เลือกโรงเรียนแบบไหนให้เหมาะกับลูก

6 นาทีในการอ่าน
เลือกโรงเรียนแบบไหนให้เหมาะกับลูก

ปัญหาการเลือกโรงเรียนที่มีสังคมที่ดีและมีคุณภาพให้ลูกเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจกังวลใจ โดยเฉพาะการเลือกโรงเรียนให้กับลูกในวัยก่อนเข้าเรียนที่มีโรงเรียนต่าง ๆ มากมายให้เลือก การรู้หลักในการเลือกโรงเรียนให้เหมาะกับลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

เลือกตามช่วงอายุ

การเลือกโรงเรียนอย่างเหมาะสมตามวัยของลูกนั้น ควรพิจารณาตามช่วงอายุ โดยแบ่งเด็กออกเป็น 2 ช่วง

  1. กลุ่มอายุก่อนเข้าวัยเรียนหรือวัยอนุบาล (Pre – School Age) 
  2. กลุ่มที่อยู่ในวัยเรียน (School Age) หมายถึง เด็กที่เรียนชั้นป.1 ขึ้นไป สำหรับเด็กที่อยู่ในวัยอนุบาลจะเรียนรู้ได้ดีผ่านกิจกรรมการเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น งานวิจัยพบว่า หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับประสบการณ์เข้าเรียนในโรงเรียนหรือสถาบันที่มีคุณภาพ (High Quality Day Care) จะทำให้มีทักษะทางด้านความคิด ภาษา และสังคมดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับประสบการณ์ดังกล่าว 

 

หลักการพิจารณาโรงเรียนหรือสถาบันคุณภาพ

การพิจารณาว่าโรงเรียนหรือสถาบันใดมีคุณภาพนั้นมีหลักการอยู่ 3 ข้อคือ

  1. คุณภาพของครูผู้สอน พิจารณาได้จากสัดส่วนของครูต่อเด็กและจำนวนเด็กในกลุ่ม เช่น เด็กอายุประมาณ 2 – 3 ขวบ ควรเป็นสัดส่วนคุณครู 1 คนต่อเด็ก 4 – 5 คน โดยขนาดกลุ่มไม่ควรเกิน 10 คน เด็กวัย 3 – 4 ขวบ ควรมีคุณครู 1 คนต่อเด็ก 6 – 7 คน และเด็กในกลุ่มไม่ควรเกิน 14 คน เป็นต้น และควรพิจารณาวุฒิการศึกษาของคุณครูร่วมด้วย หากคุณครูผู้สอนเรียนจบด้านเด็กปฐมวัยมาโดยตรงและมีทัศนคติเชิงบวกต่อเด็ก รวมทั้งมีการอัพเดตความรู้อย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งเพิ่มคุณภาพการเรียนมากขึ้น อีกทั้งการไม่เปลี่ยนครูผู้สอนบ่อย ๆ ก็จะทำให้คุณครูคุ้นเคยและเข้าใจเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กแต่ละคนได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

  2. นโยบายของโรงเรียนเรื่องความสะอาดและการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น มีการทำความสะอาดของเล่นอยู่เป็นประจำ สอนให้เด็กล้างมือก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จทุกครั้งมีการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของของเล่นที่นำมาให้เด็กเล่นหรือความปลอดภัยของบริเวณที่เด็กเล่นควรมีความอ่อนนุ่มเหมาะสมต่อการรองรับหากเกิดการพลัดตกหกล้มระหว่างที่เด็กเล่น นอกจากนี้โรงเรียนควรมีแผนรองรับหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น มีเจ้าหน้าที่สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและมีขั้นตอนในการนำส่งโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนให้กับคุณครูอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากเด็กที่ป่วยไปสู่เด็กอื่น ๆ 

  3. กิจกรรมหรือหลักสูตรของโรงเรียนเหมาะสมต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามช่วงวัย ซึ่งประกอบด้วย 
  • ทักษะความสมบูรณ์ของร่างกาย ควรมีกิจกรรมให้เด็กได้ออกกำลังกายเพื่อเสริมให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีความยืดหยุ่นและฝึกการทรงตัว รวมทั้งมีการจัดการด้านโภชนาการที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเด็กควบคู่กันไปด้วย 
  • การเสริมสร้างพัฒนาการ ควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และทักษะด้านสังคม เช่น การวางแผน การทำตามกฎ การแบ่งปัน รวมทั้งการเล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน นอกจากนี้ควรฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองและช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยเรียนและเป็นการพัฒนาตัวตนให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นควรมีความเป็นตัวของตัวเองและอยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยลง 
  • สมาธิและความจดจ่อ ควรส่งเสริมให้เด็กสามารถทำกิจกรรมให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป โดยตัดสิ่งเร้ารอบข้างที่ไม่จำเป็นออกไปได้
  • ทักษะก่อนเข้าวัยเรียน (Pre – Academic Skills) จากงานวิจัยพบว่า หากฝึกทักษะเหล่านี้ก่อนถึงวัยเรียนจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษาในอนาคตได้ดีขึ้น เช่น การรู้จักตัวอักษร รู้จักเสียงของตัวอักษร(Phonics) และทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ การนับจำนวน เป็นต้น ทั้งนี้หลักในการพิจารณาเลือกโรงเรียนเหล่านี้ยังสามารถนำไปประยุกต์เพื่อจัดการเรียนในรูปแบบ Home School ได้เช่นกัน 

เลือกโรงเรียน, วัยเรียน, พัฒนาการเด็ก

แนวทางการศึกษาปฐมวัยในไทย

การเลือกโรงเรียนให้ลูกในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะยุโรปหรืออเมริกา ส่วนของไทยมีทางเลือกค่อนข้างเยอะ แต่มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า สำหรับเด็กเล็ก พื้นฐานการเรียนมาจากการเล่น ดังนั้นที่ใดก็ตามที่เด็กเข้าไปแล้วเกิดความเคร่งเครียดก็จะทำให้เรียนรู้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร รากฐานความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจระหว่างครูกับเด็กก็มีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ ดังนั้นการเลือกครูที่มีทัศนคติที่ดีกับเด็กจึงมีความจำเป็น 

การศึกษาปฐมวัยในไทยจะมีแนวทางใหญ่ ๆ อยู่ 2 แนว

  1. แนววิชาการ มุ่งเน้นเนื้อหาสาระต่าง ๆ เพื่อเตรียมเด็กสำหรับสอบเข้าในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในชั้นประถม 1 ที่พ่อแม่ต้องการได้ 
  2. เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และการเตรียมความพร้อมของเด็กมากกว่าที่จะเน้นแต่เพียงเนื้อหาทางวิชาการอย่างเดียว แนวทางนี้ก็มีหลายรูปแบบ เช่น 
  • รูปแบบการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) เป็นการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งในเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ มอสเตสซอรี่จะเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก และเห็นว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ครูไม่ได้เป็นผู้ที่สร้างให้เกิดการเรียนรู้ แต่ครูเป็นผู้เกื้อหนุนและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก คอนเซปต์ของการจัดการเรียนแบบมอนเตสซอรี่เป็นแบบ Organized Life คือ การจัดวางระบบระเบียบในชีวิต มอนเตสซอรี่ไม่เน้นเรื่องการฝึกเล่นมากนัก แต่ว่าจะมีการใช้อุปกรณ์ที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่เบี่ยงเบนไปทางอื่น เหมือนจิ๊กซอว์ที่ต้องใส่ตามร่องตามมุมให้ถูกที่ ถ้าใส่ไม่ถูกที่ก็จะไม่ออกมาเป็นจิ๊กซอว์ที่สมบูรณ์ได้ นอกจากนี้ยังเน้นการสอนในรูปแบบที่ให้เด็กพึ่งพาช่วยเหลือตนเองได้ในชีวิตจริง เช่น การล้างมือ การรับประทานอาหาร ฯลฯ โดยโรงเรียนในแนวนี้จะจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการพึ่งพาตนเองของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นอ่างล้างมือหรือโต๊ะอาหารที่มีขนาดและความสูงพอเหมาะกับเด็กเล็ก มอนเตสซอรี่ที่แท้จริงจะมีการจัดคลาสให้เด็กหลายช่วงอายุอยู่ในห้องเรียนเดียวกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เด็กโตจะมีความเป็นผู้นำคอยช่วยเหลือน้อง เด็กเล็กเองก็จะมีการเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากพี่ที่โตกว่า ซึ่งพบว่าบ่อยครั้งที่เด็กจะเรียนรู้จากเด็กด้วยกันเองได้ดีกว่าเรียนรู้จากผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ

  • รูปแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนที่มีแนวคิดมาจากมนุษย์ปรัชญา วิธีการจัดการศึกษาจะเน้นในเรื่องความเป็นมนุษย์ของตัวเองและความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ผู้คน สังคม เพื่อให้รู้จักจุดยืนที่สมดุลของตนในโลกนี้ และเน้นเรื่องการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงในตัวตน โดยจะไม่อ้างอิงค่านิยมของสังคมหรือการตลาดมากนัก เด็กในระดับก่อนประถมวัยจะเน้นกิจกรรมเกี่ยวกับการเล่นโดยมีคุณครูเป็นผู้ดูแล ส่วนการศึกษาด้านวิชาการจะเริ่มในเด็กระดับประถมศึกษาขึ้นไป

  • แนวทางเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia) เป็นแนวทางการเรียนรู้แบบ Co – Constructivism ที่เชื่อว่าเด็กเรียนรู้โดยผ่านการลงมือทำ ได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ภายใต้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่มจนนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวที่สนใจ แล้วมีการนำเสนอความคิดและสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านทางสื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวาด ปั้น ดัดลวด ระบายสี ภาพถ่าย แม้กระทั่งดนตรี เพลง และการเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ จุดเด่นคือ แนวการเรียนจะไม่มีการวางหลักสูตรเนื้อหาที่ตายตัว แต่ขึ้นกับว่าเด็กมีความสนใจในเรื่องใด แล้วครูจะเป็นผู้ร่วมค้นหาคำตอบด้วยกันกับเด็ก เสมือนหนึ่งเป็นผู้ร่วมทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยกัน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ให้ศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่ผู้เรียนนั่นเอง

เลือกโรงเรียน, วัยเรียน, พัฒนาการเด็ก

เรื่องเล่นสำคัญกับเด็กก่อนวัยเรียน

สิ่งสำคัญสำหรับเด็กก่อนเข้าวัยเรียนคือ การเล่น เด็กจะเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่น โดยผู้ใหญ่ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะผู้ใหญ่สามารถต่อยอดทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้นและกว้างขึ้น นอกจากนี้การเลือกของเล่นให้กับลูก ควรเป็นของเล่นที่เหมาะสมตามวัยและมีความปลอดภัยสำหรับเด็ก เช่น 

  • เด็กในช่วง 1 ขวบปีแรก ควรเน้นเรื่องของประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น หนังสือภาพ ลูกบอลนิ่ม ๆ หรือของเล่นที่เมื่อกดแล้วมีการตอบสนองกับผู้เล่น โดยอาจมีเสียงหรือมีตุ๊กตาโผล่ขึ้นมา เป็นต้น 
  • เด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อย เช่น เด็กวัย 2 ขวบ ควรเลือกของเล่นประเภทเสริมทักษะด้านต่าง ๆ อาทิของเล่นที่ส่งเสริมด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและด้านความคิด เช่น การหยอดกระดุมสีต่าง ๆ ลงกระปุกเจาะรูคล้ายการหยอดเหรียญลงกระปุกออมสิน การเรียงห่วงยางขนาดต่าง ๆ ลงในแท่งไม้ หรือการใส่ก้อนไม้รูปทรงเลขาคณิตต่าง ๆ ลงในช่อง เป็นต้น

นอกจากการเลือกของเล่นให้เหมาะสมตามวัยแล้ว ผู้ปกครองควรเลือกของเล่นที่สามารถใช้ได้ระยะยาวและมีประโยชน์หลากหลายด้วย ส่วนมากผู้ปกครองมักซื้อของเล่นให้ลูกเป็นจำนวนมากและเก็บรวม ๆ กัน ทำให้เด็กเล่นของเล่นหลายอันในเวลาเดียวกัน แต่เล่นไม่เสร็จเลยสักอัน และในที่สุดจะทำให้กลายเป็นเด็กจับจดและขาดวินัยได้ ดังนั้นผู้ปกครองควรส่งเสริมความเป็นระเบียบและทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะเล่นของเล่นเป็นชิ้น ๆ ให้เสร็จสมบูรณ์ได้โดยการจัดพื้นที่ของเล่นในบ้าน เช่น จัดเป็นมุมต่าง ๆ อาทิ มุมอ่านหนังสือ มุมของเล่นเพื่อสร้างจินตนาการ มุมของเล่นเพื่อพัฒนาการกล้ามเนื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ปกครองอาจดูว่าตอนนี้ลูกกำลังเรียนหรือเล่นอะไรที่โรงเรียนแล้วจัดการเล่นหรือทำกิจกรรมเพิ่มเติมในเรื่องเดียวกันที่บ้าน เพื่อสร้างความต่อเนื่องและเป็นการต่อยอดความคิดและทักษะด้านนั้น ๆ ได้อีกด้วย ส่วนการพาเด็ก ๆ ไปเล่นตามบ้านบอลในห้างสรรพสินค้านั้น สิ่งที่ต้องระวัง คือ ความสะอาดและการติดโรคระบาดต่าง ๆ ในเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งผู้ปกครองควรให้ความสำคัญอย่างมาก


ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. นิธิ หล่อเลิศรัตน์

กุมารเวชศาสตร์

นพ. นิธิ หล่อเลิศรัตน์

กุมารเวชศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
พญ. มัณฑนา ชลานันต์

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม
พญ. มัณฑนา ชลานันต์

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 4 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด