ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเสริมหน้าอกทั่วโลกมาแล้วกว่า 10 ล้านคน จากสถิติในปี 2018 ของ American Society of Plastic Surgeons (ASPS) การผ่าตัดเสริมหน้าอกยังเป็นการผ่าตัดเสริมความงามที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันดับที่ 1 โดยมีผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมากกว่า 3 แสนราย สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลของ International Society for Aesthetic Plastic Surgery (ISAPS) มีรายงานการผ่าตัดเสริมหน้าอกที่ได้รับการบันทึกประมาณ 14,000 ราย แต่ในความเป็นจริงคาดว่าโดยรวมทั้งหมดน่าจะมีมากกว่า 20,000 รายต่อปี
รูปแบบการเสริมหน้าอก
การผ่าตัดเสริมหน้าอกในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 แบบ สามารถทำแบบใดแบบหนึ่งหรือทำร่วมกันทั้งสองอย่างในครั้งเดียวได้ ประกอบไปด้วย
- การเสริมหน้าอกด้วยเต้านมเทียม (Breast Implant Augmentation)
- การเสริมหน้าอกด้วยไขมันตัวเอง (Fat Transfer Augmentation) เป็นวิธีที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะใช้เนื้อเยื่อตนเอง ไม่ใช้วัตถุแปลกปลอม มีความเป็นธรรมชาติสูง แต่มีข้อจำกัดหลายเรื่อง ได้แก่ จำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพิ่มเติมคือ การดูดไขมัน ซึ่งต้องมีอุปกรณ์เฉพาะและการอยู่ตัวของไขมันที่ฉีดอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
ซิลิโคนเสริมหน้าอก
ซิลิโคนที่ใช้เสริมหน้าอกในปัจจุบันเกือบทั้งหมดจะใช้ซิลิโคนเจล (Silicone Gel) ซึ่งผิวภายนอกเป็นถุงซิลิโคนและภายในมีลักษณะเป็นเจล
ผิวภายนอกซิลิโคน มี 2 ชนิด ได้แก่
- ผิวภายนอกซิลิโคนชนิดหยาบหรือผิวทราย (Textured)
- ผิวภายนอกซิลิโคนแบบผิวเรียบ (Smooth)
นอกจากนี้ยังมีรูปทรงหลายชนิดให้เลือก เช่น ทรงกลม (Round) ทรงหยดน้ำ (Teardrop) รวมทั้งขนาดและความนูนในระดับต่าง ๆ
ปัจจุบันซิลิโคนเต้านมเทียมมีคุณภาพและความคงทนที่ค่อนข้างดี ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี โดยในส่วนของเต้านมเทียมผิวขรุขระหรือผิวทราย (Textured Implant) ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในประเทศไทย มีข้อมูลระบุว่าสามารถลดการเกิดพังผืดหดรัดและมีพื้นผิวที่สามารถยึดเกาะได้ดี จึงเหมาะกับซิลิโคนเต้านมบางประเภท เช่น ทรงหยดน้ำ ซึ่งต้องการการยึดเกาะที่ดีเพื่อให้ไม่มีการพลิกหรือหมุนตัว ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีความละเอียดของผิวทรายที่แตกต่าง ตั้งแต่แบบหยาบหรือขรุขระมาก (Macrotexture) จนถึงแบบละเอียด (Micro – Nano Texture) ควรเลือกซิลิโคนผิวขรุขระให้เหมาะสมภายใต้คำแนะนำของศัลยแพทย์และมีการเฝ้าระวังและตรวจเช็กหน้าอกอย่างสม่ำเสมอ
วิธีเลือกซิลิโคน
การเลือกซิลิโคนที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยศัลยแพทย์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และแนะนำในการเลือกชนิดและขนาดซิลิโคนที่เหมาะสม ได้แก่
- ขนาดความสูงและความกว้างของลำตัว
- ลักษณะของเนื้อหน้าอกเดิม เช่น ความหย่อนคล้อย ความหนาของผิวหนัง และไขมันบริเวณหน้าอก
ผ่าตัดเสริมหน้าอก
การผ่าตัดเสริมหน้าอกสามารถเลือกบริเวณของแผลผ่าตัดที่จะใช้ในการใส่ซิลิโคนได้ ประกอบไปด้วย
· ใต้ราวนม การผ่าตัดแผลใต้ราวนมสามารถจัดวางตำแหน่งได้ถูกต้อง เสียเลือดน้อย และฟื้นตัวรวดเร็ว รวมทั้งใช้เป็นแผลผ่าตัดหลักในกรณีที่ทำการแก้ไขหรือเปลี่ยนซิลิโคน
· ใต้รักแร้หรือรอบปานนม การผ่าตัดแผลใต้รักแร้และบริเวณหัวนมจะทำได้ยากกว่า มีการช้ำและเสียเลือดมากกว่า การพักฟื้นใช้เวลานานกว่า
ตำแหน่งการวางซิลิโคน
โดยทั่วไปตำแหน่งในการวางซิลิโคนจะอยู่ใต้กล้ามเนื้อหรือใต้เนื้อหน้าอก ซึ่งศัลยแพทย์จะแนะนำตำแหน่งที่เหมาะสมกับแต่ละคน โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่
- ความหนาของเนื้อบริเวณหน้าอก
- ความหย่อนคล้อยของหน้าอก
- ลักษณะของทรวงอก
เตรียมตัวก่อนเสริมเต้านม
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเสริมเต้านม ได้แก่
- ตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือด
- เอกซเรย์ปอด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตามเกณฑ์
- งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนมาผ่าตัด
- หยุดยาที่รับประทานบางชนิดก่อนการผ่าตัด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน วิตามิน หรือสมุนไพร
- หยุดสูบบุหรี่และหยุดดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
กระบวนการเสริมเต้านม
กระบวนการเสริมเต้านมจะทำเป็นขั้นตอน ได้แก่
- วิสัญญีแพทย์ให้การดมยาสลบก่อนเริ่มการผ่าตัด
- ศัลยแพทย์จะเริ่มทำการผ่าตัดตามที่ได้วางแผนกับผู้มารับการเสริมหน้าอก โดยทำการเลาะช่องบริเวณหน้าอก ใส่ซิลิโคน และเย็บปิดแผล
- การผ่าตัดเสริมหน้าอกใช้เวลาประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมง
ภาวะแทรกซ้อนหลังเสริมเต้านม
ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการเสริมเต้านม ได้แก่
- ปวด
- บวม
- แผลอักเสบ ติดเชื้อ
- มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกจากแผลผ่าตัด
- คลำได้ก้อนบริเวณหน้าอก
- ผลข้างเคียงจากยาสลบ ยาแก้ปวด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลระยะยาวจากการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเกิดพังผืดหดรัด การเคลื่อนตำแหน่งของซิลิโคน การหย่อนคล้อยของหน้าอก รวมทั้งการผิดรูป เช่น แข็งตัวหรือเสียรูปทรง หรือการแตกของถุงซิลิโคน
ดูแลหลังเสริมเต้านม
การดูแลหลังเสริมเต้านม ประกอบไปด้วย
- การดูแลแผลผ่าตัด ในช่วงสัปดาห์แรกสามารถอาบน้ำได้ เนื่องจากแพทย์จะทำการปิดฟิล์มกันน้ำ แต่หลีกเลี่ยงการลงไปแช่ในน้ำหรือว่ายน้ำในสระ หลังจากพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กและแผลหายดีแล้วจะมีการแนะนำให้ใช้ครีมทาแผลเป็นหรือแผ่นซิลิโคนปิดแผลเป็น
- การดูแลหน้าอกหลังใส่ซิลิโคน แนะนำให้ใส่บราชนิดไม่มีโครงอย่างน้อย 1 เดือน หลีกเลี่ยงการกดทับหรือกระแทกบริเวณหน้าอก และการออกกำลังกายที่ใช้แขนมากในช่วง 1 เดือนแรก
- การดูแลอื่น ๆ ได้แก่ งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมทั้งของหมักดอง อย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- การดูแลในระยะยาว หมั่นตรวจเช็กหน้าอกด้วยตัวเองและตรวจแมมโมแกรมตามกำหนด
ผ่าตัดแก้ไขหน้าอก
ผู้ที่ได้รับการเสริมหน้าอกอาจมีโอกาสที่จะได้รับการผ่าตัดแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
- เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีการอักเสบ ติดเชื้อ หรือมีเลือดออก
- มีภาวะพังผืดหนาหดรัดตัว
- มีการแตกของซิลิโคน (Implant Rupture) ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อยมาก
- มีความต้องการเปลี่ยนขนาดหรือรูปทรงของซิลิโคน
อายุกับการเสริมเต้านม
ในแต่ละช่วงอายุลักษณะของหน้าอกจะแตกต่างกัน การเสริมหน้าอกในช่วงอายุน้อยและก่อนมีบุตรจะช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว หน้าอกค่อนข้างกระชับ หย่อนคล้อยช้า แต่มีความตึงสูง และอาจใช้เวลาในช่วงระยะแรกก่อนที่รูปทรงจะเข้าที่ ส่วนการเสริมหน้าอกในช่วงที่อายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังมีบุตร หน้าอกจะมีการขยายตัวมาบ้างแล้ว และมีความยืดหยุ่น ทำให้รูปทรงเข้าที่ได้เร็ว แต่ก็อาจทำให้มีการหย่อนคล้อยเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะบางรายที่หน้าอกเดิมมีการหย่อนคล้อยมากอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดยกกระชับไปด้วย
เพราะศัลยแพทย์มีส่วนสำคัญทั้งในขั้นตอนก่อนผ่าตัด การเลือกซิลิโคน การแนะนำวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม ตลอดจนขั้นตอนการผ่าตัดให้ได้ผลดีและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจเสริมหน้าอกควรศึกษาข้อมูลและเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับมีทีมสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์เพื่อผลการผ่าตัดที่น่าพอใจ