Sex Affirmation Surgery ผ่าตัดเปลี่ยนเพศยืนยันความเป็นตัวคุณ

6 นาทีในการอ่าน
Sex Affirmation Surgery ผ่าตัดเปลี่ยนเพศยืนยันความเป็นตัวคุณ

ไม่ว่าตัวตนที่แท้จริงของคุณจะเป็นอย่างไร หากการเปลี่ยนเพศคือคำตอบที่คุณต้องการ ปัจจุบันคุณสามารถผ่าตัดเปลี่ยนเพศได้อย่างมั่นใจ ทั้งจากชายเป็นหญิงหรือหญิงเป็นชาย เพื่อยืนยันความเป็นตัวคุณในแบบฉบับที่สมบูรณ์เติมเต็มความสุขทุกวันของชีวิต

 

เปลี่ยนชายให้เป็นหญิง (Transwoman)

การเปลี่ยนแปลงเพศชายให้เป็นเพศหญิงจะใช้วิธีการผ่าตัดแปลงชายเป็นหญิงเพื่อเปลี่ยนอวัยวะเพศชายให้มีลักษณะเหมือนอวัยวะเพศหญิง ตั้งแต่รูปลักษณ์ ทั้งแคมนอก แคมใน รูเปิดท่อปัสสาวะ ความรู้สึกคือการสร้างคลิตอริส ไปจนถึงช่องคลอดที่สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งในปัจจุบันมีหลายเทคนิคที่น่าสนใจ ได้แก่

1) เทคนิคใช้ผิวหนังองคชาตม้วนกลับต่อกราฟ (Penile Skin Inversion with/without Scrotal Skin Graft)

โดยนำผิวหนังขององคชาตเดิมสอดกลับเข้าไปเพื่อสร้างช่องคลอดใหม่ โดยหากไม่เพียงพอ อาจต่อด้วยหนังหุ้มอัณฑะนำมาต่อเป็นกราฟ (Scrotal Skin Graft) รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนอวัยวะเพศหญิง มีเส้นประสาทรับความรู้สึกที่คลิตอริส แคมใน รอบท่อปัสสาวะนับเป็นวิธีมาตรฐานที่ได้รับความนิยมในการผ่าตัดเปลี่ยนเพศครั้งแรกไม่จำเป็นต้องผ่าตัดช่องท้องแต่ต้องมีผิวหนังอวัยวะเพศเพียงพอ

จุดเด่น:

  • ผ่าตัดไม่ซับซ้อน
  • ภาวะแทรกซ้อนต่ำ
  • ไม่รบกวนอวัยวะข้างเคียง ไม่ต้องผ่าตัดเข้าช่องท้อง
  • ใช้เนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศเดิมของผู้ป่วยให้เป็นประโยชน์

ข้อควรระวัง:

  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ต้องขยายช่องคลอดเทียมอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันช่องคลอดตื้นและตีบตัน
  • ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ต้องใช้เจลหล่อลื่น

2) เทคนิคการต่อลำไส้ (Rectosigmoid Vaginoplasty)

เป็นเทคนิคที่นำลำไส้ใหญ่มาสร้างเป็นผนังช่องคลอดซึ่งใช้สำไส้ใหญ่ประมาณ  7 – 8 นิ้วโดยใช้ลำไส้ในส่วนที่เรียกว่า Sigmoid และ Upper Rectum เทคนิคนี้เหมาะกับผู้ที่มีเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศไม่เพียงพอที่จะนำไปทำเยื่อบุช่องคลอด ผู้ที่เคยผ่าแปลงเพศแล้วช่องคลอดตีบตัน ผู้ที่ต้องการช่องคลอดลึกมาก ช่วยตกแต่งช่องคลอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดเด่น:

  • ผิวด้านในช่องคลอดมีลักษณะเป็นเยื่อบุ ใกล้เคียงของจริง
  • ลดโอกาสตีบตันภาวะแทรกซ้อนต่ำ
  • ไม่ต้องใช้เจลหล่อลื่นในการมีเพศสัมพันธ์ เพราะเนื้อเยื่อผลิตเมือกได้ตามธรรมชาติ
  • การขยายช่องคลอดทำเพียงบริเวณปากทางช่องคลอด ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าแบบองคชาตม้วนกลับและแบบเยื่อบุช่องท้อง

ข้อควรระวัง:

  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องเพิ่มเติม เนื่องจากการผ่าตัดต่อลำไส้ในช่องท้อง
  • หลังผ่าตัดอาจพักฟื้นนาน ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยที่มีโรคลำไส้อาจไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้
  • อาจเกิดพังผืดในช่องท้องซึ่งอาจนำมาซึ่งภาวะลำไส้อุดตันได้
  • หากมีการรั่วของรอยต่อลำไส้ จะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

3) เทคนิคต่อเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneum Vaginoplasty)

โดยนำเยื่อบุช่องท้องมาสร้างช่องคลอดใหม่ด้านหน้ายังเป็นผิวหนังอวัยวะเพศเย็บเชื่อมกับเยื่อบุช่องท้องที่ยืดมาจากด้านในเทคนิคนี้เหมาะกับผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนเพศครั้งแรกแต่มีผิวหนังอวัยวะเพศน้อยและผู้ที่เคยแปลงเพศด้วยการต่อกราฟแต่ช่องคลอดตื้นลง ซึ่งวิธีนี้ช่องคลอดจะลึกได้ถึง 6 นิ้ว หดขยายได้ อีกทั้งเยื่อบุจะมีความเรียบลื่นและสามารถผลิตน้ำหล่อลื่นเองได้

จุดเด่น:

  • ช่องคลอดมีความลึกได้พอ ๆ กับแบบองคชาตม้วนกลับหรือมากกว่าเล็กน้อย
  • อาจผลิตน้ำหล่อลื่นเองได้เล็กน้อย 
  • มีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่อาจต้องใช้เจลหล่อลื่นช่วย
  • ไม่มีรอยต่อลำไส้ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากมีการแตกรั่ว
  • ยังต้องการการขยายช่องคลอดด้วยตนเองต่อ คล้ายกับแบบต่อกราฟ

ข้อควรระวัง:

  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้อาจมีพังผืดจากการผ่าตัดช่องท้อง
  • หากขยายได้ไม่ดีรอยต่อเยื่อบุช่องท้องอาจเกิดการตีบตัน
  • หลังผ่าตัดอาจพักฟื้นนาน ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วย
  • ผ่าตัดรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเท่านั้น

เปลี่ยนหญิงให้เป็นชาย (Transman)

การเปลี่ยนแปลงเพศหญิงให้เป็นเพศชายจะมีหลายขั้นตอนและมีความซับซ้อนมากกว่าซึ่งจะต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียดก่อนเข้ารับการผ่าตัดและจำเป็นต้องผ่าตัดกับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์โดยการผ่าตัดแปลงหญิงเป็นชายประกอบไปด้วย

1) ผ่าตัดหน้าอก (Mastectomy)

การผ่าตัดหน้าอกออกนับเป็นการเปลี่ยนเพศหญิงให้เป็นชายในขั้นแรก หลังจากผ่าตัดเนื้อหน้าอกออกจนแบนราบแล้วจะตามด้วยการปรับขนาดหัวนมและปานนมให้มีขนาดเล็กลงและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเหมือนผู้ชาย โดยคงประสาทรับความรู้สึกไว้ให้ได้มากที่สุด มีร่องรอยของแผลเป็นน้อยที่สุด ซึ่งมีหลายวิธีให้เลือกทั้งการผ่าตัดเต้านมแผลรูปตัวยู การผ่าตัดเต้านมแผลรูปตัวโอ การผ่าตัดเต้านมแบบย้ายหัวนม ขึ้นอยู่กับขนาดหน้าอก ความหย่อนคล้อย และความยืดหยุ่นของผิวหนัง ควรเป็นไปตามการตรวจวินิจฉัยและประเมินโดยศัลยแพทย์เป็นสำคัญ หลังผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และแผลจะสมานหายเป็นปกติประมาณ 3 – 6 เดือน

2) ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไป (Hysterectomy and Oophorectomy)

การผ่าตัดมดลูกและรังไข่เพื่อหยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงและหยุดการมีประจำเดือนแบบถาวร โดยจะต้องผ่านการปรึกษาจิตแพทย์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งวิธีการผ่าตัดมดลูกและรังไข่มีหลายแบบ ทั้งการผ่าตัดผ่านกล้อง การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด ซึ่งมีข้อดีแตกต่างกัน แต่ที่ได้รับความนิยมคือการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ผ่านกล้อง (Laparoscopic) เพราะแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เมื่อผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกเรียบร้อยแล้วให้มาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง โดยแต่ละวิธีการผ่าตัดจะมีระยะเวลาการพักฟื้นแตกต่างกัน

3) ผ่าตัดปิดช่องคลอด (Removal of the Vagina – Vaginectomy)

การผ่าตัดปิดช่องคลอดเป็นการยุติการทำหน้าที่ของช่องคลอดแบบถาวรหลังจากที่ตัดมดลูกและรังไข่ออกไปเรียบร้อยส่งผลให้ร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงไม่เกิดการตกไข่ไม่มีประจำเดือนและหมดโอกาสตั้งครรภ์ในอนาคตซึ่งตรงกับความต้องการเปลี่ยนเพศจากหญิงไปเป็นชายเนื่องจากไม่มีอวัยวะแสดงความเป็นเพศหญิงแล้วโดยการผ่าตัดจะปิดช่องคลอดร่วมกับยืดท่อปัสสาวะและสร้างท่อปัสสาวะแบบอวัยวะเพศชายซึ่งนอกจากเป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วยยังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดโดยจะใช้เวลาประมาณ 3 – 6 เดือน เพื่อให้การผ่าตัดสมบูรณ์และไม่มีผลข้างเคียง

4) ผ่าตัดเปลี่ยนเพศหญิงเป็นชายแบบเมตตอยด์ (Metoidioplasty)

การผ่าตัดเปลี่ยนเพศหญิงเป็นชายแบบเมตตอยด์เป็นการสร้างอวัยวะเพศชายโดยยืดผิวหนังรอบคลิตอริสออกจากเนื้อเยื่อโดยรอบเพื่อห่อหุ้มให้เห็นองคชาตชัดเจนขึ้น ต่อท่อปัสสาวะให้มาเปิดที่ปลายองชาตที่ทำขึ้น คือนำผนังช่องคลอดมาทำท่อปัสสาวะ มีการปิดช่องคลอดและใส่ลูกอัณฑะเทียม ทำให้สามารถยืนปัสสาวะได้ใกล้เคียงแบบชาย อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเปลี่ยนเพศหญิงเป็นชายแบบเมตตอยด์อวัยวะเพศชายยังคงมีขนาดเล็กจึงไม่สามารถร่วมเพศได้ แต่ความรู้สึกทางเพศยังเหมือนเดิม ที่สำคัญก่อนผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะต้องรับประทานฮอร์โมนเพศชายประมาณ 1 – 2 ปี เพื่อให้คริสตอริสโตอย่างน้อย 4 เซนติเมตรถึงจะสามารถทำการผ่าตัดได้อย่างสมบูรณ์

5) ผ่าตัดเปลี่ยนเพศหญิงเป็นชายแบบฟาโรห์ (Phalloplasty)

การผ่าตัดเปลี่ยนเพศหญิงเป็นชายแบบฟาโรห์ไม่เพียงสร้างอวัยวะเพศชายที่สามารถยืนปัสสาวะได้ แต่ยังมีขนาดและรูปทรงสวยตามธรรมชาติ สามารถร่วมเพศได้จริง และเชื่อมต่อเส้นประสาทที่สร้างความรู้สึกทางเพศได้ โดยมีแผลเป็นเพียงเล็กน้อย ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนเพศหญิงเป็นชายแบบฟาโรห์มีหลายเทคนิค ที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ การสร้างอวัยวะเพศชายโดยย้ายเนื้อจากต้นขาด้านนอก (ALT – Phalloplasty) มาสร้างเป็นอวัยวะเพศชาย พร้อมต่อท่อปัสสาวะบริเวณปลายอวัยวะเพศเพื่อให้สามารถปัสสาวะได้ตามปกติ ข้อดีคือได้ขนาดอวัยวะเพศชายที่พอดี ใส่เครื่องมือช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ดี การสร้างอวัยวะเพศชายโดยใช้เนื้อจากแขนด้านใน (Radial Forearm  Free – Flap Phalloplasty) วิธีนี้ท่อปัสสาวะหดตัวไม่มากและสามารถต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทได้ง่ายและไม่ซับซ้อน แต่ขนาดอวัยวะเพศจะเล็กและบาง เมื่อใส่เครื่องมือช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัวอาจอักเสบและทะลุได้ การผ่าตัดแบบฟาโรห์ใช้เวลานานเนื่องจากแต่ละกระบวนการต้องใช้เวลาและมีความซับซ้อน หลังทำการรักษาจะใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนานและหลายขั้นตอน


เตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าตัดเปลี่ยนเพศ

  • ประเมินสภาพจิตใจจากจิตแพทย์อย่างน้อย 2 ท่าน พร้อมด้วยใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าพร้อมเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ
  • มีการทดลองใช้ชีวิตในแบบเพศตรงข้ามที่ต้องการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป มีความรู้สึกของเพศที่ต้องการจะเป็นมานานแล้ว
  • การผ่าตัดเปลี่ยนเพศสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปีต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศได้
  • สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัวรุนแรง หรือข้อห้ามในการดมยาสลบ

 

ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนเพศได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นและวิธีการผ่าตัดยังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งสำคัญคือการเลือกผ่าตัดรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญมากด้วยประสบการณ์และสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย พร้อมด้วยพยาบาล เจ้าหน้าที่ และทีมสหสาขาวิชาชีพที่พร้อมให้การดูแลในแบบที่คุณต้องการเพื่อให้คุณได้เป็นตัวคุณอย่างแท้จริง

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด