รู้หรือไม่? แต่ละวัยต่างก็มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียงที่เริ่มตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่น ยิ่งถ้าใช้จอมือถือกันมาก ๆ ก็ยิ่งเสี่ยงเกิดปัญหากับดวงตามากขึ้น
ส่วนในวัยทำงานที่ต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือใช้มือถือมาก ๆ ก็อาจจะตาแห้ง ตาล้า หรือกิจกรรมกลางแจ้งเองก็เสี่ยงต้อลม ต้อเนื้อที่เกิดจากแสง UV ในแดด
ส่วนวัยกลางคนและสูงวัย มักเริ่มมีปัญหาสายตายาวตามวัย เสี่ยงต้อหิน ต้อกระจก จอตาเสี่อมได้มากขึ้น เป็นต้น
แต่หลายคนจะไม่รู้ว่าตัวเองมีสายตาที่ผิดปกติ เราจึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจการมองเห็นเบื้องต้นด้วยตัวเองกันว่า ถ้าภาพที่เห็นเป็นแบบนี้อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคตาชนิดใด เพื่อที่จะได้ไปตรวจสุขภาพดวงตา และหากพบความผิดปกติก็จะได้รักษาอย่างทันท่วงทีนั่นเอง
สายตาปกติ
ถ้าคุณมองเห็นทั้งในระยะใกล้และไกลได้อย่างชัดเจน เหมือนกับภาพนี้ แสดงว่าสายตาปกติ คือ แสงผ่านกระจกตาและเลนส์แก้วตาไปโฟกัสที่จุดรับภาพได้พอดี ทำให้ภาพที่เรามองเห็นคมชัด แต่เพื่อความแน่ใจก็สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองสุขภาพดวงตาว่ามีโรคอี่นหรือไม่ เช่น ตาแห้ง ต้อลม เป็นต้น
สายตาสั้น
ใครที่มองเห็นสิ่งต่าง ๆ เหมือนภาพนี้ คือ มองวัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัดเจน แต่มองใกล้ได้ชัดเจนกว่า นี่เป็นสัญญาณเตือนของสายตาสั้น หรือ Myopia ซึ่งอาจเกิดจากกระจกตาที่โค้งมากเกินไปหรือขนาดลูกตายาวเกินไป ทำให้มีการรวมแสงไปโฟกัสอยู่หน้าต่อจุดรับภาพจึงมองไกลไม่ชัด แต่มองใกล้ชัดเจนกว่า ต้องแก้ไขด้วยการใส่เลนส์เว้าเพี่อถ่างแสงให้ไปโฟกัสที่จุดรับภาพได้พอดี
สายตาเอียง
เมื่อไรที่มองเห็นไม่ชัด เกิดภาพซ้อน ไม่คม คุณอาจมีสายตาเอียงก็เป็นได้ โดยสายตาเอียงเกิดจากความโค้งกระจกตาไม่กลมเหมือนลูกบอล แต่คล้ายลูกรักบี้หรือไข่ ทำให้การรวมแสงของตาในแนวต่าง ๆ ไม่อยู่ในจุดเดียวกัน มักจะพบร่วมกับสายตาสั้นหรือยาว จึงเห็นภาพไม่คมชัด แต่เป็นภาพซ้อน ๆ นั่นเอง
สายตายาวแต่กำเนิด
หากคุณมองระยะใกล้ไม่ชัด แต่มองไกลได้ชัดกว่า อาจจะมีสายตายาวแต่กำเนิดเล็กน้อย (Mild Hyperopia) หรือ ถ้าสายตายาวแต่กำเนิด (Hyperopia) มาก ๆ จะเห็นไม่ชัดทั้งใกล้และไกล กลุ่มนี้เกิดจากกระจกตาแบนเกินไปหรือขนาดลูกตาสั้นเกินไป การรวมแสงจึงตกหลังจุดรับภาพ ทําให้มองในที่ไกลชัดกว่าที่ใกล้ ซึ่งตรงข้ามกับสายตาสั้น ส่วนการแก้ไขสายตายาวต้องใช้เลนส์นูนเพี่อรวมแสงดึงระยะโฟกัสให้มาตกพอดีที่จุดรับภาพ
สายตาสูงวัย (สายตายาวตามอายุ)
สายตายาวตามอายุนั้นพบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมองเห็นภาพใกล้ไม่ชัดหรือมองใกล้ลำบาก ต้องยืดมือออกไปถึงเห็นชัดขึ้น แต่ถ้ามองไกลยังชัดตามปกติ ภาวะนี้เรียก Presbyopia หรือสายตาสูงวัย เกิดจากเลนส์แก้วตาแข็งขึ้น ความยืดหยุ่นน้อยลง รวมถึงกล้ามเนื้อตาเสื่อมตามวัย ทำให้ไม่สามารถปรับโฟกัสภาพให้มองใกล้ชัดได้ดีเหมือนเดิม แก้ไขโดยการใส่เลนส์นูน คล้ายกับสายตายาวแต่กำเนิด แต่จะใส่ช่วยเวลามองใกล้เท่านั้น
วุ้นในตาเสื่อม
ถ้าการมองเห็นของคุณมีลักษณะคล้ายภาพนี้ คือ เห็นเป็นเงาดำ จุดดํา ๆ เส้น ๆ เป็นวงหรือเส้นหยากไย่ลอยไปมา และขยับตามการกลอกตา รวมถึงอาจเห็นแสงวาบเหมือนแสงแฟลช หรือฟ้าผ่า เป็นอาการที่ชวนสงสัยว่าอาจมีนํ้าวุ้นตาเสื่อม เพราะน้ำวุ้นในตาเมื่อเสื่อมลงจะเปลี่ยนสภาพบางส่วนกลายเป็นของเหลว และบางส่วนจับตัวเป็นก้อนหรือเส้น อาจหดตัวหลุดจากผิวจอประสาทตาจึงเห็นลอยไปมา มักพบในคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือในคนสายตาสั้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้จากจอประสาทตาฉีกหรือหลุดลอก
ต้อกระจก
การที่ดวงตามัวลงอย่างช้า ๆ เหมือนมีหมอกหรือฝ้าบัง เห็นภาพซ้อน แสงไฟกระจาย ภาพเป็นสีเหลืองหรือสีผิดเพี้ยน ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงเร็วจนต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย คุณอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจก ที่เกิดจากเลนส์ตาขุ่นมัว ทำให้แสงผ่านเข้าดวงตาลดลง บดบังแสงที่ไปโฟกัสที่จอประสาทตา การมองเห็นจึงค่อย ๆ ลดลง โรคนี้พบมากเมื่ออายุมากขึ้น เป็นความเสื่อมของเลนส์ตา พบบ่อยในกลุ่มอายุ 50 – 60 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับทุกวัยเช่นกัน
จอประสาทตาเสื่อม
สำหรับคนที่มองเห็นภาพตรงกลางไม่ค่อยชัด เหมือนมีอะไรมาบังตลอดเวลา เห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว หรือเป็นคลื่น อาจเสี่ยงเป็นโรคจุดรับภาพเสื่อม ซึ่งโรคนี้เกิดจากความเสื่อมของจอประสาทตาบริเวณจุดรับภาพ ส่วนใหญ่แล้วอาการนี้มักจะเกิดกับคนสูงวัย อาจพบได้ตั้งแต่อายุ 40 – 50 ปี และจะพบบ่อยขึ้นเมี่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 – 70 ปี ขึ้นไป
ต้อหิน
ใครที่มีอาการตามัวลง เห็นรุ้งรอบดวงไฟ ปวดตา น้ำตาไหล ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน อาจเป็นกลุ่มต้อหินเฉียบพลันที่มีความดันลูกตาสูงมาก แต่ต้อหินบางรายไม่มีอาการใด ๆ เหมือนภัยเงียบ และเมื่อเป็นมาก ๆ แล้วลานสายตาจะแคบลง ทําให้มองเห็นเหมือนอยู่ในอุโมงค์ดังรูป มักพบบ่อยในกลุ่มอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โรคนี้เกิดจากเส้นประสาทตาเสื่อมลง โดยผู้ป่วยมักจะมีความดันตาสูงผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวร
ปัจจุบันผู้ป่วยที่เป็นต้อหินมีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้นการหมั่นตรวจเช็กสุขภาพตากับจักษุแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในบางรายไม่มีอาการใด ๆ แต่ความดันตาค่อย ๆ สูงขึ้น และเมื่อรู้ตัวอีกทีเส้นประสาทตาอาจโดนทําลายไปแล้ว
เบาหวานขึ้นตา
เบาหวานเป็นโรคที่พบบ่อย ซึ่งมีผลกับตาด้วยเช่นกัน นั่นคือ เบาหวานขึ้นตา แรก ๆ อาจไม่มีอาการตามัว แต่ถ้าเป็นมากอาจจะมองเห็นแย่ลง ตรวจพบมีจุดเลือดออกที่จอประสาทตา หรือเส้นเลือดงอกผิดปกติ บางรายมีจุดรับภาพบวม ทําให้การมองเห็นตรงกลางแย่ลง และบางครั้งช่วงแรกของเบาหวานขึ้นตาอาจไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยเบาหวานที่ละเลยไม่ตรวจตาอาจตรวจพบในระยะรุนแรง และได้รับการรักษาช้าเกินไป อาจมีเลือดออกในตาหรือจอตาหลุดลอกแบบเป็นพังผืด ทําให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด
ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเรี่องเบาหวานขึ้นตากับจักษุแพทย์ โดยตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง หรือตามแพทย์แนะนำ รวมถึงควบคุมโรคเบาหวานให้ดี เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดกับดวงตาและอวัยวะอื่น ๆ ด้วย