การที่คนเรามีสายตาผิดปกติ (Refractive Error) สามารถแก้ไขได้หลายวิธีเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน
1) แว่นสายตา (Spectacles)
มีการใช้อย่างแพร่หลายมายาวนาน โดยแว่นสามารถลดการรวมแสงสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นและเพิ่มการรวมแสงสำหรับผู้ที่มีสายตายาว เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ความไม่สะดวกในการเล่นกีฬา การประกอบอาชีพบางอย่าง หรือปัญหาด้านบุคลิกภาพ
2) คอนแทคเลนส์ (Contact Lenses)
อีกทางเลือกที่นิยมกัน แต่การใช้คอนแทคเลนส์จะต้องมีความระมัดระวังในการรักษาความสะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ การใช้คอนแทคเลนส์จึงควรได้รับการดูแลโดยจักษุแพทย์ นอกจากนี้คนจำนวนมากอาจไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากการแพ้เลนส์หรือน้ำยาล้างเลนส์ กิจกรรมบางอย่างก็ไม่เอื้ออำนวยกับการใส่คอนแทคเลนส์ เช่น อยู่ในที่มีฝุ่นควันมาก การว่ายน้ำ เป็นต้น
3) ผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive Surgery)
ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ที่ไม่สามารถ (หรือไม่ต้องการ) ใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ จากเหตุผลต่าง ๆ และได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี ตั้งแต่วิธีกรีดกระจกตา (RK หรือ Radial Keratotomy) มาจนถึงการใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) ขัดผิวกระจกตาโดยตรงที่เรียกว่า Photorefractive Keratectomy (PRK) ปัจจุบันวิธีที่ทันสมัย คือ LASIK รวมทั้งเทคโนโลยี ใหม่ล่าสุดด้วยเลเซอร์ทุกขั้นตอน คือ FemtoLASIK และ ReLEx ส่วนในกลุ่มที่มีค่าสายตามาก ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีข้างต้น สามารถผ่าตัดใส่เลนส์เสริม เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษา ซึ่งศูนย์เลสิก โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้บริการทุกรูปแบบ