รู้จักสายตาขี้เกียจ
โรคสายตาขี้เกียจ (Amblyopia) ทำให้การมองเห็นภาพลดลง เป็นผลจากความผิดปกติของพัฒนาการของการมองเห็นในทารกหรือช่วงวัยเด็ก สายตาขี้เกียจเกิดจากการขนส่งกระแสรับภาพระหว่างตาและสมองทำงานไม่เต็มที่ ทำให้สมองรับภาพจากตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง หรือสมองเพิกเฉยต่อการรับภาพของตาข้างที่ด้อยกว่า ทำให้การมองเห็นของตาข้างนั้นลดลง สายตาขี้เกียจมักเกิดในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 – 7 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา จะทำให้ตามัว การมองเห็นลดลงอย่างถาวร
อาการสายตาขี้เกียจ
-
ตาเข
-
ตาสองข้างไม่ทำงานประสานกัน
-
มีสายตาสั้น ยาว เอียงที่มากเกินไป หรือไม่เท่ากันระหว่างตา 2 ข้าง
-
มองภาพไม่ชัด โดยเฉพาะภาพทีมีความละเอียดสูง
ต้นเหตุสายตาขี้เกียจ
สาเหตุของสายตาขี้เกียจ ได้แก่
-
การทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวดวงตาทำงานไม่สมดุลกัน
-
การเบี่ยงเบนสายตามาใช้ตาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง เช่น มีการติดเชื้อหรือเป็นต้อกระจกบริเวณตาข้างขวา ทำให้ใช้เพียงตาข้างซ้ายในการมองเห็น ฯลฯ
-
มีสายตายาว สั้น หรือเอียงทั้งสองข้างมากเกินไป หรือไม่เท่ากันทั้งสองข้าง
-
ความบกพร่องของอวัยวะรับภาพ หรือแปลผลภาพ เช่น เส้นประสาทตาฝ่อ แผลบริเวณจุดรับภาพในจอตา และการเสียหายของสมองส่วนที่แปลภาพจากการขาดออกซิเจน ฯลฯ
ถึงเวลาต้องพบแพทย์
ปกติในเด็ก กุมารแพทย์จะตรวจการมองเห็น ดูการตอบสนองของเด็กเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายทั่วไป หากแพทย์หรือผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กมีสายตาขี้เกียจ สามารถปรึกษาจักษุแพทย์ได้ทันที และสำหรับเด็กทั่วไปแนะนำให้มาตรวจตาอย่างละเอียดครั้งแรกเมื่อมีอายุระหว่าง 3 – 5 ปี
รักษาสายตาขี้เกียจ
-
การผ่าตัด หากสาเหตุของสายตาขี้เกียจเกิดจากต้อกระจก เลือดออกในน้ำวุ้นตา หนังตาตก ควรผ่าตัดก่อน หลังจากนั้นค่อยฝึกและพัฒนาการมองเห็น โดยปิดตาข้างที่ดีกว่าเพื่อกระตุ้นตาอีกข้างที่ด้อยกว่าให้ถูกใช้งานมากขึ้น
-
การใช้แว่นสายตา หากปัญหาเกิดจากความผิดปกติทางสายตา
-
การปิดตาข้างที่ดี ใช้รักษาในกรณีที่มีตาเหล่หรือเริ่มมีตาขี้เกียจแล้ว โดยการปิดตาข้างที่ดีเพื่อให้ตาข้างที่ด้อยกว่าได้ใช้งาน ซึ่งควรปิดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง จนกว่าสายตาทั้งสองข้างจะมองเห็นปกติ
การรักษาสายตาขี้เกียจจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ปกครองเป็นหลัก ตั้งแต่สังเกตพฤติกรรมการมองเห็นของลูกและการฝึกพัฒนาการมองเห็นโดยการปิดตา ซึ่งต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องให้กำลังใจและพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง