หากมีอาการปวดท้องช่วงบนแล้วไม่หาย รวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ ในระบบทางเดินอาหาร การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนมีส่วนสำคัญในการตรวจวินิจฉัย ประเมิน และรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาตั้งแต่ระยะแรก คืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กลับมาโดยเร็ว
ส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนคืออะไร
การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนเป็นการส่องกล้องตรวจดูลักษณะของทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหารจนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น โดยใช้กล้องที่มีไฟส่องตรงส่วนปลาย ภาพที่ได้จะมาจากปลายสุดของกล้อง สามารถรักษาและตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
ใครควรเข้ารับการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน
- มีเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนบน
- ปวดท้องส่วนบนได้รับการรักษาแล้วไม่หาย
- ปวดท้องส่วนบนที่สัมพันธ์กับอาการ หรืออาการแสดงอื่น ๆ ที่น่าสงสัยว่าจะมีโรคที่ร้ายแรง เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือพบอาการในผู้ป่วยอายุ 45 ปีขึ้นไป
- กลืนลำบากหรือกลืนแล้วเจ็บ
- โรคกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับที่ไม่หายหรือเป็นใหม่แม้จะได้รับการรักษาไปแล้ว
- อาเจียนติดต่อกันเป็นเวลานานแบบไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ป่วยที่มีภาพถ่ายรังสีผิดปกติ เช่น พบแผลหรือเนื้องอกในกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่ต้องการตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ หรือเก็บของเหลวและน้ำย่อยตรวจ
- ผู้ที่แพทย์ต้องการประเมินการบาดเจ็บของทางเดินอาหารจากการกินสารกัดกร่อน
- ผู้ที่ต้องการเอาสิ่งแปลกปลอม ตัดเนื้องอก หรือจี้ทำลายเนื้องอกออกทางเดินอาหารส่วนบน
- ผู้ที่ต้องการใส่สายให้อาหารชนิดต่าง ๆ เช่น สายให้อาหารเข้ากระเพาะหรือลำไส้ผ่านทางหน้าท้อง (PEG or PEJ)
- ผู้ที่รักษาการตีบแคบของทางเดินอาหารโดยขยาย ใส่ท่อหรือฉีดยา
เตรียมตัวก่อนส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนอย่างไร
- งดน้ำและอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ เพื่อป้องกันการสำลักอาหารเข้าระบบทางเดินหายใจ
- แจ้งประวัติการแพ้ยา ประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานอยู่ประจำ โดยเฉพาะยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อพิจารณาการใช้หรือหยุดยาก่อนทำหัตถการ
- หากสวมฟันปลอมให้ถอดออกในวันส่องกล้องตรวจเพื่อป้องกันการเลื่อนหลุดและการอุดตันทางเดินหายใจ
- ควรมาถึงก่อนเวลานัดหมายตรวจ 30 นาที
ดูแลหลังส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนอย่างไร
- ในผู้ที่ได้ยาลดระดับหรือยาระงับความรู้สึกหลังส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนจะมีการสังเกตอาการและติดตามประเมินสัญญาณชีพในห้องพักฟื้นอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะตื่นรู้ตัวดีและสัญญาณชีพปกติ
- อาการชาในลำคอจะหายไปภายใน 1 ชั่วโมง ระหว่างนี้ให้งดน้ำและอาหารจนกว่าอาการชาจะหายไป เมื่ออาการชาหายให้ลองจิบน้ำ ถ้าไม่สำลักสามารถดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้
- มาพบแพทย์ตามนัดหมาย โดยเฉพาะผู้ที่มีการส่งชิ้นเนื้อตรวจ ปกติผลจะออกภายใน 5 – 7 วัน
- มื้อแรกหลังส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนควรเป็นอาหารอ่อน หลังจากนั้นจึงรับประทานอาหารตามปกติ
- ระหว่างเดินทางกลับควรมีผู้ดูแล งดขับรถด้วยตนเองหลังตรวจ 24 ชั่วโมง
- สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น ผู้ที่ได้รับการขยายหลอดอาหาร ถ้าเจ็บปวดรุนแรงที่คอ หน้าอก หายใจลำบาก มีเลือดออก หรือคลำลมใต้ผิวหนังได้ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
- หากปวดท้องรุนแรง มีไข้ ไอ เหนื่อย ถ่ายอุจจาระหรืออาเจียนมีเลือดปนมากผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์
- ในกรณีที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป แนะนำให้นอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการหลังส่องกล้องอย่างน้อย 1 คืน
ผลข้างเคียงจากการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนคืออะไร
- เจ็บคอจากการเสียดสีของกล้อง
- ชาในลำคอจากยาชาเฉพาะที่
- ท้องอืด เพราะขณะทำการส่องกล้องต้องเป่าลมเข้ากระเพาะอาหาร แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อร่างกายขับลมออกมา
- มึนงงจากการได้รับยานอนหลับ หรือได้รับผลกระทบจากการได้รับยา เช่น การแพ้ยา เป็นต้น
ข้อดีของการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนคืออะไร
- แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง
- กรณีที่พบติ่งเนื้อหรือเนื้องอก แพทย์สามารถทำการรักษาได้ทันที
- หากสงสัยว่าจะมีเนื้อร้าย สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ทันที
- ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- เจ็บปวดน้อยมากและไม่มีบาดแผลจากการผ่าตัด
แพทย์ที่ชำนาญการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน
นพ.ประภัสสร์ สมิติษเฐียร อายุรแพทย์ผู้ชำนาญด้านทางเดินอาหารและตับ ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาและความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารรักษาโรคทางเดินอาหารด้วยเทคนิคที่ทันสมัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกวัน