หากมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เมื่ออาการดีขึ้นหลายคนมักชะล่าใจและคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก ทั้งที่ความจริงแล้วอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนกำลังเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายที่บ่งบอกโรคต่าง ๆ ได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันและรีบพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการคือสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด
เวียนศีรษะ VS เวียนศีรษะบ้านหมุน
อาการเวียนศีรษะ (Dizziness) โดยทั่วไปมีลักษณะอาการตั้งแต่มึนศีรษะ งุนงง โคลงเคลง ไม่มั่นใจ หวิว ๆ โหวง ๆ ยืนเดินทรงตัวไม่ดี อาจงง มักมีสาเหตุมาจากสภาวะต่าง ๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งต่างกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) ที่จะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนหรือตนเองกำลังหมุนไปทั้งที่อยู่กับที่ หรือรู้สึกโคลงเคลงทั้งที่อยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะรับการทรงตัวของหูชั้นในที่คอยดูแลสมดุลของร่างกาย หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ มีเสียงในหู ฯลฯ ความน่ากลัวคือเมื่อเวียนศีรษะบ้านหมุนจะเสียการทรงตัว ทำให้เสี่ยงต่อการล้มหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กโดยเร็วจะได้ทราบถึงต้นเหตุและรักษาได้อย่างถูกวิธี
เวียนศีรษะบ้านหมุนบอกโรค
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนสามารถบอกโรคที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกายได้หลายโรค ได้แก่
- โรคทางหู
- หูชั้นนอก อาทิ ขี้หูอุดตัน, หูชั้นนอกอักเสบ, เนื้องอกหูชั้นนอก, กระดูกช่องหูหัก ฯลฯ
- หูชั้นกลาง อาทิ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน, หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง, เลือดคั่งในหูชั้นกลาง, เนื้องอกที่โพรงหลังจมูก ฯลฯ
- หูชั้นใน อาทิ หูชั้นในอักเสบ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ความดันน้ำในหูชั้นในผิดปกติ, ผลึกหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน, เส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ, เนื้องอกประสาทการทรงตัวหรือเส้นประสาทการได้ยิน ฯลฯ
- โรคทางสมองและระบบประสาท
- โรคระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนใหญ่จากสมองน้อย (Cerebellum)
- ความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง
- การติดเชื้อของระบบประสาท
- โรคอื่น ๆ เช่น
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ
- โรคเลือดจางและอื่น ๆ
- โรคหลอดเลือดตีบจากไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน
- โรคกระดูกต้นคอเสื่อม
- โรคไต
- โรคภูมิแพ้
- ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ
การตรวจวินิจฉัยอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเพื่อหาสาเหตุเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยิ่งเจอสาเหตุของโรคเร็ว รักษาได้เร็ว ย่อมช่วยให้ผลลัพธ์การรักษาเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโดย
- ซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด
- ตรวจการได้ยิน
- ตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง
- ตรวจระบบประสาทและการทรงตัว
- ตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน
- ตรวจดูการกลอกของลูกตาและการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ
นอกจากนี้แพทย์อาจทำการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม อาทิ เจาะเลือด ตรวจปัสสาวะหาความผิดปกติ ตรวจหาความผิดปกติของหัวใจตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือ MRI วัดแรงดันของน้ำในหูชั้นใน การส่งผ่านสัญญาณประสาทของหูชั้นในเพื่อตรวจแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (Electrocochleography – ECOG) เป็นต้น
รักษาตามอาการ
หลังจากตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการรักษาตามอาการและสาเหตุเป็นสำคัญ ประกอบด้วย
- การให้ยา เช่น ยากดการรับรู้ของประสาทการทรงตัว, ยากดการทำงานระบบประสาท, ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน, ยาขยายหลอดเลือด ฯลฯ
- การฝึกบริหารการทรงตัว เช่น บริหารสายตา, บริหารกล้ามเนื้อ คอ แขน ขา, ฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะและคอ, ฝึกการเดิน, ฝึกการยืน ฯลฯ
- การรักษาตามโรคที่พบ เช่น หากเป็นโรคเรื้อรังต้องควบคุมโรคให้ดี หากเป็นโรคเกี่ยวกับหูต้องระวังการติดเชื้อของหูและการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน เป็นต้น
การปฏิบัติตัวหากเวียนศีรษะบ้านหมุน
- ถ้าเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะเดิน ให้หยุดเดินทันที หาที่นั่งพัก ป้องกันการล้มและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
- ถ้าเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะขับรถ ให้จอดรถข้างทางเปิดไฟฉุกเฉินทันที
- ถ้าเวียนศีรษะบ้านหมุนมากให้นอนพบพื้นราบโดยไม่เคลื่อนไหว มองจ้องวัตถุนิ่ง จนอาการดีขึ้นจึงค่อย ๆ ลุก หากรู้สึกง่วงนอนควรนอนหลับพักผ่อนให้อาการดีขึ้น
- เลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น เครียด วิตกกังวล นอนน้อย สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ฯลฯ
- เลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น หมุนหันศีรษะเร็ว ๆ, ก้ม เงยคอมากเป็นเวลานาน หรือหันหน้าเร็ว ฯลฯ
- เลี่ยงเสียงดัง
- ลดหรืองดดื่มสุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม
อย่างไรก็ตามหากมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนไม่ควรชะล่าใจอย่างเด็ดขาด เพราะสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต การปรึกษาแพทย์โดยเร็วจะช่วยให้รักษาได้อย่างเหมาะสมตามแนวทางการดูแลรักษา