  • ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด น้อยกว่า 5.7 mg% อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด อยู่ระหว่าง 5.7-6.4 mg% มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
  • ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 mg% เป็นโรคเบาหวาน
  • สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว การควบคุมที่ดีคือค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดต้องน้อยกว่า 7 mg%

ผลการตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด HbA1c

หากพบว่าค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) สูงจนเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานหรืออาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือด โรคตา โรคไต โรคเกี่ยวกับระบบประสาท และโรคติดเชื้อต่าง ๆ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น

สาเหตุระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดสูง

สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้ง่าย เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำงานผิดปกติ

ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ความเครียดเรื้อรัง การไม่ออกกำลังกาย การติดเชื้อหรือมีไข้ รวมถึงปัญหาตับอ่อนที่ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน

 

ตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile)



ทำไมต้องตรวจระดับไขมันในเลือด?

การตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเป็นการประเมินปริมาณมวลไขมันในร่างกายของมนุษย์ว่ามีมากน้อยแค่ไหน แม้ว่าไขมันจะมีความสำคัญต่อร่างกาย แต่หากได้รับในปริมาณที่เกินความต้องการ ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

 

ตรวจระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด (Cholesterol)

คอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นมาเองได้ และบางส่วนมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป โดยคอเลสเตอรอล แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ไขมันความหนาแน่นสูง (High-Density Lipoprotein) และ ไขมันความหนาแน่นต่ำ (Low-Density Lipopeotein)

ค่าคอเลสเตอรอลในเลือด

  • ระดับปกติของคอเลสเตอรอลในเลือด ไม่ควรเกิน 200 mg/dL
  • คอเลสเตอรอล ระหว่าง 200-239 เริ่มสูง
  • คอเลสเตอรอล มากกว่า 240 สูง

ผลของค่าคอเลสเตอรอลสูง

ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้

สาเหตุที่ทำให้ค่าคอเลสเตอรอลสูง

พฤติกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่างอาจนำไปสู่ภาวะไขมันในเลือดสูงหรือคอเลสตอรอลสูงได้ เช่น การสูบบุหรี่ การไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย หรือไม่ค่อยออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นต้น

 

ตรวจระดับไขมันความหนาแน่นสูง (High-Density Lipoprotein : HDL)

HDL หรือที่เรียกว่า “ไขมันดี” ทำหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์จากหลอดเลือดแดงและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ไปยังตับเพื่อกำจัดออกจากร่างกาย ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมในร่างกาย และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด

ค่า HDL

  • ผู้ชายค่าปกติ มากกว่า 40 mg/dL
  • ผู้หญิงค่าปกติ มากกว่า 50 mg/dL

ผลของค่า HDL

หากมีค่า HDL สูง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อร่างกาย แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าหากมีค่า HDL สูงมาก ๆ จะส่งผลอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ แต่ถ้ามีค่า HDL ต่ำ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และเจ็บหน้าอกได้

สาเหตุของค่า HDL

เนื่องจากค่า HDL เป็นไขมันดีต่อร่างกาย การเพิ่มระดับ HDL สามารถทำได้โดยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (BMI) เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ จำกัดการบริโภคอาหารประเภทแป้ง เช่น น้ำตาล ข้าว ขนมต่าง ๆ รับประทานปลา ผักสด ผลไม้ ข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เพิ่มการบริโภคน้ำมันมะกอกและถั่วหลากชนิด และลดการดื่มแอลกอฮอล์

 

ตรวจระดับไขมันความหนาแน่นต่ำ (Low-Density Lipoprotein : LDL)

LDL หรือที่รู้จักในชื่อ “ไขมันไม่ดี” เป็นไขมันที่สะสมตามผนังหลอดเลือด หากมีไขมันชนิดนี้ในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็งตัว

ค่า LDL

ค่าปกติของ LDL ไม่ควรเกิน 130 mg/dL

ผลของค่า LDL

หากผลของ LDL มีค่าสูงเกินค่าปกติ จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดสมอง

สาเหตุของค่า LDL

สาเหตุที่ทำให้ LDL ในเลือดสูง มาจากอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง หนังและส่วนติดไขมันสัตว์ น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าว กะทิ เนย เป็นต้น และไขมันทรานส์ หรือก็คือน้ำมันที่ผ่านกระบวนการไฮโดรจิเนชัน เป็นการปรับโครงสร้างของไขมัน ให้น้ำมันเป็นของแข็งในอุณหภูมิห้อง ยืดอายุน้ำมัน ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน เช่น เนยเทียม (มาการีน Margarine) เนยขาว (shortening) ครีมเทียม นมข้นจืด เป็นต้น

 

ตรวจระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด (Triglyceride)

ไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นไขมันประเภทหนึ่งในร่างกาย ซึ่งสามารถสังเคราะห์ขึ้นที่ตับหรือได้รับจากการบริโภคอาหารที่มีไขมันโดยตรง หากร่างกายได้รับพลังงานเกินความต้องการ อาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอร์ไรด์และเก็บไว้เป็นพลังงานสำรอง ส่วนหนึ่งจะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมัน และบางส่วนจะสะสมในตับ หากระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในร่างกายสูงเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ

ค่าไตรกลีเซอร์ไรด์

  • ค่าน้อยกว่า 150 mg/dL ค่าปกติ
  • ค่าอยู่ระหว่าง 150-199 mg/dL ค่อนข้างสูง
  • ค่าอยู่ระหว่าง 200-499 mg/dL สูง
  • ค่ามากกว่า 500 mg/dL สูงมาก

ผลของค่าไตรกลีเซอร์ไรด์

หากร่างกายมีไตรกลีเซอร์ไรด์เข้าช่วงสูง จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคตับอ่อนอักเสบ โรคไขมันเกาะตับ และมะเร็งเต้านมได้

สาเหตุของค่าไตรกลีเซอร์ไรด์

ไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นในตับและได้รับจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันทรานส์ หมูสามชั้น น้ำมัน เนย และไขมันชนิดอื่น ๆ

 

ตรวจการทำงานของไต (Kidney Function Test)



ทำไมต้องตรวจการทำงานของไต?

การตรวจการทำงานของไตเป็นการประเมินสุขภาพของไตและความสามารถในการขับของเสียออกจากร่างกาย การตรวจนี้มักรวมถึงการวัดระดับสารต่างๆ ในเลือด นอกจากนี้การตรวจการทำงานของไตเป็นขั้นตอนสำคัญในการตรวจสอบความผิดปกติและการจัดการโรคที่เกี่ยวข้องกับไตด้วย

 

การตรวจค่าไต BUN (Blood Urea Nitrogen)

การตรวจค่าไต BUN (Blood Urea Nitrogen) เป็นการตรวจระดับไนโตรเจนยูเรียในเลือด ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการสลายโปรตีนในร่างกายและขับออกจากไต การตรวจค่า BUN ช่วยประเมินความสามารถของไตในการกำจัดของเสียออกจากเลือด

ค่า BUN

  • ค่าปกติในผู้ใหญ่ อยู่ประมาณ 10-20 mg/dL
  • ค่าปกติในเด็ก อยู่ประมาณ 5-18 mg/dL

ผลของค่า BUN

ค่าที่สูงกว่าปกติอาจบ่งบอกได้ว่าระบบการทำงานของไตมีปัญหา เช่น โรคไตเรื้อรัง หรือภาวะขาดน้ำ ขณะที่ค่าต่ำอาจบ่งบอกถึงการขาดโปรตีนในอาหารหรือปัญหาการดูดซึมสารอาหาร การตรวจค่า BUN จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและประเมินสุขภาพของไต

สาเหตุที่ทำให้ค่า BUN สูง

ค่า BUN สูง อาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนมาก เครียด นิ่ว หรืออาจมีภาวะไตเสื่อม

 

การตรวจค่าไต Creatinine

การตรวจค่าไต Creatinine คือการเจาะเลือดตรวจค่าไตเพื่อประเมินการทำงานของไต โดยค่า Creatinine เป็นของเสียที่เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อในร่างกาย เช่น การเดินหรือการวิ่ง หากระดับ Creatinine ในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป อาจบ่งชี้ว่าการทำงานของไตมีความผิดปกติ

ค่า Creatinine

  • ค่าปกติของผู้ชาย 0.73-1.18 mg/dL
  • ค่าปกติของผู้หญิง 0.55-1.02 mg/dL

ผลของค่า Creatinine

หากค่า Creatinine ต่ำกว่าปกติ คือมีโอกาสเป็นไปได้ที่กล้ามเนื้อและเส้นประสาทไม่ได้รับการบริหารร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตประจำวัน จนถึงภาวะกล้ามเนื้อลีบ ฝ่อ

หากค่า Creatinine สูงกว่าปกติ คือมีสิ่งอุดตันในระบบปัสสาวะ อย่างนิ่วและภาวะขาดน้ำ

สาเหตุค่า Creatinine

ค่า Creatinine ต่ำกว่าเกณฑ์อาจเกิดจากการตั้งครรภ์ ร่างกายได้รับอาหารไม่ครบถ้วน หรือมีปริมาณที่ไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย ปัญหากล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่

ค่า Creatinine สูงอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้ยาบางชนิด การรับประทานโปรตีนจำนวนมากก่อนตรวจ การติดเชื้อในไต การสลายตัวของกล้ามเนื้อจากการทำงานหรือออกกำลังกายหนัก และการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ

 

การตรวจค่าไต eGFR

การตรวจค่าไต eGFR (estimated Glomerular Filtration Rate) เป็นการตรวจอัตราการคัดกรองของกระแสเลือดในไตต่อนาที และช่วยวินิจฉัยภาวะไตเสื่อมหรือไตเรื้อรัง โดยค่า eGFR จะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการทำงานของไต

สาเหตุที่ทำให้ไตค่อย ๆ เสื่อมสภาพ

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อสุขภาพไต ได้แก่ โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไตอักเสบ ประวัติครอบครัวที่มีโรคไต การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารแปรรูป การสูบบุหรี่ การใช้ยาสมุนไพรบางชนิด ยาคลายเส้น หรือยาลูกกลอน รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอและขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

ตรวจหาระดับกรดยูริคในเลือด (Uric Acid)



ทำไมต้องตรวจหาระดับกรดยูริคในเลือด?

กรดยูริคมากจากการย่อยสาร Purine ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภทสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ซึ่งปกติเราสามารถกำจัดกรดยูริคได้ทางปัสสาวะ

ค่ากรดยูริค

คนปกติค่ากรดยูริคในเลือดจะอยู่ในระดับไม่เกิน 7 mg/dL ในเพศชายและเพศหญิงวัยหลังหมดประจำเดือน และในเพศหญิงที่ยังมีประจำเดือนจะมีกรดยูริคไม่เกิน 6 mg/dL

ผลของการตรวจหาระดับกรดยูริคในเลือด

หากค่ากรดยูริคเกินค่าปกติ จะเกิดภาวะกรดยูริคในเลือดสูง (Hyperuricemia) และจะเริ่มมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบหรือโรคเกาต์ และเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วที่ไต

สาเหตุระดับกรดยูริคสูง

กรดยูริคเกิดจากกระบวนการทางเคมีในร่างกายเมื่อมีการสร้างหรือซ่อมแซมเซลล์ และจากการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริคสูง เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ถั่ว และเครื่องดื่มบางชนิด เช่น เบียร์ น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) หากร่างกายมีกรดยูริคมากเกินไป หรือไตขับออกได้ไม่ดี เนื่องจากไตเสื่อม กรดยูริคจะสะสมในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และเพิ่มความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

 

ตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Test)



ทำไมต้องตรวจการทำงานของตับ?

การตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับโปรตีนและเอนไซม์ต่างๆ ที่อาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติของตับ ค่าที่ได้จากการตรวจสามารถใช้ในการคัดกรองเบื้องต้นว่าตับมีการติดเชื้อหรือไม่ นอกจากนี้ ยังช่วยติดตามอาการของผู้ป่วยและประเมินผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

 

SGPT (Serum glutamate-pyruvate transaminase)

การตรวจการทำงานของตับ SGPT (Serum glutamate-pyruvate transaminase) หรือ ALT (Alanine transaminase) เป็นเอนไซม์ที่สร้างขึ้นเมื่ออวัยวะในร่างกายเกิดความเสียหาย เอนไซม์ชนิดนี้พบได้มากในตับ หากตรวจพบ ALT ในปริมาณมากอาจเป็นสัญญาณการมีปัญหาของตับด้วยเช่นกัน

ค่า SGPT

ค่าปกติคือ 0-45 U/L

ผลของค่า SGPT

หากค่าตับสูงเกินกว่าปกติ แปลว่า ตับเกิดการอักเสบแล้ว

สาเหตุค่าตับสูง

สาเหตุที่ค่าตับสูงและทำให้ตับเสื่อมเร็วคือ การดื่มแอลกอฮอล์ ผู้มีภาวะอ้วนลงพุง หรือดื่มเครื่องดื่มฟรุคโตสสูง จนไขมันเกาะตับ และผู้ที่รับประทานอาหารแปรรูป อาหารเก่า เพราะอาจมีสารปนเปื้น หรือสารก่อมะเร็ง

 

SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase)

การตรวจการทำงานของตับ SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase) หรือ AST (Aspartate transaminase) เป็นเอนไซม์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่ออวัยวะในร่างกายเกิดความเสียหาย หากพบปริมาณมากจะเป็นสัญญาณว่าอวัยวะภายในมีปัญหา โดยเฉพาะตับที่จะสร้างเอนไซม์ AST ออกมามากหากเกิดความเสียหายในเซลล์

ค่า SGOT

ค่าปกติ 5-34 U/L

ผลของค่า SGOT

หากค่าตับสูงเกินกว่าปกติ แปลว่า ตับเกิดการอักเสบแล้ว

สาเหตุค่าตับสูง

สาเหตุที่ค่าตับสูงและทำให้ตับเสื่อมเร็วคือ การดื่มแอลกอฮอล์ ผู้มีภาวะอ้วนลงพุง หรือดื่มเครื่องดื่มฟรุคโตสสูง จนไขมันเกาะตับ และผู้ที่รับประทานอาหารแปรรูป อาหารเก่า เพราะอาจมีสารปนเปื้อน หรือสารก่อมะเร็ง

 

GGT (Gamma GT)

การตรวจการทำงานของตับ GGT (Gamma-glutamyl transpeptidase) เป็นเอนไซม์ที่ผลิตโดยตับ ช่วยในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย ระดับของเอนไซม์นี้มักจะเพิ่มขึ้นในกรณีที่ร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป หรือมีการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้ การวัดค่า GGT ยังมีประโยชน์ในการตรวจสอบค่า ALP (Alkaline Phosphatase) เพื่อระบุว่าเอนไซม์นี้มาจากอวัยวะใดมากเกินไป หากพบว่าค่าเหล่านี้สูง จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของโรคตับและโรคท่อทางเดินน้ำดี

ค่า GGT

  • ค่าปกติของ GGT ผู้ชาย อยู่ระหว่าง 12-64 U/L
  • ค่าปกติของ GGT ผู้หญิง อยู่ระหว่าง 9-36 U/L

ผลของค่า GGT

ค่า GGT ที่สูงเกินค่าปกติ หมายความว่าตับอาจจะถูกทำลายจากการติดแอลกอฮอล์ ในกรณีที่มีสาเหตุจากการดื่มจัด หากไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์แต่มีค่าตับสูง ก็ควรระวังภาวะไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ หรือที่เรียกว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD)

สาเหตุค่า GGT

สาเหตุอาจมาจากการดื่มแอลกอฮอล์จัด และอาจมาจากโรคเบาหวานหรือโรคอ้วนได้ นอกจากนี้ความเครียดก็ทำให้ค่าตับสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะคนที่มีภาวะไขมันสะสมในตับ

 

Alkaline Phosphatase (ALP)

การตรวจการทำงานของตับ Alkaline Phosphatase (ALP) เป็นเอนไซม์ที่ผลิตจากการทำงานของโปรตีนในร่างกาย โดยสามารถพบได้มากในตับและกระดูก ระดับ ALP ในเลือดสามารถใช้แยกความผิดปกติระหว่างตับและกระดูกได้ โดยปกติจะมีการตรวจ ALP ควบคู่กับ ALT และ AST

ค่า ALP

ค่าปกติของ ALP จะอยู่ระหว่าง 40-150 U/L

ผลของค่า ALP

ผู้ที่มีระดับ ALP สูง แสดงว่ามีความผิดปกติที่ตับหรือถุงน้ำดี ซึ่งอาจจะแสดงว่าเป็นโรคตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับ มีนิ่วในถุงน้ำดี หรือมีท่อน้ำดีอุดตัน และอาจจะแสดงว่ามีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระดูก

และสำหรับผู้ที่มีระดับ ALP ต่ำกว่าปกติ มีความน่าเป็นห่วงน้อยกว่าและเป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่สามารถแสดงถึงสภาวะของร่างกายที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน หรือได้รับปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาจเกิดจากโรคเซลิแอคหรือการขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด

สาเหตุค่า ALP

สาเหตุระดับ ALP มีค่าที่ผิดปกตินั้น มักจะหมายถึงการมีความผิดปกติที่ตัวถุงน้ำดีหรือกระดูก และยังอาจแสดงถึงการมีสภาวะของร่างกายที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน หรือได้รับปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย มีมะเร็งที่ไต โรคระบบทางเดินอาหาร ตับอ่อน หรือการติดเชื้อรุนแรงได้

 

ตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Function Test)



การตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH)

การตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการทำงานของต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นตัวควบคุมการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ โดยช่วยตรวจสอบว่าร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์เพียงพอหรือไม่

ค่า TSH

ค่าปกติของ TSH อยู่ในช่วง 0.350 – 4.940 uIU/mL

ผลของค่า TSH

หากค่าระดับ TSH สูงหรือต่ำกว่าปกติควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

สาเหตุค่า TSH

ค่า TSH ที่สูงกว่าปกติอาจบ่งชี้ถึง 2 กรณีหลัก คือ ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ต่อมใต้สมองส่วนหน้าผลิต TSH มากขึ้นเพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ หรือในบางกรณี ต่อมใต้สมองส่วนหน้าอาจทำงานผิดปกติและผลิต TSH มากเกินไป ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในบริเวณนี้

 

Free T4

การตรวจ Free T4 จะวัดเฉพาะฮอร์โมน T4 ที่อยู่ในรูปอิสระ ไม่จับกับโปรตีนในกระแสเลือด ซึ่งมีความแม่นยำกว่าในการบอกถึงปริมาณฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถใช้ได้จริง ทำให้สามารถประเมินการทำงานของต่อมไทรอยด์และความเสี่ยงหรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ดียิ่งขึ้น

ค่า Free T4

ค่าปกติของ Free T4 คือ 0.70 – 1.48 ng/dL

ผลของค่า Free T4

หากค่าระดับ Free T4 สูงหรือต่ำกว่าปกติควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

 

Free T3

การตรวจระดับฮอร์โมน Free T3 คือการตรวจฮอร์โมน T3 ที่อยู่ในรูปอิสระ ไม่จับกับโปรตีน ทำให้ได้ค่าที่แม่นยำกว่า เนื่องจากสามารถบอกถึงฮอร์โมนที่ร่างกายใช้ได้จริง จึงเหมาะสำหรับการประเมินว่าต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือผิดปกติ

ค่า Free T3

ค่าปกติของ Free T3 คือ 1.58 – 3.91 pg/mL

ผลของค่า Free T3

หากค่าระดับ Free T3 สูงหรือต่ำกว่าปกติควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

 

ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Markers)



ทำไมต้องตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง?

การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งเป็นการตรวจเลือดเพื่อค้นหาสารที่ผลิตจากเซลล์มะเร็ง การตรวจนี้จะช่วยหาค่าความผิดปกติในร่างกาย และควรทำควบคู่กับการตรวจคัดกรองมะเร็งในรูปแบบอื่นของมะเร็งชนิดนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น

 

ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)

การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือ Prostate Specific Antigen (PSA) เป็นโปรตีนที่ถูกผลิตขึ้นโดยเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจะผลิตสาร PSA มากกว่าคนปกติ

ค่า PSA

ระดับปกติจะอยู่ไม่เกิน 4 ng/mL

ผลของค่า PSA

หากค่า PSA มากกว่า 10 ng/ml จะยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

สาเหตุค่า PSA สูง

สามารถตรวจพบค่า PSA สูงกว่าปกติได้ทั้งในมะเร็งต่อมลูกหมาก ภาวะต่อมลูกหมากโตที่ไม่ใช่มะเร็ง และภาวะอื่นได้ เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ ภาวะปัสสาวะคั่ง การสวนปัสสาวะ การส่องกล้องท่อปัสสาวะ การทำหัตถการขยายท่อปัสสาวะ หรือการเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก

 

ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ (CEA)

การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ Carcinoembryonic Antigen (CEA) เป็นแอนติเจนที่ถูกสร้างตามปกติจากเซลล์ลำไส้และตับภายในร่างกาย ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จะพบค่า CEA ที่สูงมากกว่าปกติ

ค่า CEA

  • ค่าปกติสำหรับ Non smoker 0.0-5.0 ng/mL
  • ค่าปกติสำหรับ Smoker 0.0-10.0 ng/mL

ผลของค่า CEA

ค่า CEA มากกว่า 5 ng/mL จะบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้หากค่า CEA สูง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งชนิด Adenocarcinoma เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือโรคอื่นที่มาจากการอักเสบของอวัยวะภายใน เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ตับแข็ง โรคไตเสื่อม ลำไส้อักเสบ

สาเหตุค่า CEA สูง

ในคนปกติสามารถพบค่า CEA สูงเล็กน้อยได้ในผู้ที่สูบบุหรี่ หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน รวมถึงผู้ที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ปอด หรือ ตับ แต่ค่า CEA มักจะไม่สูงมากนักในกลุ่มเหล่านี้

ค่า CEA มักสูงผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็ง เช่น มะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะในมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งพบค่า CEA สูงบ่อยและมากกว่ามะเร็งชนิดอื่น

 

ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP)

ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ หรือ Alpha Fetoprotien (AFP) ใช้สำหรับตรวจหามะเร็งในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยตับแข็ง, ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี

ค่า AFP

ค่าปกติของผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์คือ 0.89 – 8.78 ng/mL โดยทั่วไปในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ค่า AFP ในเลือดจะไม่เกิน 10 ng/mL แต่หากตรวจพบค่า AFP ที่สูงมากหรือเกินกว่า 500 ng/mL อาจจะต้องตรวจส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาความผิดปกติภายในร่างกาย

ผลของค่า AFP

หากมีค่า AFP สูง อาจบ่งบอกได้เบื้องต้นว่ามีเซลล์มะเร็งตับ และควรตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เพิ่มเติม

สาเหตุของมะเร็งตับ

สาเหตุของมะเร็งตับ ได้แก่ ภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี การดื่มแอลกอฮอล์ ไขมันเกาะตับ โรคเบาหวาน โรคอ้วน รับประทานอาหารปนเปื้อน โดยเฉพาะอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ที่พบมากในถั่วลิสง พริกป่นแห้ง

 

ตรวจปัสสาวะอย่างสมบูรณ์ Urinalysis (Urine Exam)



ทำไมต้องตรวจปัสสาวะ?

การตรวจปัสสาวะ UA หรือ Urine analysis คือการตรวจฉี่ที่ถูกไตคัดกรองในรูปแบบของเสียและมีสถานะเป็นของเหลว โดยการนำมาตรวจสอบส่วนประกอบของน้ำปัสสาวะเบื้องต้น โดนปัจจัยการตรวจปัสสาวะจะสังเกตุตั้งแต่ลักษณะทางกายภาพของสี กลิ่น ความใสของน้ำและสารเคมีในของเหลว รวมถึงสารเจือปนน้ำปัสสาวะที่มีความผิดปกติที่ถูกผ่านคัดกรองมาในรูปแบบเชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัส

รายการตรวจปัสสาวะ

  1. การตรวจลักษณะทางกายภาพ (Visual examination)
  2. ได้แก่ สี กลิ่น และความใสของปัสสาวะ

  3. การตรวจวิเคราะห์ทางเคมี (Chemical Examination)
    • ค่าความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity หรือ Sp.Gr หรือ SG) เป็นการหาความเข้มข้นของปัสสาวะ และสัมพันธ์กับการขาดน้ำ
    • ความเป็นกรด-ด่าง (pH) คือ ความสมดุลของปัสสาวะ ที่ขึ้นอยู่กับสภาพการทำงานภายในร่างกายและพฤติกรรมการบริโภคสารอาหาร
    • โปรตีน (Protein) คือ การตรวจโปรตีนในปัสสาวะที่รั่วไหลจากการคัดกรองของไตมากน้อยแค่ไหน
    • กลูโคส (Glucose) คือ การตรวจกลูโคสในปัสสาวะที่รั่วไหลจากน้ำตาลในกระแสเลือดที่มากเกินไป
    • คีโตน (Ketone) การตรวจปริมาตรค่าคีโตนในปัสสาวะที่เกิดจากน้ำตาล ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานต่อร่างกายได้ ทำให้ไขมันเปลี่ยนเป็นคีโตนในการให้พลังแทนน้ำตาล
    • ไนไตรท์ (Nitrite) คือ การตรวจสารติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ
    • บิลิรูบิน (Bilirubin) คือ น้ำดีในปัสสาวะที่ให้สารสีเหลืองในน้ำของเสีย ความเข้มของสีจะเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นอยู่ส่วนของตับมีการอุดตันท่อน้ำดีหรือไม่
    • ยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen) คือ ภาวะโรคที่เกิดจากเซลล์ตับอักเสบ หรือมีการ อุดตันของทางเดินน้ำดี ในน้ำปัสสาวะ
    • เม็ดเลือดขาว (Leukocyte) การพบเม็ดเลือดขาวในน้ำปัสสาวะแสดงถึงการอักเสบในทางเดินปัสสาวะ
    • เม็ดเลือดแดง (Erythrocyte) การตรวจเจอเลือดในปัสสาวะแสดงถึงภาวะบาดเจ็บทางเดินปัสสาวะ หรือการบาดเจ็บของระบบอวัยวะภายในร่างกาย
  4. การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination)
    • เซลล์เม็ดเลือกขาว (WBC)
    • เซลล์เม็ดเลอดแดง (RBC)
    • แบคทีเรีย (Bacteria) ยีสต์ (Yeasts) ปรสิต (Parasites)
    • คาสท์ (Casts)
    • ผลึก (Crystal)

ค่าของการตรวจปัสสาวะ

ค่าความถ่วงจำเพาะ หรือค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของสารต่าง ๆ ในปัสสาวะ และสามารถบอกได้ว่ามีการดื่มน้ำที่เพียงพอหรือไม่ โดยในร่างกายปกติจะมีค่าถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 1.003 – 1.030

ผลตรวจสุขภาพปัสสาวะ

หากผลการตรวจค่าความถ่วงจำเพาะ มีค่ามากเกินไป แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือหากตรวจเวลาไหนของวันยังได้ไม่เกิน 1.005 นั่นอาจแสดงว่ากลไกการควบคุมความเข้มข้นของปัสสาวะของไตเสื่อมสมรรถภาพ

 

ตรวจอุจจาระ Stool Exam (Stool Exam and Occult Blood)



ทำไมต้องตรวจอุจจาระ?

การตรวจอุจจาระเป็นการตรวจวิเคราะห์เพื่อประเมินภาวะสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร รวมถึงการตรวจหาสิ่งผิดปกติในอุจจาระ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต หรือไวรัส นอกจากนี้ ยังช่วยตรวจหาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารที่อาจเกิดจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ การตรวจอุจจาระยังใช้เพื่อประเมินการดูดซึมสารอาหารในร่างกายว่ามีประสิทธิภาพดีหรือไม่

 

ตรวจมะเร็งปากมดลูก (Liquid Based Cytology)



ทำไมต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก?

การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Liquid Based Cytology (LBC) เป็นวิธีที่ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ในปากมดลูก การตรวจด้วย LBC เซลล์ที่ถูกเก็บจะถูกล้างและเตรียมไว้ในสารละลายก่อนตรวจ ทำให้สามารถตรวจพบเซลล์ผิดปกติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การตรวจ LBC ยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อหรือปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอม ทำให้ได้ผลการตรวจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ตรวจทางรังสี (X-ray Investigation group)



ทำไมต้องตรวจทางรังสี?

การตรวจทางรังสี หรือที่เรียกว่า X-ray Investigation group เป็นกลุ่มการตรวจวินิจฉัยด้วยการใช้รังสีเอกซ์ เพื่อดูรายละเอียดของโครงสร้างภายในร่างกาย เช่น กระดูก อวัยวะต่าง ๆ รวมถึงการตรวจหาความผิดปกติ เช่น การแตกหักของกระดูก การติดเชื้อ หรือการเจริญเติบโตของเนื้องอก

 

เอกซเรย์ปอดและหัวใจ (Chest X-Ray)

Chest X-ray (CXR) คือ การตรวจบริเวณทรวงอกด้วยการฉายรังสีเอกซ์เพื่อคัดกรองและหารอยโรคของอวัยวะต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับปอด สามารถตรวจพบจุดหรือก้อนที่เนื้อปอด เห็นความผิดปกติของเยื่อหุ้มปอดและเส้นเลือดในปอด รวมถึงอวัยวะใกล้เคียงที่อยู่ในบริเวณทรวงอก

 

อัลตราซาวนด์อวัยวะช่องท้องทั้งหมด (Ultrasound Whole Abdomen)

การตรวจวินิจฉัยโรคโดยใช้คลื่นเสียงกำลังสูงสะท้อนให้เกิดภาพ สามารถตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เห็นถึงความผิดปกติบางชนิด ช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและปลอดภัย ตรวจเพื่อหาความผิดปกติเบื้องต้น เช่น นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ก้อนในตับ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรักษาหรือติดตามการรักษาในอนาคต

 

ตรวจภาวะกระดูกพรุน Bone Densitometry (Lumbar Hip)

การตรวจภาวะกระดูกพรุนด้วยวิธี Bone Densitometry (Lumbar Hip) เป็นการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง (Lumbar) และสะโพก (Hip) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดกระดูกหัก

ค่ามาตรฐาน T-Score

การประเมินสภาวะโรคกระดูกพรุนสามารถวัดได้จากค่า T-Score

  • T-Score มากกว่า -1 ขึ้นไป = กระดูกหนาแน่นปกติ (Normal bone)
  • T-Score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 = โรคมวลกระดูกน้อยหรือกระดูกบาง (Osteopenia)
  • T-Score ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

 

เอกซเรย์มะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิทัลและอัลตราซาวนด์ (Digital Mammogram with Ultrasound Breast Both Sides)

การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิทัลและอัลตราซาวนด์ (Digital Mammogram with Ultrasound Breast Both Sides) เป็นการตรวจที่สำคัญสำหรับการตรวจหาความผิดปกติของเต้านม โดยจะช่วยให้สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นได้ แม้จะยังไม่มีอาการ และยังช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้รังสีอีกด้วย

 

ตรวจหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Investigation group)



ทำไมต้องตรวจหัวใจและหลอดเลือด?

การตรวจหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Investigation group) มีความสำคัญเนื่องจากสามารถช่วยในการประเมินสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการตรวจหาความเสี่ยงหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

 

ตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (EST)

การเดินสายพาน (Treadmill) เป็นการทดสอบสมรรถภาพหัวใจและหลอดเลือดที่เริ่มจากการติดแผ่น Electrode บริเวณหน้าอก แขน และขา ทั้งหมด 10 จุด เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอัตราการเต้นของชีพจร พร้อมทั้งติดเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ที่ต้นแขน โดยจะมีนักเทคโนโลยีหัวใจ (Cardiology Technician) คอยดูแลการตรวจภายใต้การควบคุมของอายุรแพทย์โรคหัวใจระหว่างทำการทดสอบ

 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography หรือ EKG) เป็นการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่หัวใจสร้างขึ้นในแต่ละจังหวะการเต้นหรือการบีบและคลายตัวของหัวใจ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจบ่งชี้ถึงปัญหาทางหัวใจ การตรวจ EKG สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะความดันโลหิตสูง หรือหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก นอกจากนี้ยังใช้ในการประเมินสภาพหัวใจของผู้ป่วยที่ได้รับยาที่อาจมีผลกระทบต่อหัวใจ

 

ตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือด (ABI)

การตรวจวัดการแข็งตัวของหลอดเลือด ABI (Ankle-Brachial Index) เป็นการประเมินสภาวะการอุดตันของหลอดเลือดแดงและความยืดหยุ่นของหลอดเลือด การตรวจนี้สามารถใช้วินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันที่ขาในระยะแรกๆ นอกจากนี้ยังเป็นการตรวจเบื้องต้นที่สามารถนำไปสู่การค้นหาโรคสำคัญอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบ ช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจในอนาคต และใช้ในการประเมินระดับความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือด

 

ตรวจหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง (Carotid Doppler)

Carotid Doppler เป็นวิธีการตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมอง การตรวจนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ การตรวจ Carotid Doppler ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตันที่สมองได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และประเมินความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้อง

 

ตรวจระดับวิตามินดี (Vitamin D)



ทำไมต้องตรวจระดับวิตามินดี?

การตรวจระดับวิตามินดี (Vitamin D) มีความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพหลายด้าน เนื่องจากวิตามินดีมีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุน ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคเรื้อรัง เป็นต้น

ค่ามาตรฐานวิตามินดี

  • ระดับวิตามินดี 25(OH)D น้อยกว่า 20 ng/mL: ถือว่ามีภาวะขาดวิตามินดี
  • ระดับวิตามินดี 25(OH)D ในช่วง 20-30 ng/mL: ถือว่ามีภาวะพร่องวิตามินดี
  • ระดับวิตามินดี 25(OH)D มากกว่า 30 ng/mL: ถือว่ามีระดับวิตามินดีเพียงพอ

สาเหตุที่ร่างกายขาดวิตามินดี

สาเหตุที่ร่างกายขาดวิตามินดีมีหลายปัจจัย เช่น การรับแสงแดดไม่เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีน้อย ปัญหาดูดซึมของลำไส้ อายุที่เพิ่มขึ้น โรคตับและโรคไต ภาวะอ้วน เป็นต้น

 

ตรวจระดับวิตามินบี 12 (Vitamin B12)



ทำไมต้องตรวจระดับวิตามินบี 12?

การตรวจระดับวิตามินบี 12 (Vitamin B12) มีความสำคัญเนื่องจากวิตามินบี 12 เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและการสร้างเม็ดเลือดแดง เหตุผลที่ต้องตรวจระดับวิตามินบี 12 ได้แก่ ป้องกันภาวะโลหิตจาง ป้องกันภาวะสมองเสื่อมและปัญหาทางความจำ ประเมินความเสี่ยงของกลุ่มผู้ที่มีการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ การติดตามในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 เป็นต้น

ค่ามาตรฐานของวิตามินบี 12

  • เด็กอายุ 1-3 ปี: 0.9 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4-8 ปี: 1.2 ไมโครกรัม/วัน
  • วัยรุ่นอายุ 9-12 ปี: 1.8 ไมโครกรัม/วัน
  • วัยรุ่นอายุ 13-18 ปี: 2.4 ไมโครกรัม/วัน
  • ผู้ใหญ่ (อายุ 19-71 ปี): 2.4 ไมโครกรัม/วัน

สาเหตุที่ร่างกายขาดวิตามินบี 12

สาเหตุที่ร่างกายขาดวิตามินบี 12 อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การรับประทานอาหารที่มีวิตามินบีไม่เพียงพอ ปัญหาดูดซึมในระบบย่อยอาหาร อายุมากขึ้น การใช้ยาบางชนิด การดื่มแอลกอฮอล์ และภาวะ Pernicious Anemia เป็นโรคที่ร่างกายไม่สามารถสร้างสารที่เรียกว่า intrinsic factor ในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งสารนี้จำเป็นสำหรับการดูดซึมวิตามินบี 12 เป็นต้น