โรคหน้าร้อนในเด็ก ไม่ยากเกินจะรับมือ

4 นาทีในการอ่าน
โรคหน้าร้อนในเด็ก ไม่ยากเกินจะรับมือ

หน้าร้อนมาเยือนแล้ว อุณหภูมิความร้อนสูงขึ้น ๆ เชื้อโรคหน้าร้อนแสนจะเบิกบานใจและพร้อมจะมาเยี่ยมเยือนเด็ก ๆ และครอบครัวคุณเสมอหากไม่ระมัดระวังดูแลสุขภาพให้ดี และพอเจ็บป่วยขึ้นมาทีบวกกับความร้อนที่ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อ เสียน้ำมาก ยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย อาการที่เป็นจึงดูเหมือนจะหนักหนาไปกันใหญ่ ทั้งที่โรคในหน้าร้อน เมื่อเป็นแล้วหากรู้โดยเร็ว คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเบื้องต้นได้เอง โดยโรคในเด็กที่พบบ่อยในช่วงอากาศร้อน แบ่งตามอาการแสดงตามระบบของร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และโรคพิษสุนัขบ้า



โรคระบบทางเดินอาหาร

photo11

โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ 

เกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย หรือเกิดจากอาหารปนเปื้อนไม่สะอาดมีการติดเชื้อเกิดขึ้น โรคอุจจาระร่วงมักเกิดในเด็กเล็ก ส่วนอาหารเป็นพิษมักระบาดในกลุ่มเด็กวัยเรียนและเด็กโต

 

อาการ

ปวดท้องแบบปวดเกร็งในท้อง อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ้ารุนแรงจะถ่ายเป็นมูกเลือดได้ มีไข้ต่ำ ๆ หากมีการถ่ายเป็นมูกเลือด (เป็นอาการในกลุ่มโรคบิด) ถือว่าเป็นอาการรุนแรง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาจต้องกินยาฆ่าเชื้อ จึงควรรีบมาพบแพทย์ 

 

การดูแลรักษา

ให้กินน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ รักษาตามอาการ เช่น ยาลดอาการอาเจียนและปวดท้อง เด็กเล็กควรงดนมก่อน และกินน้ำเกลือแร่จนกว่าอาการถ่ายเหลวหยุดแล้วจึงกลับมากินนมและอาหารปกติ

 

การป้องกัน

ดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำ เพราะช่วงอากาศร้อนทำให้เกิดการเน่าเสียได้ง่าย การดูแลสุขอนามัยล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพราะเชื้อโรคติดต่อทางอุจจาระได้ง่าย

 

โรคระบบทางเดินหายใจ

photo13

ไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคที่พบได้ตลอดปีและเป็นโรคที่ติดต่อง่ายอีกโรคหนึ่ง หากเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือในผู้สูงอายุเป็นมักมีอาการรุนแรงมากกว่าวัยอื่น ๆ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า เช่น อาการปอดบวม แก้วหูอักเสบ


อาการ

มีอาการไข้สูง 39 – 40 องศาเซลเซียส มีอาการเด่นคือ ปวดหัวและปวดเมื่อยตามตัวมาก ปวดเบ้าตา ไอมีเสมหะ มักไม่ค่อยมีน้ำมูก ถ้าเป็นรุนแรง เกิดภาวะปอดอักเสบแทรกซ้อน จะมีไข้สูง ไอ หายใจเหนื่อยหอบ


การดูแลรักษา

  • กรณีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเป็นรุนแรง จะให้ยาต้านไวรัสโดยตรง 
  • กรณีเด็กโตหรือผู้ใหญ่ มักจะหายได้เอง สามารถรักษาตามอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ เช็ดตัว แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม ควรได้รับยาต้านไวรัสร่วมด้วย 

เนื่องจากการติดต่อของไข้หวัดใหญ่เกิดได้ง่ายจากการไอจามรดกัน สัมผัสน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย อยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ดังนั้นในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบตลอดจนผู้สูงอายุ และทุกวัยสามารถป้องกันโรคนี้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี และเมื่อเด็กเล็กป่วยต้องมีคนมาดูแลใกล้ชิดจึงมีโอกาสติดต่อไปยังคนอื่นได้ง่าย จึงแนะนำให้ป้องกันไว้ก่อน

 

เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • ควรได้รับตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรให้ทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง เพราะเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีนในเด็กที่อายุเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายคือ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนอ้วนมาก หญิงมีครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 2 และ3 บุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการ
  • การฉีด จะฉีดช่วงไหนของปีก็ได้ และหลังฉีดต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจึงจะขึ้นดี เนื่องจากในประเทศไทยโรคนี้จะระบาดมากช่วงหน้าฝนมาก การฉีดก่อนหน้าฝนก็จะเหมาะสม หรือหากต้องเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด ต้องเผื่อระยะเวลาฉีดและให้ภูมิต้านทานขึ้นให้เหมาะสมด้วย

 

ข้อควรพิจารณาการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเด็กเล็ก

  • เพื่อลดความรุนแรงของโรค ไม่ใช่ป้องกันไม่ให้เป็น
  • ประโยชน์ทางอ้อม เด็กเล็กเวลาเป็นจะมีอาการอยู่นาน เพราะภูมิต้านทานในเด็กเล็กต่ำ เชื้อจึงอยู่ได้นาน จึงเพิ่มโอกาสจะแพร่กระจายไปสู่คนอื่น การฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก จะช่วยลดการติดต่อไปสู่ผู้ใหญ่ได้ด้วย


โรคพิษสุนัขบ้า

photo14

โรคพิษสุนัขบ้า

เป็นอีกโรคที่เกิดได้ตลอดปี แต่ช่วงอากาศร้อน สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมวหงุดหงิดได้ง่าย จึงมีโอกาสกัดได้บ่อย และเชื้อพิษสุนัขบ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานขึ้น จึงมีโอกาสแพร่เชื้อได้มากขึ้น 


การป้องกัน

เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของโรคนี้ เพราะเมื่อไรที่มีอาการแล้วจะหมายถึงการเสียชีวิต เนื่องจากไม่สามารถรักษาได้แล้ว 

  • ระวังไม่ให้เด็กอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกสุนัขกัด เช่น ไม่ให้เดินหรือเล่นตามตรอกซอกที่มีสุนัขหรือสัตว์แปลกถิ่น
  • หากถูกสัตว์กัด ให้รีบทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสบู่ รีบมาพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีถูกกัดเป็นแผลใหญ่และถูกกัดในบริเวณที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมาก เช่น ศีรษะ ใบหน้า มือ นิ้วมือ เท้า ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที
  • เมื่อถูกสัตว์กัดและแผลมีเลือดออก มีโอกาสที่จะติดเชื้อสูง ต้องรีบให้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเพื่อสกัดเชื้อไว้
  • การให้วัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าในผู้ที่มีโอกาสสัมผัสโรคได้สูง เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการและเด็กที่ครอบครัวเลี้ยงสุนัขและแมว เพราะเมื่อโดนสัตว์กัด จะฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิ เพียงแค่ 1 – 2 เข็มเท่านั้น และลดการใช้อิมมูโนโกลบุลิน ซึ่งมีราคาแพงและมีเฉพาะในโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น

 

ป้องกันไว้ก่อนเพื่อสุขภาพดีช่วงหน้าร้อน

  • ล้างมือบ่อย ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการป้องกัน การรับเชื้อ และแพร่กระจายเชื้อ
  • การเลือกกินอาหารและน้ำ ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
  • การป้องกันด้วยวัคซีน การพิจารณาความจำเป็นและเหมาะสมในโรคที่มีวัคซีนป้องกันได้ จะเป็นภูมิต้านทานช่วยป้องกันโรคได้ทางหนึ่ง
  • การดูสุขภาพลูกและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด การสังเกตอาการได้เร็ว จะรู้โรคและรักษาได้ทันการณ์ อาการจะไม่รุนแรง

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. พรเทพ สวนดอก

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
นพ. พรเทพ สวนดอก

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 4 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด