ปานแดงในเด็กเล็กหรือเนื้องอกหลอดเลือดในเด็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสังเกตอย่างใกล้ชิด แม้ไม่พัฒนาไปเป็นเนื้อร้าย แต่อาจทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนังได้ ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังหากพบลักษณะปานที่เป็นตุ่มหรือก้อนนูนสีแดงเข้มควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว
รู้จักปานแดงในเด็ก
ปานแดงในเด็กหรือเนื้องอกหลอดเลือด (Infantile Hemangioma) เป็นโรคเนื้องอกหลอดเลือดชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ใช่เนื้อร้าย ในช่วงแรกจะสังเกตเห็นจุดแดงหลอดเลือดฝอยคล้ายรอยจากแมลงกัด หรือผื่นสีแดงราบ อาจมีสีจางกว่าผิวหนังและมีรอยช้ำ หลังจากนั้นขนาดจะขยายอย่างรวดเร็วในช่วง 4 สัปดาห์แรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในช่วง 9 – 12 เดือน จากนั้นขนาดก้อนจะเริ่มคงที่ในช่วงสั้น ๆ แล้วเล็กลงและจางลงหลังอายุ 1 – 2 ปีเป็นต้นไป โดยขนาดจะค่อย ๆ เล็กลงอย่างช้า ๆ หากไม่ได้รับการรักษา ประมาณ 10% ต่อปี แม้จะสามารถยุบลงได้เอง แต่อาจเกิดรอยโรคที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น รอยเส้นเลือดฝอย ก้อนพังผืดไขมันใต้ผิวหนัง รอยโรคจากการเสียดสีในบริเวณต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดแผล หรือนูนไม่สวยงาม และสูญเสียความมั่นใจได้
ลักษณะปานแดงในเด็ก
- รูปร่างจะแตกต่างตามความลึกของรอยโรค
- รอยโรคส่วนบนจะเป็นก้อนนูนสีแดงสด ผิวเรียบหรือขรุขระ
- รอยโรคส่วนล่างจะเป็นก้อนนูน ขอบเขตไม่ชัดเจน สีเดียวกับผิว หรือสีเขียวอมฟ้า หรือพบร่วมกัน
- พบบ่อยที่สุดบริเวณศีรษะและลำคอ ลำตัว แขนและขา
- ส่วนใหญ่พบรอยโรคเดียว แต่อาจพบกระจายหลายอันได้ในบางกรณี
รักษาปานแดงในเด็ก
การรักษาปานแดงในเด็กขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ทั้งชนิด ขนาด ตำแหน่ง ความลึก ภาวะแทรกซ้อน โดยข้อกำหนดในการรักษาที่พบมากคือ รอยโรคบนใบหน้าและรอยโรคที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างรอบดวงตา ทางเดินหายใจ ปาก และที่อวัยวะเพศ เป็นต้น แต่หากมีรอยโรคเดียวและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอาจปล่อยให้หายได้เอง โดยวิธีการรักษา ได้แก่
- รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ
- ทายาในกรณีที่รอยโรคบาง
- ใช้เลเซอร์ในกรณีที่เป็นแผลหรือรอยแดงหลังจากก้อนยุบลง
- ผ่าตัดในกรณีที่ก้อนขอบเขตชัดเจน ไม่ใหญ่ หรือมีภาวะแทรกซ้อน
ข้อควรระวังปานแดงในเด็ก
ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังเมื่อเป็นปานแดงในเด็ก ได้แก่
- การแตกเป็นแผล อาจทำให้เจ็บ เลือดออก และติดเชื้อที่แผลได้
- ถ้าก้อนอยู่บริเวณรอบดวงตาอาจมองเห็นผิดปกติ เช่น ตาเข ตาเหล่ ตาขี้เกียจ
- หากก้อนเนื้องอกที่หูปิดกั้นรูหู อาจทำให้เสียการได้ยินได้
- เมื่อมีก้อนบริเวณคางและคออาจอุดกั้นทางเดินหายใจได้
- เมื่อมีเนื้องอกหลอดเลือดขนาดเล็กหลายจุดในร่างกายมากกว่า 5 จุด
- ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นได้หากมีเนื้องอกขนาดใหญ่ที่ตับ
แม้ปานแดงในเด็กจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตเนื้องอกหรือปานแดงที่เกิดขึ้นบนร่างกายของเจ้าตัวเล็กได้ หากพบว่ามีแผลเกิดขึ้นหรือเนื้องอกโตอย่างรวดเร็วควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางทันที