หลายคนอาจเข้าใจว่าวัคซีนจำเป็นสำหรับเด็ก แต่ความจริงแล้วการได้รับวัคซีนป้องกันโรคในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว การป้องกันก่อนเกิดโรคถือเป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ทั้งยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
เมื่อวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์จึงได้ออกคำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2557 โดยแบ่งวัคซีนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) วัคซีนที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรจะได้รับหากไม่มีข้อห้าม
1.1 วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยอายุระหว่าง 19 – 64 ปีที่มีโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง และผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจากโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
1.2 วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
1.3 วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไต รวมไปถึงผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อย นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาให้ในผู้ที่มีโรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคตับแข็ง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
1.4 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โดยแนะนำให้ฉีดทุก 10 ปี
1.5 วัคซีนป้องกัน Human Papillomavirus (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำให้ฉีดในสตรีอายุ 9 – 26 ปี
2) วัคซีนที่อาจพิจารณาให้ตามความเสี่ยงหรือโรคประจำตัวของผู้ป่วย
2.1 วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ในผู้ป่วยอายุระหว่าง 19 – 64 ปีที่มีโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคตับแข็ง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ และผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
2.2 วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ในรายที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคและมีโอกาสสัมผัสเชื้อ เช่น ครูหรือผู้ที่เลี้ยงเด็กเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ยังไม่ต้องการตั้งครรภ์ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ไม่ทราบหรือไม่เคยมีประวัติเคยเป็นมาก่อน ควรตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคอีสุกอีใสก่อนได้รับวัคซีน
2.3 วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพื่อลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคงูสวัด และช่วยลดความรุนแรงของอาการงูสวัดได้หากเป็นโรค
2.4 วัคซีนป้องกัน Human Papillomavirus (HPV) ในชายอายุ 19 – 26 ปี โดยเฉพาะกลุ่มชายรักร่วมเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งบริเวณทวารหนักและอวัยวะเพศ
2.5 วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น
2.6 วัคซีนป้องกันไข้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในผู้ที่จะเดินทางไปยังไปพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือผู้ที่จะเดินทางไปอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบชุกชุม
นี่เป็นเพียงบางส่วนของวัคซีนที่สามารถฉีดเพื่อช่วยป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการก่อนเข้ารับการฉีด เพื่อรับการสัมภาษณ์ประวัติ ตรวจร่างกาย และรับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อบ่งชี้และข้อห้ามของวัคซีนแต่ละตัว เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนอย่างแท้จริง