ปัจจุบันความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคที่ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมทั้งหลอดเลือดที่สมองและไตด้วย จุดมุ่งหมายของการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงเพื่อลดอัตราทุพพลภาพและอัตราตาย ซึ่งเกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด การดูแลเฉพาะแต่ความดันโลหิตสูงเพียงเท่านั้นจะทำให้ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นแพทย์จึงต้องตรวจค้นหาภาวะอื่นๆ ที่อาจพบในตัวผู้ป่วยด้วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน ผนังหัวใจห้องซ้ายล่างหนา โรคเก๊าท์ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะต้องดำเนินการควบคุมและรักษาคู่ไปกับการรักษาความดันโลหิตจึงจะได้ผลดี และมีประสิทธิภาพเต็มที่
โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ผู้คนจำนวนมากมีภาวะความดันดันโลหิตสูงโดยที่ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยปรากฏอาการที่ชัดเจนในช่วงแรก แต่เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูงจะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกาย จึงเรียกโรคนี้กันว่า “เพชฌฆาตเงียบ”
ทางแผนกอายุรกรรม ศูนย์การแพทย์กรุงเทพ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดระบบบันทึกข้อมูลการดูแลรักษาโรคความดันโลหิตสูง เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนการรักษาให้ตรงตามมาตราฐานสากล
การป้องกันดูแล…….ความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงพบมากเกินกว่าที่เราคิด คือ พบมากกว่าครึ่งของประชากรชาย 60 – 69 ปี และพบถึง 3 ใน 4 ของผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป พบว่าการลดค่าความดันโลหิตตัวบนลง 5 มม.ปรอท จะลดอัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมอง 14% ลดอัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจลง 9% มีหลายปัจจัยที่ทำให้พบความดันโลหิตสูงมากขึ้น และเราอาจช่วยป้องกันได้ คือ น้ำหนักเกิน, โซเดียมจากอาหาร ( เช่น อาหารเค็ม ) มากเกิน, นั่งๆ นอนๆ มากเกินไป, รับประทานผักและผลไม้ ( แหล่งของเกลือโปแตสเซียม ) น้อยเกินไป, และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
ที่สำคัญ คือ ต้องวัดความดันโลหิตถึงจะทราบว่าสูงไหม จะใช้อาการปวดมึน มึนหัวเป็นตัวบอกไม่ได้
ที่คลินิกโรคความดันโลหิตสูง : นอกจากการวัดความดันโลหิตแล้ว
- จะมีการดูปัจจัยเสี่ยงอื่น หรือโรคอื่น
- อาจพบสาเหตุของความดันโลหิตสูง
- มีการประเมินปัญหาที่เกิดต่ออวัยวะต่างๆ จากความดันโลหิตสูง
“จะเห็นได้ว่า ….. การรักษาความดันโลหิตมีความสำคัญอย่างยิ่ง และต้องทำต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดตามมา จึงควรใส่ใจในการควบคุมความดันโลหิตของตัวคุณตั้งแต่ .. วันนี้ “
นอกเหนือจากการวัดความดันโลหิตสูงและการให้ยาแล้ว โรคความดันโลหิตสูงมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องมาพิจารณาร่วมและดูแลไปพร้อมๆกัน รวมทั้งผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงยังต้องทำความเข้าใจ และใส่ใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างด้วย เพื่อป้องช่วยกันป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูง เช่นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคไต
คลินิกความดันโลหิตสูงมีชุดตรวจสุขภาพสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ หรือผู้ป่วยเดิมที่ต้องการตรวจแบบละเอียดเพิ่มเติม โดยตรวจประมาณปีละ 1 ครั้ง ซึ่งชุดตรวจนี้ ทำให้การดูแลโรคความดันโลหิตสูงได้รอบคอบขึ้น