ท่อน้ำตาตันในผู้ใหญ่

3 นาทีในการอ่าน
ท่อน้ำตาตันในผู้ใหญ่

โรคท่อน้ำตาตันในผู้ใหญ่ (Nasolacimal Duct Obstruction) ในที่นี้คือ ท่อน้ำตาตันส่วนของท่อน้ำตาด้านล่างและส่วนปลายของท่อน้ำตา ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายที่อายุระหว่าง 50 – 70 ปี แต่วัยทำงานก็สามารถเป็นได้


อาการท่อน้ำตาตัน

มีได้ตั้งแต่น้ำตาไหลเอ่อคลอจนถึงบางคนที่มีน้ำตาไหลตลอดเหมือนร้องไห้ตลอดเวลา หรืออาจมีประวัติตาแดง เยื่อบุตาอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ มีขี้ตาเยอะ บางคนเกิดการอักเสบเป็นฝีหนองได้ คนไข้กลุ่มนี้มักต้องคอยพกผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชูไว้คอยซับน้ำตา


สาเหตุท่อน้ำตาตัน

สาเหตุของท่อน้ำตาตัน โดยส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุ สามารถเกิดขึ้นได้เอง ส่วนที่มีสาเหตุอื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงได้ คือ
  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีประวัติการผ่าตัดในช่องจมูกหรือไซนัส เนื้องอกในช่องจมูกหรือไซนัส 
  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุ มีการแตกหักหรือได้รับการผ่าตัดกระดูกใบหน้าทางหัวตาที่ติดกับสันจมูก ซึ่งทำให้เกิดการกดทับท่อน้ำตา

 

ตรวจวินิจฉัยท่อน้ำตาตัน

การตรวจที่ง่ายที่สุดและผู้ป่วยสามารถลองทดสอบตัวเองได้ คือ การกดที่หัวตาข้างสันจมูก คล้าย ๆ การนวดหัวตาเพื่อรักษาท่อน้ำตาตันในเด็ก ในบางรายที่มีท่อน้ำตาตันจะพบว่า มีน้ำตาทะลักออกมาทางหัวตาทางรูเปิดของท่อน้ำตา ซึ่งอาจจะเป็นน้ำตาที่เป็นเมือกหรือขี้ตาที่เป็นหนองทะลักออกมาก็ได้

แต่การตรวจวินิจฉัยหลักโดยจักษุแพทย์ คือ การใช้เข็มเล็กปลายตัดไม่คมแยงลงไปทางรูเปิดของท่อน้ำตาที่มีอยู่ที่หัวตาทั้งเปลือกตาบนและล่างแล้วฉีดน้ำลงไป ในผู้ที่ปกติจะรู้สึกถึงน้ำเค็ม ๆ ที่ไหลลงคอ แต่หากมีท่อน้ำตาตัน น้ำจะไหลเอ่อล้นกลับออกมาทางรูเปิดของท่อน้ำตาทั้งบนและล่างเลอะออกมาข้างแก้ม ซึ่งอาจมีขี้ตาออกมาด้วย

​ก่อนทำการตรวจจะมีการหยอดยาชาเพื่อไม่ให้เจ็บ ตอนหยอดยาชาจะรู้สึกแสบตามากหน่อยในหยดแรกที่หยอด แต่หยดต่อ ๆ ไปจะไม่ค่อยแสบตา จะรู้สึกหนัก ๆ ตาต่อประมาณ 1 ชั่วโมง โดยในช่วงหลังจากมีการหยอดยาชา พยายามอย่าขยี้ตา เพราะตาชาไปหมดแล้ว หากขยี้ตาแรง ๆ กระจกตาอาจจะถลอกได้

ขณะที่มีการแยงท่อน้ำตา ให้ลืมตา อย่าบีบตา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะกลัวและเผลอบีบตา ทำให้เจ็บตอนตรวจล้างท่อน้ำตา ถ้าลืมตาให้โตเท่าที่จะทำได้ ไม่บีบตา จักษุแพทย์จะสามารถแยงเข็มลงไปตามท่อได้สะดวก โดยที่ผู้ป่วยจะไม่เจ็บ

 

รักษาท่อน้ำตาตัน

  • การรักษาหลักของท่อน้ำตาตันจำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข การหยอดยา และรับประทานยา ไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาให้ท่อน้ำตาหายตันได้ และการนวดตาเหมือนเด็กที่ท่อน้ำตาตันตั้งแต่กำเนิดก็ไม่สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่
  • การรักษาประคับประคองในช่วงที่รอการผ่าตัด ได้แก่ การหยอดยาฆ่าเชื้อ เพื่อลดขี้ตาและป้องกันการอักเสบติดเชื้อเป็นถุงหนองที่หัวตา
  • ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบเป็นถุงหนองจำเป็นจะต้องได้รับทั้งยาฆ่าเชื้อหยอดตาและยาฆ่าเชื้อแบบรับประทาน รวมถึงอาจต้องได้รับการเจาะระบายหนองเพื่อลดอาการปวด หากอักเสบมากจนบวมทั้งเปลือกตาทั้งหมดอาจต้องได้รับยาฉีดรักษาการติดเชื้อ เพราะบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อเข้าไปในเบ้าตาได้

การผ่าตัดท่อน้ำตาตัน

การผ่าตัดรักษาท่อน้ำตาตัน มี 2 วิธี คือ
  • การผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยผ่าตัดผ่านทางผิวหนังที่ข้างสันจมูก ซึ่งจะเห็นรอยแผลเป็นบนใบหน้า นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบ บวม แดงอยู่ก่อนแล้วไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากผิวหนังบริเวณถุงน้ำตาอักเสบ หากมีการผ่าตัดและเย็บแผล ผิวบริเวณนั้นจะไม่แข็งแรง ทำให้เกิดแผลแยกหลังตัดไหมได้ การผ่าตัดจึงค่อนข้างล่าช้า
  • การผ่าตัดแบบไร้แผลเป็นโดยใช้วิธีการส่องกล้อง “กล้องเอนโดสโคป” (Endoscope) ทำให้เห็นตำแหน่งที่จะผ่าชัดเจนยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่มีแผลเป็น และแม้จะมีอาการอักเสบ บวม แดงมาก่อนก็ยังสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจก่อนผ่าตัดจากจักษุแพทย์เท่านั้น สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติอุบัติเหตุใบหน้าแตกยุบมาก่อน กระดูกอาจจะผิดรูปไปอาจต้องผ่าตัดแบบดั้งเดิม หรือในกรณีที่เป็นเนื้องอกในจมูกก็ต้องผ่าตัดเนื้องอกออกไปก่อน


ในกรณีที่ผู้ป่วยมีท่อน้ำตาอุดตันและมีภาวะอื่น ๆ ทางตาที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดในลูกตา เช่น ผ่าตัดต้อกระจกหรือผ่าตัดจอประสาทตา หากไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาที่ตันก่อนจะมีความเสี่ยงการติดเชื้อเข้าไปในลูกตาได้สูงกว่าปกติ

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ

จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.

เสาร์ 08.00 - 17.00 น

อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด