เนื้องอกมดลูก พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่น่ากังวลคือหากพบเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์ คุณแม่มักเต็มไปด้วยความกังวลจนถึงวันที่ต้องคลอดเจ้าตัวเล็ก การพบแพทย์และดูแลตนเองอย่างถูกวิธีให้สุขภาพดีทั้งกายและใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์คืออะไร
เนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์เกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนระหว่างตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์มักตรวจพบเนื้องอกมดลูกจากการอัลตราซาวนด์ขณะตั้งครรภ์ เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับตำแหน่งก้อน ขนาดก้อน และจำนวนก้อน อาจส่งผลให้เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด รกเกาะต่ำ ทารกไม่กลับหัว ทารกโตช้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด
ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
- ปวดมากที่ก้อน หากเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์มีขนาดใหญ่ อาจมีเลือดออกในก้อน ส่งผลให้มีอาการปวด ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะอาจเป็นโรคอื่นได้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ กรวยไตอักเสบ เป็นต้น
- คลอดก่อนกำหนด
- เลือดออกผิดปกติที่ช่องคลอด
- รกลอกตัวก่อนกำหนด
ตรวจวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์
เมื่อคุณแม่ฝากครรภ์ในช่วง 1 – 3 เดือนแรก การอัลตราซาวนด์ขณะตั้งครรภ์ช่วยให้เห็นเนื้องอกได้ชัดเจนและง่ายที่สุด เนื่องจากมดลูกมีขนาดเล็ก ทำให้แพทย์ทราบว่าคุณแม่มีเนื้องอกขณะตั้งครรภ์หรือไม่ มีขนาดหรือความรุนแรงในระดับใด แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นมดลูกและทารกจะโตขึ้นการมองเห็นเนื้องอกจะค่อนข้างจำกัด
รักษาเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์อย่างไร
การรักษาเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์ทำได้โดยติดตามหรือให้ยาแก้ปวดตามอาการ การผ่าตัดเนื้องอกจะไม่ทำขณะตั้งครรภ์หรือพร้อมการผ่าตัดคลอด เพราะเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด เพราะในช่วงตั้งครรภ์มดลูกมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น เส้นเลือดขยายใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่เสี่ยงกับการเสียเลือดมากกว่าปกติ ดังนั้นช่วงหลังคลอดแพทย์จะนัดตรวจติดตามอีกครั้งว่ามีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดหรือไม่ เพราะ 1 ใน 3 ของเนื้องอกมดลูกจะเล็กลงได้เมื่อสิ้นสุดการตั้งครรภ์
เนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์คลอดลูกอย่างไร
หากมีเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์คุณแม่สามารถคลอดตามธรรมชาติได้ ถ้าก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กและไม่อยู่ในตำแหน่งที่ขวางทางคลอด แต่อาจต้องระวังการตกเลือดหลังคลอดและภาวะมดลูกไม่หดรัดตัว แต่ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ใกล้มดลูกส่วนล่าง ทารกอาจไม่กลับหัวหรือส่วนนำทารกไม่สามารถลงมาในอุ้งเชิงกรานได้จึงควรต้องผ่าคลอด สิ่งสำคัญคือการพบแพทย์ตามนัดหมายขณะตั้งครรภ์ทุกครั้งเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของเนื้องอกมดลูกอย่างต่อเนื่องและดูแลเจ้าตัวเล็กให้เติบโตในครรภ์อย่างเหมาะสม สามารถวางแผนคลอดอย่างถูกวิธี ลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
ภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์
- ก้อนโตเร็วขณะตั้งครรภ์จากการที่ฮอร์โมนสูง
- ก้อนขวางทางคลอด
- ภาวะตกเลือดหลังคลอด
- ภาวะทารกโตช้าในครรภ์
- ภาวะคลอดก่อนกำหนด
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูกดูแลตนเองอย่างไร
ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสแท้งได้ง่าย ไม่ยกของหนัก งดมีเพศสัมพันธ์ เลี่ยงการเกร็งหน้าท้อง เป็นต้น ที่สำคัญต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อดูแลทารกในครรภ์และติดตามการเติบโตของก้อนเนื้องอก ทั้งนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น หากมีอาการปวดมากที่ก้อนควรรีบมาพบแพทย์ทันที
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่ไหนดี
ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณแม่กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงพร้อมดูแลเจ้าตัวเล็กให้เติบโต
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ผศ.พญ.อัจจิมา สูงสถิตานนท์ สูตินรีแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจคลอดพร้อมมอบแด่คุณแม่
แพ็กเกจผ่าคลอด ราคาเริ่มต้น 132,000 บาท