หูดข้าวสุกแม้เป็นโรคที่หายเองได้ แต่ก็สร้างความรำคาญให้เจ้าตัวเล็กไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นยังติดต่อได้ง่ายหากไม่ป้องกันให้ดี พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจดูแลให้ถูกวิธี
รู้จักหูดข้าวสุก
ตัวโรคมีชื่อเรียกว่า Molluscum Contagiosum หูดข้าวสุก เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตระกูล Molluscipox Genus มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 3 – 12 สัปดาห์ ติดต่อได้จากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงระหว่างผิวหนังกับผิวหนัง รวมทั้งการใช้สิ่งของต่าง ๆ ร่วมกันอย่างผ้าเช็ดตัว เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย พบมากในเด็กอายุ 1 – 10 ปี สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาแต่ใช้เวลานานหลายเดือน ประมาณ 6 – 12 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละบุคคล
ลักษณะหูดข้าวสุก
- ตุ่มนูนรูปครึ่งวงกลม
- ตุ่มนูนมีสีเนื้อหรือสีขาวขุ่น
- ตุ่มนูนค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบมัน
- อาจมีรอยบุ๋มตรงกลางตุ่ม
- ถ้าสะกิดและกดตุ่มออกจะได้เนื้อสีขาวขุ่นคล้ายข้าวสุก
- ตุ่มอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเรียงกันเป็นแนวยาว
รักษาหูดข้าวสุก
ปัจจุบันหูดข้าวสุกไม่มียารักษาโดยตรงเฉพาะโรค เพราะสามารถหายได้เองแต่ใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งทางเลือกการรักษาช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรค ได้แก่
- จี้ด้วยความเย็น ใช้ไนโตรเจนเหลวที่เย็นจัด ทำให้เกิดวงน้ำแข็งรอบตุ่มเพื่อทำลายหูด อาจต้องทำซ้ำหลายครั้ง
- ใช้อุปกรณ์ปลายแหลมบ่งตุ่มโรคหูดข้าวสุกและกดออก (Molluscum Extraction)
- ใช้ยาทาเพื่อทำลายเซลล์ติดเชื้อหูดข้าวสุก
ข้อควรระวัง
ห้ามแคะ แกะ เกา ตุ่ม เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ และในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจพบตุ่มขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก
ป้องกันหูดข้าวสุก
- ล้างมือให้บ่อย
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- เลี่ยงการใช้ของสาธารณะที่สัมผัสผิวหนังโดยตรง
- ห้ามสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยเด็ดขาด
การดูแลรักษาหูดข้าวสุกต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์เท่านั้นเพื่อช่วยป้องกันเจ้าตัวเล็กติดเชื้อโรคแทรกซ้อนและหายจากโรคได้โดยเร็ว