แม้ว่าการเทคฮอร์โมนจะเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ แต่ข้อสงสัยของคนที่เทคฮอร์โมนก็ยังคงมีเสมอ เพราะกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ถ้าแปลงเพศแล้วไม่เทคฮอร์โมนจะมีผลเสียอะไร
การขาดฮอร์โมนเพศอาจส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกหักได้ จึงแนะนำว่าแม้จะผ่าตัดแปลงเพศไปแล้ว ควรเทคฮอร์โมนต่อเพื่อรักษามวลกระดูก รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี
ถ้าแปลงเพศจากชายเป็นหญิงต้องเทคฮอร์โมนต่อไหมและนานแค่ไหน
หลังจากผ่าตัดแปลงเพศจากผู้ชายไปเป็นผู้หญิงเรียบร้อยแล้วสามารถหยุดยากดฮอร์โมนเพศชายได้ แต่ยาฮอร์โมนเพศหญิงควรรับประทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน ทั้งนี้อาจปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาลดขนาดยาหรือหยุดยาเมื่ออายุใกล้เคียงช่วงวัยหมดประจำเดือนตามปกติของผู้หญิง
เทคฮอร์โมนแล้วเสี่ยงเป็นมะเร็งไหม
การเทคฮอร์โมนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งทั่วไป เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ ฯลฯ แต่มีมะเร็งบางชนิดที่เกิดกับอวัยวะที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศ ซึ่งต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ มะเร็งเต้านม เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ แต่ในเคสที่รายงานส่วนใหญ่นั้นพบในประชากรผู้หญิง
สำหรับการศึกษาในกลุ่มหญิงข้ามเพศโดยตรงนั้นยังมีน้อย ข้อมูลจึงยังไม่แน่ชัด ปัจจุบันแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในกลุ่มคนข้ามเพศ โดยใช้แนวทางเวชปฏิบัติคล้ายกับในเพศหญิงทั่วไป คือ คำนึงถึงอายุ ระยะเวลาของการเทคฮอร์โมน และความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ประวัติคนในครอบครัวที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม เป็นต้น
ส่วนในมะเร็งต่อมลูกหมาก จากรายงานพบว่า ในกลุ่มหญิงข้ามเพศที่มีการเทคฮอร์โมนเพศหญิงหรือใช้ยากดฮอร์โมนเพศชายจะลดโอกาสในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากลง อย่างไรก็ตามในกลุ่มหญิงข้ามเพศที่อายุมากกว่า 40 ปี ยังแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากคล้ายกับในเพศชาย
เทคฮอร์โมนแล้วต้องกินตลอดชีวิตไหม ควรหยุดกินที่อายุเท่าไร
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานจากงานวิจัยที่แน่ชัดถึงอายุที่ควรหยุดเทคฮอร์โมน การหยุดใช้หรือการลดขนาดยาฮอร์โมนในกลุ่มคนข้ามเพศจึงควรพิจารณาเป็นคน ๆ ไปขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวที่มี เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ หรือความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น
เทคฮอร์โมนระยะยาวมีผลเสียต่อร่างกายมากแค่ไหน
การเทคฮอร์โมนในระยะยาว ทั้งจากหญิงเป็นชายหรือชายเป็นหญิงอาจเพิ่มความระดับความดันโลหิตหรือค่าไขมันในเลือดบางตัว แต่ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำจะเด่นชัดเฉพาะในกลุ่มหญิงข้ามเพศผู้เทคฮอร์โมนเพศหญิงที่มีอายุมากและใช้ฮอร์โมนมาเป็นระยะเวลานาน
ดูแลตัวตนของคุณอย่างเข้าใจ”
แพทย์ผู้ชำนาญด้านการเทคฮอร์โมน
พญ.นิดา เสรีฉันทฤกษ์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการเทคฮอร์โมน
คลินิก be YOURSELF services โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลเรื่องการเทคฮอร์โมนในผู้ที่ต้องการข้ามเพศ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามที่ต้องการ โดยมีแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาให้การดูแลอย่างใกล้ชิด