ภาวะพร่องออกซิเจนเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ต้องอยู่บนที่สูงหรือเดินทางด้วยเครื่องบิน โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะหายใจบกพร่องและผู้ที่เพิ่งหายจากโรคปอดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะพร่องออกซิเจน เพราะเมื่ออยู่ในระดับความสูงปริมาณ ของออกซิเจนในอากาศจะลดลงและเม็ดเลือดแดงอาจไม่สามารถนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เพียงพอ ส่งผลให้สมองและอวัยวะส่วนอื่นขาดออกซิเจนได้ การทดสอบภาวะพร่องออกซิเจนก่อนขึ้นเครื่องจึงช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดออกซิเจน และสามารถจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือระหว่างการเดินทางได้อย่างเหมาะสม
ภาวะพร่องออกซิเจนคืออะไร
ภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำกว่ามาตรฐาน มีผลต่อการทำงานของร่างกายและสมอง ทำให้เกิดความบกพร่อง ขาดการควบคุม และมีอาการรุนแรงต่าง ๆ ตามมา อาทิ หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ มึนงง ซีด เป็นต้น
ภาวะพร่องออกซิเจนมีกี่ชนิด
ภาวะพร่องออกซิเจนมี 4 ชนิด ได้แก่
- ภาวะพร่องออกซิเจนจากการที่ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย (Hypoxic Hypoxia) พบได้บ่อยที่สุดจากการขึ้นที่สูง ความกดบรรยากาศลดลง การกลั้นหายใจ โรคหอบหืด ปอดบวม มีลมในช่องปอด เป็นต้น
- ภาวะพร่องออกซิเจนจากเลือด (Hypemic Hypoxia) เช่น เม็ดเลือดแดงลดลงจากโรคโลหิตจาง การเสียเลือด ภาวะผิดปกติของฮีโมโกลบิน เป็นต้น
- ภาวะพร่องออกซิเจนจากการติดขัดในการไหลเวียนของกระแสเลือด (Stagnant Hypoxia) เช่น ปริมาณแรงดันเลือดจากหัวใจลดลงจากภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
- ภาวะพร่องออกซิเจนจากภาวะเป็นพิษของเซลล์ (Histotoxic Hypoxia) เกิดจากร่างกายได้รับสารพิษ เช่นคาร์บอนมอนอกไซด์ ไซยาไนด์ แอลกอฮอล์ เป็นต้น
กลุ่มเสี่ยงสูงภาวะพร่องออกซิเจน
- ผู้ที่มีภาวะหายใจบกพร่อง มีปัญหาของระบบทางเดินหายใจ
- ผู้ที่เพิ่งหายจากโรคปอด
ภาวะพร่องออกซิเจนมีอาการอย่างไร
หากมีภาวะพร่องออกซิเจนจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ผิวหนังซีดหรือเขียวคล้ำ
- ไอ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- ซึม เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- เหงื่อออกมาก ร้อน ๆ หนาว ๆ วูบวาบ มือเท้าชา
- หายใจถี่ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด
- กระสับกระส่าย กระวนกระวาย
- ตาพร่ามัว สับสน มึนงง
- การรู้ตัวลดลง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก หากปล่อยไว้อาจเกิดอาการเพ้อ ชัก หมดสติ อาจเข้าสู่ภาวะโคม่า และอาจเสียชีวิตได้
HYPOXIC CHALLENGE TEST คืออะไร
การทดสอบสมรรถภาพร่างกายในสภาวะอากาศจำลองที่มีระดับออกซิเจนต่ำ (Hypoxic Challenge Test) เป็นการจำลองภาวะอากาศในห้องโดยสารเครื่องบินที่มีปริมาณความเข้มข้นออกซิเจนต่ำกว่าค่าปกติที่ระดับน้ำทะเล ด้วยเครื่องReduced Oxygen Breathing Device (ROBD) ที่ผสมออกซิเจน ไนโตรเจน และอากาศปกติในสัดส่วนที่สัมพันธ์กับระดับความสูงต่าง ๆ ได้ โดยจะตั้งระดับความสูงเท่ากับสภาพอากาศในห้องผู้โดยสารเครื่องบินที่จะมีระดับสูงสุดที่ 8,000 ฟุต โดยจะมีขั้นตอนการซักประวัติ ตรวจร่างกาย วัดความอิ่มตัวออกซิเจนที่ปลายนิ้ว ประเมินการทำงานของระบบหายใจและประเมิน สภาพผู้เข้าทดสอบตามมาตรฐานระดับสากล
เตรียมตัวอย่างไรก่อน HYPOXIC CHALLENGE TEST
เตรียมร่างกายให้สมบูรณ์ก่อนเข้ารับการทดสอบ โดยเลี่ยงการดื่มแอลกอฮฮล์ งดสูบบุหรี่หรือยาสูบชนิดต่าง ๆ พักผ่อนให้เพียงพอไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง งดออกกำลังกายหนัก เลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ หากมีโรคประจำตัวสามารถกินยาประจำได้ตามเดิม รับประทานอาหารก่อนทำการทดสอบอย่างน้อย 30 นาที อย่ารับประทานอาหารมากเกินไป หลังทดสอบ 24 ชั่วโมง หากมีอาการผิดปกติข้างเคียงควรปรึกษาแพทย์ทันที
ป้องกันภาวะพร่องออกซิเจนได้อย่างไร
สำหรับผู้มีความเสี่ยงที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินหรือมีความกังวลปัญหาการหายใจในภาวะออกซิเจนต่ำระหว่างเดินทางโดยเครื่องบิน แนะนำให้เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพร่างกายในภาวะอากาศจำลองที่มีระดับออกซิเจนต่ำ (Hypoxic Challenge Test) เพื่อประเมินสุขภาพและความพร้อม เรียนรู้อาการที่เกิดจากภาวะขาดออกซิเจน จัดเตรียมอุปกรณ์ออกซิเจนเสริมให้ผู้ป่วยระหว่างเดินทางได้อย่างเหมาะสม ทำให้หลีกเลี่ยงภาวะพร่องออกซิเจนที่อาจเกิดขึ้นได้
แพทย์ที่ชำนาญการทดสอบ HYPOXIC CHALLENGE TEST
นพ.ธวัชชัย ลิมป์สถบดี แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การบิน ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือน โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่ให้บริการการทดสอบ HYPOXIC CHALLENGE TEST
ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือน โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้บริการทดสอบสมรรถภาพร่างกายในภาวะอากาศจำลองที่มีระดับออกซิเจนต่ำ (Hypoxic Challenge Test) โดยแพทย์เวชศาสตร์การบินที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) และทีมสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์และความชำนาญ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้มั่นใจทุกครั้งที่ขึ้นเครื่องบิน