เพราะการเทคฮอร์โมนได้รับความนิยมในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการข้ามเพศ แต่การเทคฮอร์โมนให้เหมาะสมกับตนเองเป็นเรื่องที่หลายคนละเลยจนทำให้เทคฮอร์โมนแบบผิด ๆ และส่งผลเสียในระยะยาวตามมา
ทำไมถึงไม่ควรซื้อฮอร์โมนกินเอง
หลายคนอาจไม่รู้ว่าการตรวจร่างกายก่อนใช้ฮอร์โมนเป็นเรื่องสำคัญ จึงมักตัดสินใจซื้อฮอร์โมนมารับประทานเองตามโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งไม่เพียงเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่ตามมาแต่ยังอาจเทคฮอร์โมนมากเกินไปโดยไม่รู้ตัวการตรวจสุขภาพก่อนเทคฮอร์โมน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรปฏิบัติก่อนเทคฮอร์โมน
ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงก่อนเทคฮอร์โมน
การเทคฮอร์โมนมีปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การเลือกใช้ฮอร์โมนชนิดที่มีผลข้างเคียงต่ำ ขนาดของฮอร์โมนต้องเหมาะสมกับร่างกาย หากมีปัญหาสุขภาพต้องตรวจเช็กร่างกายให้ดีก่อนเทคฮอร์โมน เช่น ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, ภาวะเลือดข้น เป็นต้น หรือหากยังมีความปรารถนาจะมีบุตรที่มีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ก็ควรจะมีการปรึกษาและวางแผนร่วมกันกับแพทย์ก่อนที่จะเริ่มเทคฮอร์โมน
เทคฮอร์โมนแบบไหนดี
ร่างกายคนข้ามเพศแต่ละคนแตกต่างกัน จึงไม่ใช่ว่าทุกคนเหมาะกับการเทคฮอร์โมนข้ามเพศชนิดใดก็ได้ หลัก ๆ มีอยู่ 3 ชนิดคือ ฉีด ทา รับประทาน แต่การจะใช้ฮอร์โมนชนิดใดแล้วเห็นผลและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายก่อนเทคฮอร์โมน เมื่อเทคฮอร์โมนแล้วต้องรักษาระดับให้คงที่ ถ้าน้อยเกินไปอาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ และหากใช้ผิดชนิดหรือปริมาณมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตได้
การเทคฮอร์โมนมีความเสี่ยงอย่างไร
เมื่อเทคฮอร์โมนในปริมาณที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างโรคหลอดเลือดดำอุดตัน, โรคหลอดเลือดสมอง, ภาวะเลือดข้น, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, ภาวะกระดูกบางในช่วงแรกที่เริ่มยา นอกจากนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ จึงควรมีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางและตรวจเช็กระดับฮอร์โมนอยู่เสมอเพื่อผลลัพธ์ที่ต้องการ รวมถึงควรตรวจติดตามผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพจากการเทคฮอร์โมนในระยะยาว
วางแผนก่อนเทคฮอร์โมนสำคัญแค่ไหน
หากมั่นใจแล้วว่าต้องการข้ามเพศ การวางแผนดูแลตนเองก่อนข้ามเพศโดยการเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายและจิตใจร่วมกับแพทย์ผู้ชำนาญการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรซื้อยาฮอร์โมนมารับประทานเองโดยเด็ดขาด
ดูแลตัวตนของคุณอย่างเข้าใจ”
ข้อมูล : พญ.นิดา เสรีฉันทฤกษ์
อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ