สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC) ร่วมกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (FA Thailand) และโรงพยาบาลกรุงเทพ (ภายใต้การบริหารงานโดย BDMS) จัดการประชุม AFC Football Emergency Medicine and Anti-Doping Course ระหว่างวันที่ 23-26 พฤศจิกายน 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล พร้อมทั้งยกระดับการให้ความรู้ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินและการป้องกันการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ เพื่อพัฒนาวงการฟุตบอลในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการประชุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ภาคทฤษฎี การบรรยายเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ในเวชศาสตร์ฉุกเฉินสำหรับกีฬาฟุตบอล ภาคปฏิบัติ เน้นการฝึกฝนทักษะการจัดการเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ทั้งในและนอกสนาม รวมถึงการป้องกันและตรวจจับสารกระตุ้นในนักกีฬา โดยผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรที่มีชื่อเสียงในด้านเวชศาสตร์การกีฬาเข้าร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ
- Dato Dr. Gurcharan Singh และ Prof. Michiko Dohi ประธานและรองประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย AFC
- นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ด้านกิจกรรมพิเศษ และประธานฝ่ายแพทย์ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล ศัลยแพทย์ด้านเวชศาสตร์การกีฬา จากสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (BASEM) รพ.กรุงเทพ และแพทย์ประจำทีมฟุตบอลทีมชาติไทย และสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย
- Dr. Fenton De Souza, Dr. Randolph Molo และ Dr. Rachvind Sra นำเสนอกรณีศึกษาและอภิปรายหัวข้อสำคัญต่าง ๆ
สำหรับโครงการ AFC Football Emergency Medicine and Anti-Doping Regional Course (ASEAN & East) ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวนักกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาฟุตบอลที่มักจะมีการเข้าปะทะระหว่างเกมการแข่งขัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นได้ ในข้อนี้ทาง คณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของ AFC ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงมีนโยบายส่งต่อความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ฟุตบอล (Football Medicine) แก่ แพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ของประเทศสมาชิก ให้เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ นำไปยกระดับ และส่งเสริมความรู้ทางเวชศาสตร์ฟุตบอล กับสโมสรต่างๆ ให้มีความพร้อมในการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บของนักกีฬาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการรักษาอาการบาดเจ็บให้นักกีฬากลับมามีความพร้อมสำหรับแข่งขันให้มากที่สุด
การประชุม AFC Football Emergency Medicine and Anti-Doping Course ที่กรุงเทพฯ นี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน มีสมาชิกจากภูมิภาคอาเซียน 11 ประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออก 9 ประเทศ เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างพร้อมเพรียง โดยมีคุณนวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเป็นเจ้าภาพต่อจากการประชุมครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ระหว่างวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2024 สำหรับสมาคมสมาชิกในภูมิภาคตะวันตก สำหรับภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2017 โดยสมาคมฟุตบอลแห่งฟิลิปปินส์ (PFF)
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (BASEM) รพ.กรุงเทพ ซึ่งฟีฟ่าให้การรับรองให้เป็น FIFA Medical Centre of Excellence ตั้งแต่ 2012 เป็นแห่งเดียวในประเทศไทยและอาเซียน เป็น 1 ใน 49 แห่งทั่วโลกที่เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลนักกีฬาฟุตบอล ของฟีฟ่า