หน้าฝนของประเทศไทยเป็นฤดูเริงร่าของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิด เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะในเด็กย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้สูงมาก เพราะระบบภูมิต้านทานในร่างกายยังไม่แข็งแรงและสมบูรณ์ อาจนำมาซึ่งการติดเชื้อและเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย สังเกตได้จากโรงพยาบาลหลายแห่งจะมีเด็กเข้ารักษาโรคในหน้าฝนจำนวนมาก เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคเด่นที่เด็กเป็นมากที่สุดในหน้าฝน พร้อมทั้งความสำคัญ สาเหตุ และวิธีการป้องกันโรค จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ป้องกันได้ทันท่วงที และสังเกตอาการได้อย่างรู้เท่าทัน
1) โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี เพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งบางปีอาจจะพบการระบาด ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยเด็กที่มีอาการตัวร้อนมา 2 – 3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็อาจพบการผิดพลาดได้
“ไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการหลัก ๆ เด็กจะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอหรือเจ็บคอ ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น”
ปัจจุบันประเทศไทยพบไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยเฉพาะชนิดหลังที่คุณพ่อคุณแม่มักกังวลและกลัวว่าจะเกิดกับลูก ซึ่งเป็นเพียงโรคที่กลายพันธุ์มาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทั่วไป เพียงแต่รับเชื้อมาจากสัตว์ เช่น นกหรือหมู ฉะนั้นความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างกันมากนัก แต่จะติดเร็วกว่าก็เท่านั้น เนื่องจากร่างกายของคนไม่เคยมีภูมิต่อโรคดังกล่าวมาก่อน ทำให้ติดและเป็นกันง่าย
อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดประมาณ 1 – 2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโลกในทุก ๆ ปี และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป การป้องกันที่ดีที่สุด คือ คนป่วยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น รวมถึงใส่หน้ากาก ล้างมือ และทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย จะเป็นการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
2) โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus 71, Coxsackie) พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน สำหรับกลุ่มอาการของโรค เด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (อนุบาลถึงประถม) อาการมักหายได้เองภายใน 3 – 10 วัน สามารถติดต่อทางการไอ จาม น้ำลาย หรืออุจจาระ มีระยะฟักตัว 3 – 6 วัน พบเชื้อทางน้ำลาย 2 – 3 วัน ก่อนมีอาการ จนถึง 1 – 2 สัปดาห์หลังมีอาการ
“ถ้าเป็นแล้วเด็กบางคนจะรับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ เพราะเจ็บปากมาก ซึ่งแม้แต่น้ำลายก็ไม่ยอมกลืน ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นอย่าให้เด็กมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจจะชักได้ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการ เมื่อผิดปกติต้องรีบพาพบแพทย์ทันที”
สำหรับการป้องกัน ผู้ปกครองควรดูแลลูกในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกไปอยู่ในสถานที่แออัด และควรมีกระติกน้ำ หรือแก้วน้ำส่วนตัวให้ลูกไปใช้กินที่โรงเรียนด้วย รวมถึงปลูกฝัง และฝึกให้ลูกใช้ช้อนกลางขณะรับประทานอาหารทุกครั้งไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือที่บ้านก็ตาม
3) โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ถ้าได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง
“โรคนี้ระบาดได้ทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าฝน เพราะโอกาสที่น้ำจะขังมีได้มาก เพราะฉะนั้นอาการที่สงสัยเลยว่า ลูกคุณอาจจะเป็นไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงมาก กินยาลดไข้เท่าไรก็ไม่ได้ผล ปวดหัว ปวกกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว มีอาการตาแดง หน้าแดง ปากแดง เป็นต้น”
นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้คนไข้มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะตรงบริเวณชายโครงด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ นั่นเพราะตัวตับโต ขณะเดียวกันจะมีอาการอาเจียนร่วมด้วยและมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาการเหล่านี้ ถ้ามาพบแพทย์ได้ทันจะคาดการณ์ได้ว่า ลูกคุณมีกลุ่มอาการตรงกับไข้เลือดออก และแพทย์จะทำการตรวจสอบต่อไป เช่น รัดแขนที่ความดันระดับหนึ่งเพื่อดูจุดที่มีเลือดออกว่าเกิดขึ้นได้หรือไม่ เป็นต้น
การป้องกันที่ดีคือ อย่าให้ยุงกัดและอย่าให้ยุงเกิด ด้วยการจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดสิ้น และอย่ารอให้เกิดอาการที่รุนแรงก่อนแล้วจึงมาพบแพทย์ เช่น เป็นไข้สูงเกินไป ช็อก หรือมีปัญหาเลือดออกง่าย ต้องรีบพาลูกมาพบแพทย์ทันที
4) โรคอีสุกอีใส
หลายครอบครัวคงคุ้นเคยกับโรคนี้กันดี เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นกันบ่อย แต่มักจะเป็นในบางช่วง เมื่อเป็นแล้วมักจะติดกันเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน กลุ่มอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ด และแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองประมาณ 2 – 3 สัปดาห์
“พยายามดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพราะโรคนี้เกิดขึ้นไม่ตรงตามวัย บางรายเป็นตอนเด็ก หรือบางรายอาจเป็นตอนโต ซึ่งถ้าเป็นในตอนโต จะมีอาการและการขึ้นตุ่มที่รุนแรงกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะของร่างกายด้วย การป้องกันอย่าให้ลูกเข้าใกล้ผู้ป่วย ล้างมือบ่อย ๆ เป็นต้น”
อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และจะกระตุ้นอีกครั้งในตอน 4 ขวบ ซึ่งเป็นวัคซีนเสริม ยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด
5) โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง
โรคท้องเสียเกิดขึ้นเพราะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจเรื่องของสุขอนามัย จึงมักนำของเล่น หรือของใช้ที่มีเชื้อนี้เข้าปากโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจะถูกขับออกทางอุจจาระของผู้ป่วย เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบแทบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว
ไวรัสโรต้าเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยจากสถิติทั่วโลกและในประเทศไทยพบว่า ไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุหลักทำให้เด็กป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงถึงปีละประมาณ 6 แสนคน
“อาการส่วนใหญ่จะพบว่า ท้องเสีย อาเจียน บางรายจะมีไข้สูง กินได้น้อย งอแง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นเด็กทารกควรให้กินนมแม่จะช่วยได้ระดับหนึ่ง และดูแลสุขลักษณะการกิน การเล่นให้เหมาะสม ต้องสะอาด ขณะเดียวกันไม่ควรพาเด็กเข้าเนิร์สเซอร์รีเร็วเกินไป เพราะเด็กที่อยู่ด้วยกันเยอะ ๆ การแพร่กระจายของเชื้อจะมีได้ง่าย”
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับอนุมัติใช้ทั้งหมด 2 ชนิด คือ วัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อโรต้า 1 สายพันธุ์ และ 5 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดรับประทาน (หยอด) สามารถเริ่มให้กับทารกอายุตั้งแต่ประมาณ 6 – 12 สัปดาห์ การที่ต้องเริ่มให้ในช่วงอายุดังกล่าวนั้น เป็นเพราะในช่วงสัปดาห์แรก ๆ เด็กทารกจะยังได้รับภูมิคุ้มกันที่สร้างจากรกและการกินนมแม่ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรต้าจึงควรเริ่มต้นในช่วงอายุประมาณ 2 เดือน ซึ่งเด็กอาจจะเริ่มมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่รอบ ๆ ตัวแล้ว
6) โรคไอพีดีและปอดบวม
โรคไอพีดี หรือที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Disease (IPD) คือ โรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรงและอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง งอแง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดีถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้เชื้อ “นิวโมคอคคัส” ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลการประเมินขององค์กรอนามัยโลกและยูนิเซฟพบว่า ปอดบวมเป็นโรคที่คร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคนี้สูงถึง 2 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าโรคเอดส์ มาลาเรีย และหัดรวมกัน
“ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่วนในเด็กทารกควรเริ่มฉีดเมื่ออายุได้ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน, 6 เดือน และ 12 – 15 เดือน โดยเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง วัคซีนจึงมีส่วนสำคัญสำหรับการป้องกัน ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างสุขอนามัยที่ดีกับลูก เป็นตัวช่วยที่สำคัญที่สุด”
เด็กทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะในหน้าฝน ถ้าลูกมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง กินอาหารได้น้อย อาเจียน อ่อนเพลียง่าย มีภาวะขาดน้ำ หรือมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอบ่อย หายใจเร็ว ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที เพราะถ้าวินิจฉัยโรคเร็ว ความรุนแรงของโรค และโอกาสที่รักษาให้หายจะมีแนวโน้มสูง
โรคภัยไข้เจ็บล้วนสร้างความไม่สบายกายและไม่สบายใจให้กับตัวเด็ก รวมไปถึงตัวคุณพ่อ คุณแม่เอง เพื่อป้องกันการเกิดโรค พ่อแม่ควรใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของลูก ไม่ว่าจะเรื่องการล้างมือก่อนกินอาหาร การเล่น และการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะตามมา อันจะส่งผลกับตัวลูกในภายหลังได้ นี่เป็นวิธีการป้องกันเบื้องต้นที่ทุกครอบครัวสามารถนำไปปฎิบัติได้ทุกบ้าน