ทอนซิลอักเสบ อย่าปล่อยไว้ให้ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่

3 นาทีในการอ่าน
ทอนซิลอักเสบ อย่าปล่อยไว้ให้ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่

ปัญหาต่อมทอนซิลอักเสบพบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันออกไป ซึ่งหากมีการอักเสบบ่อย ๆ เป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้งภายในปีเดียว อาจเรื้อรังจนรุนแรงได้ ดังนั้นจึงไม่ควรชะล่าใจและรีบรักษาโดยเร็วตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ใช้ชีวิตได้เต็มที่ในทุก ๆ วัน

 

รู้จักต่อมทอนซิล

ต่อมทอนซิล คือ เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่ภายในมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิดอยู่ในลำคอทั้งสองข้าง โดยมีหน้าที่หลักในการดักจับและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร และมีบทบาทบางส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยปัญหาที่พบบ่อย คือ ต่อมทอนซิลเกิดการอักเสบ หรือต่อมทอนซิลมีขนาดโตผิดปกติ ส่งผลกระทบกับการหายใจและการกลืนของผู้ป่วยได้


ทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน

ภาวะทอนซิลอักเสบเฉียบพลันเป็นสาเหตุของการเจ็บคอที่พบบ่อย พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยพบได้บ่อยกว่าในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี สาเหตุของการอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ผู้ป่วยทอนซิลอักเสบมักมีอาการ เช่น เจ็บคอ บางครั้งอาจเจ็บจนร้าวไปหู มีไข้หนาวสั่น กลืนเจ็บ กลืนลำบาก อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวมโต ในผู้ป่วยเด็กอาจมีน้ำลายไหลหรืออาเจียนหลังทานอาหาร โดยหากมีอาการอักเสบบ่อย ๆ ทำให้ต่อมมีขนาดที่โตขึ้นและอาจกลายเป็นการอักเสบแบบเรื้อรัง มีการอักเสบซ้ำ ๆ ปีละหลายครั้ง หรือระคายเคืองคอเรื้อรัง มีกลิ่นปาก


การรักษาทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน

การรักษาทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน โดยปกติแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบตามเชื้อที่สงสัย โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย โดยควรได้รับยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 7 – 10 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการรุนแรง ไข้สูง มีภาวะขาดน้ำขาดอาหาร อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือหรือยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด ในกรณีที่พบภาวะแทรกซ้อนของทอนซิลอักเสบ เช่น การอักเสบติดเชื้อกระจายเป็นวงกว้าง เกิดหนองบริเวณรอบต่อมทอนซิล เกิดภาวะการติดเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งเป็นภาวะที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต อาจจำเป็นจะต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อระบายหนองหรือการติดเชื้อร่วมกับการให้ยา


ทอนซิลอักเสบ อย่าปล่อยไว้ให้ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่

การผ่าตัดต่อมทอนซิล

กรณีต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง มีการอักเสบเป็นซ้ำบ่อย ๆ หรือต่อมทอนซิลโตขึ้นจนส่งผลกระทบกับการหายใจ การรับประทานอาหาร แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดต่อมทอนซิลออก เพื่อลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งการผ่าตัดทอนซิลจะใช้การดมยาสลบขณะผ่าตัดโดยวิสัญญีแพทย์ จากนั้นแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะใช้อุปกรณ์พิเศษสอดเข้าไปในช่องปากเพื่อนำต่อมทอนซิลออก โดยสามารถใช้มีด หรือเครื่องจี้ไฟฟ้าในการผ่าตัดและหยุดเลือดบริเวณแผล  ภายหลังหลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บระคายเคืองคอหรือกลืนอาหารลำบากประมาณ 1 สัปดาห์ และจะดีขึ้นจนเป็นปกติประมาณ 2 – 4 สัปดาห์


ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อมทอนซิล

  1. ผู้ป่วยที่มีภาวะทอนซิลอักเสบเรื้อรัง มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง หรือหนองที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ดีขึ้น หรือต่อมทอนซิลกลายเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียเรื้อรัง
  2. ต่อมทอนซิลที่เกิดการอักเสบซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไม่สบายจนต้องหยุดงาน หยุดเรียนบ่อย ๆ
  3. เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบ เช่น ภาวะหนองรอบทอนซิล หรือหนองบริเวณลำคอ ภายหลังภาวะแทรกซ้อนอาการดีขึ้น ผู้ป่วยควรตัดต่อมทอนซิลออกเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงซ้ำ
  4. ทอนซิลโตจนเบียดทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนอนกรนหรือเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  5. ผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิลหรือเนื้องอกชนิดอื่น ๆ ที่ต่อมทอนซิล

การดูแลหลังผ่าตัดต่อมทอนซิล

ช่วง 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • รับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด 
  • เลี่ยงอาหารที่มีความแข็งที่จะกระทบกับบาดแผลในลำคอ 
  • งดการไอแรง ๆ ขากเสมหะ 
  • งดการออกกำลังกายหนัก ๆ ที่จะเสี่ยงให้เกิดเลือดออกจากแผลผ่าตัด 
  • หากพบเลือดออกจากแผลผ่าตัดปริมาณมาก ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพบาดแผลผ่าตัด 

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการผ่าตัดต่อมทอนซิล

การผ่าตัดต่อมทอนซิลออกมักมีความเข้าใจผิดว่า ทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ภูมิต้านทานลดลง  เพราะไม่มีอวัยวะในการดักจับเชื้อโรค ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการผ่าตัดต่อมทอนซิลออกตามข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมโดยแพทย์เป็นผู้พิจารณานั้นเป็นต่อมทอนซิลที่ไม่ทำงานหรือทำงานผิดปกติจนกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคแทน นอกจากนี้ร่างกายของเรายังมีเนื้อเยื่อน้ำเหลืองอื่นที่เพียงพอในการทำหน้าที่ ทำให้ไม่ส่งผลกับภูมิคุ้มกันที่ลดลงแต่อย่างใด 


หลายคนที่กังวลเรื่องอาการเจ็บคอ กลืนลำบากภายหลังผ่าตัดต่อมทอนซิล ปัจจุบันแพทย์ผู้รักษาสามารถเลือกใช้เทคนิคพิเศษ เช่น การผ่าตัดด้วยอุปกรณ์คลื่นวิทยุความถี่สูงที่เป็นอุปกรณ์ตัดและหยุดเลือดที่มีอุณหภูมิต่ำ ทำให้เนื้อมีการบาดเจ็บน้อยกว่าและฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบมาตรฐานปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อต่อมทอนซิลอักเสบควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. รุตติ ชุมทอง

โสต ศอ นาสิกวิทยา

โสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ
นพ. รุตติ ชุมทอง

โสต ศอ นาสิกวิทยา

โสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์หู คอ จมูก

ชั้น 7 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ



วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น

วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด