เมื่อแรกเกิด ลูกก็พร้อมที่จะเรียนรู้กับทุกสิ่งใหม่ ๆ รอบตัว การเลี้ยงดูลูกให้เติบโตสมบูรณ์ และมีพัฒนาการที่ดีรอบด้านตั้งแต่ก้าวแรกที่เกิดมา เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องพร้อมที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยของคุณ
คลินิกพัฒนาการเด็ก ศูนย์กุมารเวชกรุงเทพ ตอบทุกคำถามเรื่องพัฒนาการเด็ก โดยกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม จะประเมินพัฒนาการของลูก และให้คำปรึกษาแก่คุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการและการเลี้ยงดู หากเด็กคนใดมีพัฒนาการและพฤติกรรมไม่สมวัย มีปัญหาด้านการเรียน หรือมีปัญหาด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม รวมถึงเด็กที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น เป็นโรคลมชัก คลอดก่อนกำหนด ดาวน์ซินโดรม ออทิสติก
ทางคลินิกพัฒนาการเด็กมีทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมกันให้การดูแลรักษา เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถเรียนรู้และอยู่ร่วมใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขให้การดูแลเด็กๆ ทุกคน ทั้งที่เป็นเด็กปกติและเด็กที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการและพฤติกรรมดังนี้
1. เด็กปกติซึ่งมีพัฒนาการสมวัยอยู่แล้ว แพทย์เฉพาะทางของคลินิกพัฒนาการเด็กจะสามารถวัดความถนัดของเด็กและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูที่เหมาะกับพื้นอารมณ์และความถนัดตามแต่ละช่วงวัยของเด็กแต่ละคน ซึ่งมีความแตกต่างกัน จะช่วยให้เด็กๆ เก่งอย่างมีความสุข และสามารถเติบโตเผชิญกับโลกกว้างด้วยตนเองได้ในอนาคต
2. เด็กซึ่งผู้ปกครองสงสัยว่ามีความผิดปกติด้านพัฒนาการหรือพฤติกรรม ในปัจจุบันคลินิกพัฒนาการเด็ก มีแพทย์เฉพาะทางของคลินิกพัฒนาการเด็ก ได้แก่
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น (Child and adolescent psychiatrist)
- กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาพัฒนาการและพฤติกรรม (Developmental and Behavioral pediatrician)
- นอกจากนี้ยังมีบุคลากรสหวิชาชีพร่วมปฏิบัติงานด้วยได้แก่
- นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาพัฒนาการ (Psychologist) ซึ่งทำฝึกการเล่นเพื่อการบำบัดบำบัด (Play therapy)
- นักกิจกรรมบำบัด (Occupational therapist)
- นักแก้ไขการพูด (Speech-language pathologist , Speech therapist)
- ครูการศึกษาพิเศษ (Special educator)
กิจกรรมพัฒนาการเด็กด้านภาษาและสังคม (Autistic spectrum disorder)
กิจกรรมบำบัด Occupational Therapy
เป็นวิชาชีพทางการแพทย์แขนงหนึ่ง ที่ประยุกต์กิจกรรมมาใช้ในการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตในสังคมได้ ช่วยเสริมสร้างสมาธิ ทักษะการคิด พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ โดยอาศัยองค์ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ ทฤษฏีพื้นฐานทางจิตวิทยาและองค์ความรู้ทางวิชาชีพกิจกรรมบำบัด
แนวทางการรักษาทางกิจกรรมบำบัด สำหรับเด็กพิเศษ
กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางพัฒนาการ (PDD NOS-Pervasive Developmental Disorder) นักกิจกรรมใช้กรอบอ้างอิงการบูรณาการประสาทความรู้ (Sensory Integration Frame of Reference) เป็นแนวทางหลักในการบำบัดรักษา นอกจากนี้ยังมีการนำกรอบอ้างอิงทางการรักษาอื่นมาป็นแนวทางในการรักษาเพิ่มตามปัญหาที่บุคคลนั้นๆ ต้องได้รับการรักษา
ประเมินความผิดปกติทางภาษาและการพูด
ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการประเมินความผิดปกติทางภาษา และการพูดการตรวจคัดกรองหาข้อบ่งชี้ ประเมินสภาพความผิดปกติ ทดสอบความสามารถทางภาษาและการพูด แยกประเภทความผิดปกติชนิดต่างๆ บำบัดรักษาแก้ไขและฟื้นฟูสมรรถภาพได้ครอบคลุมทุกประเภทของความผิดปกติ รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ แก่ผู้ปกครอง ญาติผู้ดูแล ให้มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความผิดปกติและเรียนรู้วิธีการรักษาที่ถูกต้อง
การฝึกพูดในเด็ก เด็กที่ปัญหาพัฒนาการทางภาษาล่าช้าพูดไม่ชัด พูดไม่คล่อง เด็กกลุ่มนี้จะได้รับการประเมินในด้านความเข้าใจภาษา การแสดงออกทางภาษา อวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง เช่น ริมฝีปาก ลิ้น จากนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย และได้รับการกระตุ้นโดยผ่าน กิจกรรมและสื่อเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษา
Play Therapy
การเล่น มีความหมายหลากหลาย หากจะให้นิยามความหมายของการเล่นคงต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลที่หลายท่านได้นิยามไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของนักนิยามแต่ละท่าน หากแต่นิยามความหมายของการเล่นนั้นส่วนใหญ่ คือ การพัฒนา ซึ่งเป็นด่านแรกที่ช่วยในพัฒนาการทุกๆด้านของเด็ก การเล่นถือเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะได้การเรียนรู้สูงสุด ณ ช่วงเวลานั้น นาทีนั้น และสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ อย่างมีคุณค่า การเล่นเป็นภาวะที่ดีที่สุดในตัวบุคคลนั้นที่จะหลั่งไหลออกมาตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามหรือการบังคับ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเด็กปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่น การเล่นเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของเด็กทุกคนในโลก ในขณะเล่นเด็กจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ และมีการพัฒนาในทุกด้าน
การเล่นนั้นเด็กจะได้ใช้ร่างกายส่วนต่างๆ ของตนเอง ได้เรียนรู้การทำงานของอวัยวะในร่างกายของตน เช่น ใช้มือในการหยิบ จับ เขย่า เมื่อโตขึ้นเรียนรู้ที่จะใช้อวัยวะอื่นเพิ่มขึ้นตามลำดับการพัฒนาการของแต่ละคนที่จะสามารถทำได้ เมื่อเด็กได้เรียนรู้ ถึงความสามารถส่วนต่างๆแล้ว การเชื่อมโยงการเรียนรู้จากการเล่นก็เกิดขึ้นในเวลาต่อมา จากการเล่นคนเดียว นำไปสู่การเล่นเป็นกลุ่ม
มนุษย์ เป็นสัตว์สังคม การเล่นของเด็ก เป็นตัวเชื่อมให้เด็กเรียนรู้ กฎ กติกา ความยืดหยุ่น การปรับตัวไปกับสถานการณ์ การแบ่งปันซึ่งกันและกัน และอีกหัวใจสำคัญ คือ มนุษย์จำเป็นต้องสื่อสารเพื่อความเข้าใจ การเล่นช่วยพัฒนาในเรื่อง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด นอกจากการเล่นจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการสื่อสารแล้ว ความอยากรู้อยากเห็น การทดลอง สำรวจ สืบค้น ยังช่วยให้เด็กรู้จักสังเกต และจดจ่อกับสิ่งที่สนใจ เสริมสร้างสมาธิ ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาได้อีกด้วย
การเล่น นอกจากช่วยพัฒนาความสามารถในทุกด้านแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเล่น ทำให้เด็กได้ผ่อนคลาย สนุกสนาน เพลิดเพลิน การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดีเมื่อเด็กเปิดใจ พร้อมเรียนรู้ ธรรมชาติของเด็กการเล่นคือการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นการเล่น คือ การเรียนรู้ที่สามารถดึงดูดเด็กๆ ให้เปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้นั่นเอง พูดได้เลยว่า การเล่น ไม่ใช่เรื่อง เล่น เล่น อีกต่อไป หากเรามองเห็นความสำคัญ
Floor time
คือการกระตุ้นพัฒนาการ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องในการสร้างปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารกับผู้อื่น โดยการประเมิน Functional Emotional Development ซึ่งเป็นการประเมินพัฒนาการเด็กแบบองค์รวม ผ่านกิจกรรมต่างๆในบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นสุขสนุก และปลอดภัย
Therapist มีจุดมุ่งหมายชัดเจนเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ กิจกรรมที่เลือกเป็นกิจกรรมที่เด็กสนใจและตรงกับระดับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน เด็กเป็นผู้นำและคิดกิจกรรม Therapist คอยหาจังหวะหรือสร้างสถานการณ์ให้เด็กคิดแก้ปัญหา สื่อสารโต้ตอบต่อเติมความคิดและอารมณ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกสนุก สนใจ เกิดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง และเกิดพัฒนาการการเรียนรู้ควบคู่กันไป
การศึกษาพิเศษ
การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ เด็กออทิสติก เด็กที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์และสังคม เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม เด็กปัญญาเลิศ เด็กพิการซ้ำซ้อน ซึ่งเด็กกลุ่มพิเศษเหล่านี้ จะไม่สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการศึกษาจัดการศึกษาแบบเดียวกันกับเด็กปกติ ดังนั้น การศึกษาพิเศษจึงมีความจำเป็นต่อการจัดการศึกษาแก่เด็กกลุ่มพิเศษดังกล่าว ซึ่งการจัดการศึกษาพิเศษได้รวมถึงด้านกระบวนการ สอน วิธีการสอน เนื้อหาวิชา (หลักสูตร) เครื่องมือและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนที่สนองตอบต่อความสามารถ และความต้องการของเด็กพิเศษเป็นรายบุคคล การศึกษาพิเศษ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพสูงสุด
แนวทางการช่วยเหลือโดยครูการศึกษาพิเศษ
- ให้การส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมแก่เด็กตามพัฒนาการที่พึงประสงค์ในแต่ละช่วงวัย
- ประเมินความสามารถพื้นฐานของเด็ก เพื่อให้ทราบถึงระดับความสามารถ และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน
- ฝึกฝนและเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และถูกต้องเหมาะสม
- วางแผน และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องสำหรับนักเรียนเป็นรายบุคคล
- ช่วยเหลือและแก้ปัญหาทางด้านการเรียนพื้นฐาน 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านทักษะการอ่าน (Dyslexia) ด้านทักษะการเขียน (Dysgraphia) ด้านทักษะคณิตศาสตร์ (Dyscalculia)
- ใช้เทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอน สื่อการสอน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพโดยให้สอดคล้องกับความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้เนื้อหาได้อย่างเต็มที่
- จัดทำใบความรู้ ใบงาน และสื่อการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของเด็กแต่ละคน
- ทำการประเมินผลการเรียนไปพร้อม ๆ กับการปรับบทเรียน เนื้อหาในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน นอกจากนี้ สนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนรู้ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง รวมถึงการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความรู้ และแสดงความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ
- ให้คำแนะนำและทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครองกับเด็ก ว่าควรให้การส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กในด้านใดบ้าง เช่น ทักษะด้านการคิด ทักษะด้านวิชาการ ทักษะด้านการสื่อความหมาย และการใช้ภาษา