ภูมิแพ้เป็นโรคยอดฮิตที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้นที่ในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายพร้อมกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ภาวะช็อกและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
รู้จักภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน
ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) คือ อาการภูมิแพ้ที่มีปฏิกิริยารุนแรงอย่างเฉียบพลัน เมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น อาหารหรือยาบางชนิด แมลงกัดต่อย หรือสารอื่น ๆ เนื่องจากระบบภูมิต้านทานของบุคคลนั้นไวต่อสารกระตุ้นดังกล่าวมากกว่าคนปกติ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายพร้อมกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ภาวะช็อก อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ตัวกระตุ้นการแพ้
สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis ที่พบได้ อาทิ
- การแพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว อาหารทะเล
- การแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยาแก้ปวด
- การแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย
- การแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางของพืช เช่น ถุงมือยาง ลูกโป่ง เป็นต้น
สาเหตุบอกโรค
โดยทั่วไปร่างกายจะมีกลไกป้องกันสิ่งแปลกปลอมด้วยการสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody) เพื่อช่วยกำจัดสารต่าง ๆ ที่คาดว่าเป็นอันตราย จากนั้นเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่งสารฮิสตามีนและสารเคมีตัวอื่น ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้หรืออาการแพ้ตามมา แต่ระบบภูมิคุ้มกันในบางคนนั้นมีความไวต่อสารเหล่านี้มากกว่าคนอื่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันแบบ Anaphylaxis ได้ เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีอาการแพ้สิ่งต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป
อาการต้องสังเกต
อาการที่บ่งบอกว่าเป็นภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ได้แก่
- ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ มีอาการคัน ผิวหนังแดงหรือซีด
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องหรือท้องเสีย
- ความดันโลหิตลดต่ำลง
- ลิ้น ปาก หรือคอบวม
- หายใจติดขัด
- อาจมีเสียงดังหวีด ๆ
- รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ กลืนลำบาก
- แน่นหน้าอก ใจสั่น
- ชีพจรอ่อน หัวใจเต้นเร็ว
- ไอ จาม น้ำมูกไหล
*** โดยการแพ้แบบ Anaphylaxis ในเด็กมักมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหารเป็นหลัก ส่วนในผู้ใหญ่มักเกิดจากการแพ้ยารวมถึงสาเหตุอื่น ๆ
รักษาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน
การรักษาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน หลัก ๆ ยังคงเป็นการใช้ยา Epinephrine ซึ่งปกติจะใช้วิธีฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อต้นขา ร่วมกับประเมินอาการของผู้ป่วยตามหลัก ABC ส่วนวิธีรักษาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับอาการแพ้และการตอบสนองของผู้ป่วย กรณีที่เคยมีอาการแพ้ในระดับที่ไม่รุนแรงมาก่อน ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ
ผู้ที่มีประวัติแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากสารนั้น ๆ เพื่อไม่ให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น ผู้ที่แพ้อาหารควรอ่านฉลากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หรือสอบถามคนขายก่อนซื้อมารับประทานเสมอ ส่วนผู้ที่เสี่ยงมีอาการแพ้ หรือต้องการทราบความเสี่ยงในการแพ้สารใด ๆ อาจป้องกันได้โดยเข้ารับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ศูนย์ภูมิแพ้เเละหอบหืด โรงพยาบาลกรุงเทพ มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการดูแลคนไข้ โดยมีกุมารแพทย์และอายุรแพทย์ที่มีความชำนาญด้านโรคภูมิแพ้เเละหอบหืด มีความสามารถในการดูเเลคนไข้ได้อย่างครบวงจร อาทิ การทดสอบทางผิวหนัง (Skin Test) Patch Test การเจาะเลือด (Blood Test) เเละที่สำคัญคือการทำ Challenge อาหาร (Oral food Challenge) เเละยา (Oral drug challenge) และการทดสอบทุกชนิด