BIOFEEDBACK ฝึกขับถ่ายแก้ปัญหาท้องผูกเรื้อรัง

2 นาทีในการอ่าน
BIOFEEDBACK ฝึกขับถ่ายแก้ปัญหาท้องผูกเรื้อรัง

ปัญหาท้องผูกเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่กวนใจใครหลายต่อหลายคน ซึ่งหนึ่งในวิธีการรักษาท้องผูกเรื้อรังโดยที่ไม่ต้องรับประทานยา คือการฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อควบคุมการขับถ่ายและปรับการรับความรู้สึกในทวารหนักให้เป็นปกติ (Anorectal Biofeedback Training) ซึ่งใช้เวลาในการฝึกไม่นานก็สามารถแก้ปัญหาท้องผูกได้ในระยะยาว


ฝึกการขับถ่ายคืออะไร

การฝึกการขับถ่าย (Anorectal Biofeedback Training) เป็นการฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อควบคุมการขับถ่ายและปรับการรับความรู้สึกในลำไส้ตรงในผู้ที่มีการขับถ่ายผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นภาวะท้องผูก หรือไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ โดยจะมีการใช้เครื่องวัดแรงดันกล้ามเนื้อและหูรูดทวารหนักร่วมกับการฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายให้มีการทำงานอย่างสัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดการขับถ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ 


ขั้นตอนการฝึกขับถ่ายเป็นอย่างไร

ในการฝึกขับถ่าย (Anorectal Biofeedback Training) ขณะทำการฝึกแพทย์ผู้ชำนาญการจะใส่สายขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10 เซนติเมตรผ่านเข้าทางทวารหนัก เพื่อแสดงภาพกราฟและแรงดันออกทางเครื่อง Anorectal Manometry ทำให้ผู้ฝึกสามารถดูภาพที่แสดงออกทางหน้าจอ ซึ่งการฝึกด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาท้องผูกหรือไม่สามารถกลั้นอุจจาระสามารถเรียนรู้และจดจำรูปแบบการขับถ่ายอย่างมีประสิทธิภาพได้  

โดยจะใช้เวลาฝึกครั้งละ 30 – 40 นาที จำนวน 6 ครั้ง โดยมีแพทย์หรือพยาบาลคอยแนะนำ ประกอบด้วย

  1. ฝึกขับถ่ายในท่าที่เหมาะสม 
  2. ฝึกการหายใจร่วมกับการฝึกเบ่งถ่าย 
  3. ฝึกคลายกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักอย่างถูกวิธีในกรณีท้องผูก หรือฝึกขมิบออกแรงบีบกล้ามเนื้อในกรณีกลั้นอุจจาระไม่ได้

ฝึกขับถ่าย, ฝึกขับถ่าย ท้องผูก, ขับถ่าย, ท้องผูก, ท้องผูกมาก ทำไงดี, ท้องผูก ทำไง, ท้องผูก ทำไงดี

เตรียมตัวก่อนฝึกขับถ่ายอย่างไร

  • ถ่ายอุจจาระหรือสวนอุจจาระด้วยตนเอง หรือรับการสวนอุจจาระที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนการฝึก
  • ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร
  • หากมีโรคประจำตัวหรือมียาประจำที่ใช้ต้องปรึกษาแพทย์ผู้สั่งยาเพื่อพิจารณาการใช้หรือหยุดยาก่อนฝึก

ผู้ฝึกขับถ่ายต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

  • ผู้รับการฝึกขับถ่ายจะต้องใส่สายขนาดเล็กผ่านทางทวารหนัก ปลายสายมีส่วนที่เป็นบอลลูน เพื่อใช้ในการฝึกการรับความรู้สึกของลำไส้ตรงได้
  • ผู้รับการฝึกขับถ่ายจะได้รับการฝึกในท่านั่งหรือท่านอนตะแคงซ้าย (ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และพยาบาลผู้ทำการฝึก) ฝึกหายใจ และฝึกการเบ่งถ่าย เพื่อปรับการรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรง โดยจะทำตามขั้นตอนที่กำหนดมาอย่างถูกต้อง

ดูแลตัวเองหลังฝึกขับถ่ายอย่างไร

  • ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ
  • เมื่อกลับถึงบ้านต้องฝึกขับถ่ายอย่างต่อเนื่อง และติดตามการฝึกการขับถ่ายด้วยเครื่องวัดแรงดันกล้ามเนื้อและหูรูดทวารหนักให้ครบตามระยะเวลาและจำนวนครั้งที่กำหนดเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษา

ใครที่มีข้อจำกัดในการฝึกขับถ่าย

  • ผู้ที่อายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีปัญหาด้านระบบประสาท เช่น โรคทางสมอง มีภาวะหลงลืมหรืออัลไซเมอร์
  • ผู้ที่มีปัญหาทางจิต
  • ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร

อย่างไรก็ตามในการฝึกการขับถ่ายผู้ป่วยจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าผู้ป่วยมีภาวะท้องผูกไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้หรือมีความผิดปกติในการรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรงก่อนจะเข้ารับการฝึกอย่างถูกต้องเพื่อแก้ปัญหาท้องผูกในระยะยาว


แพทย์ที่ชำนาญการฝึกการขับถ่าย

นพ.สุริยะ จักกะพาก ศัลยแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ หน่วยระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ 


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการฝึกการขับถ่าย

หน่วยระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลปัญหาท้องผูกเรื้อรังด้วยการฝึกการขับถ่าย (Anorectal Biofeedback Training) โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญพยาบาล และทีมสหสาขา พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ

ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี, เสาร์, อาทิตย์ เวลา 07.00 - 16.00 น.

พุธ, ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด