หลายคนรู้จักโรคไทรอยด์แต่อาจไม่ได้ใส่ใจมากนักเพราะมองว่าไกลตัว ทั้งที่ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไทรอยด์จำนวนมากในประเทศไทย ที่น่าสนใจคือหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคไทรอยด์ ซึ่งหากรู้ตัวเร็ว รักษาเร็ว ย่อมช่วยให้รับมือได้ทันท่วงทีและดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างถูกต้องในระยะยาว เนื่องในวันไทรอยด์โลกที่ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคมของทุกปี การตระหนักถึงโรคนี้และรู้เท่าทันคือสิ่งที่เราไม่อยากให้คุณละเลย
4 เรื่องไทรอยด์ดังต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรรู้
1. อุบัติการณ์โรคไทรอยด์ในปัจจุบัน
ในพื้นที่ที่มีการขาดไอโอดีนมักพบว่ามีคนไข้เกิดต่อมไทรอยด์โตมากกว่าปกติหรือที่เรารู้จักกันว่า โรคคอหอยพอก ส่วนในพื้นที่ที่มีการบริโภคไอโอดีนเพียงพอจะพบอาการโรคไทรอยด์ในกลุ่ม Autoimmune Disease ซึ่งเป็นสาเหตุของทั้งไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ทำงานต่ำ โดยมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4 : 1
2. ภาวะนอนไม่หลับ กินไม่อิ่ม แสดงว่าเป็นโรคไทรอยด์
อาการของโรคไทรอยด์จะแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของโรคที่เป็น เช่น ถ้ามีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปจะมีอาการท้องผูก ขี้หนาว เหนื่อยง่าย เพลีย น้ำหนักเพิ่ม ถ้าไทรอยด์ทำงานมากเกินไปจะมีอาการใจสั่น มือสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด หิวบ่อย เป็นต้น
3. จริงหรือโรคไทรอยด์ป้องกันได้
ในพื้นที่ที่มีการเกิดโรคคอหอยพอกควรมีการเพิ่มการบริโภคไอโอดีน เช่น การใช้เกลือไอโอดีนในการปรุงอาหารจะเป็นการป้องกันการเกิดคอพอกได้ หรือการรับประทานอาหารทะเลให้พอเพียง ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไปยังไม่มีวิธีป้องกันโรค เพราะฉะนั้นถ้าคนไข้มีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคไทรอยด์ควรมาเจาะเลือดและพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยไทรอยด์
4. อย่าละเลยตรวจเช็กไทรอยด์
ในคนที่มีอาการแสดงดังต่อไปนี้ควรเข้ารับการตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมน
- คอโตขึ้น คลำเจอก้อนบริเวณคอด้านหน้า
- มีอาการไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป เช่น เหนื่อยง่าย เพลียง่าย ขี้หนาว ท้องผูก น้ำหนักขึ้นง่าย
- มีอาการไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เช่น มือสั่น ใจสั่น น้ำหนักลดลง โดยที่ยังทานอาหารเป็นปกติหรือมากกว่าปกติ วิตกกังวล หงุดหงิดมากกว่าปกติ ตาโปนโตกว่าปกติ คอโตขึ้น ลำไส้เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ขับถ่ายบ่อยขึ้น เหงื่อออกมาก
เนื่องในวันไทรอยด์โลก นายแพทย์ณัฐนนท์ มณีเสถียร อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ ฝากถึงทุกคนว่า
“วันไทรอยด์โลกทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไทรอยด์ที่มีผลกระทบต่อร่างกายหลายอย่างโดยที่บางคนมองข้ามไป เช่น ภาวะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือขี้เกียจ บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจริง ๆ คนนั้นอาจมีภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ เพราะภาวะไทรอยด์สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยแม้ในเด็กแรกเกิดก็อาจมีภาวะไทรอยด์ผิดปกติได้”