Q: ใครสามารถลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีนในรอบแรกนี้ได้บ้าง?
A: ผู้ที่สามารถลงทะเบียนเพื่อจองคิวฉีดวัคซีน ได้แก่
-
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่ในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ได้แก่
- – โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี
- – โรคหัวใจและหลอดเลือด
- – โรคไตวายเรื้อรัง เช่น โรคไตวายเรื้อรังระยะที่ 5
- – โรคหลอดเลือดสมอง
- – โรคมะเร็ง
- – โรคเบาหวาน
- – โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
Q: หลังจากการลงทะเบียนรอบแรกนี้แล้ว จะสามารถได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อไหร่?
A: สำหรับรอบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังนี้ เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และสามารถจองสิทธิ์เข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน เป็นต้นไป
Q: รอบประชาชนทั่วไปสามารถจองวัคซีนได้เมื่อไหร่?
A: ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และจะเริ่มเข้ารับวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
Q: สามารถจองคิวรับวัคซีนได้ช่องทางไหนบ้าง?
A: การจองคิวเพื่อฉีดวัคซีน สามารถทำได้ผ่านช่องทาง
- LINE Official หมอพร้อม หรือ Application หมอพร้อม
- อสม. หรือ รพ.สต. ในพื้นที่
Q: รายชื่อผู้ได้รับสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนรอบแรกนี้ได้มาจากที่ไหน?
A: รายชื่อผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งหมดถูกส่งมาจาก รพ.รัฐบาล และ รพ.เอกชนทั่วประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์การคัดกรองจากประวัติการรักษา ซึ่งในส่วนของ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ได้ส่งรายชื่อผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์อายุเกิน 60 ปี รวมทั้งผู้ป่วยที่จัดอยู่ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังที่มีประวัติการรักษาพยาบาลที่ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ 3 ปีย้อนหลัง (ตั้งแต่ พ.ค. 2561 – พ.ค. 2564) ไปให้ภาครัฐเพื่อลงในระบบหมอพร้อม
Q: หมอพร้อมคืออะไร
A: หมอพร้อมคือระบบที่หน่วยงานรัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างถูกต้อง โดยมี 2 แพลตฟอร์ม คือ
- LINE Official Account หมอพร้อม
- แอพพลิเคชั่น หมอพร้อม
Q: หลังจากลงทะเบียนแล้วสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ที่ใดบ้าง
A: ท่านสามารถเลือกสถานที่เพื่อรับการฉีดวัคซีนได้ที่ รพ.ที่มีประวัติการรักษา รพ.ตามภูมิลำเนา หรือ ศูนย์ฉีดวัคซีนสนาม ที่ท่านได้รับสิทธิ์ตามที่ Application หมอพร้อมระบุไว้ หากท่านเลือกรับบริการฉีดวัคซีนที่ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ท่านสามารถจองวันที่ประสงค์จะรับการฉีดวัคซีน ใน Application หมอพร้อม โดยสามารถเลือกวันที่ ระหว่าง 7 มิ.ย. – 31 ก.ค. 64
Q: กรณีไม่พบรายชื่อต้องทำอย่างไร?
A: หากพบว่าไม่มีรายชื่อ ท่านสามารถแจ้งไปที่โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษาอยู่ล่าสุด เพื่อให้โรงพยาบาลดังกล่าวนำรายชื่อท่านเข้าสู่ระบบหมอพร้อม หากใน Application หมอพร้อมแสดงชื่อ-นามสกุลของท่านเพื่อเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลอื่น (ที่ไม่ใช่ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่) อาจเป็นเพราะระบบมีการคัดเลือกโรงพยาบาลให้ ในกรณีนี้ ทาง รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ แนะนำให้ท่านใช้สิทธิ์ที่โรงพยาบาลตามที่ Application ระบุ
Q: กรณีเป็นคนไข้ประจำของ รพ.กรุงเทพ และอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนในระยะที่ 2 แต่ใน Application หมอพร้อมไม่ขึ้นโรงพยาบาลกรุงเทพ
A: อาจเกิดจากรายชื่อตกหล่นจากขั้นตอนในการดึงรายชื่อของโรงพยาบาลหรือ รายชื่อ upload เข้าระบบหมอพร้อมไม่ครบ ท่านสามารถแจ้งเข้ามาที่ โทร.
02 308 7171 เวลา
8.00-20.00 น. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและส่งรายชื่อของท่านเข้า ระบบหมอพร้อมอีกครั้ง
Q: หลังจากลงทะเบียนสำเร็จแล้ว แต่จองคิวเพื่อรับการฉีดวัคซีนไม่ได้และระบบแสดงผลว่าไม่พบข้อมูล ต้องทำอย่างไร
A: วันที่ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เปิดให้บริการฉีดวัคซีนคือ วันที่ 7 มิ.ย. – 31 ก.ค. 64 หากระบบแสดงผลว่าไม่พบข้อมูลของท่าน สาเหตุที่อาจเป็นไปได้คือ การเลือกวันที่เข้ารับบริการไม่ตรงกับวันที่ รพ.เปิดให้บริการ ในกรณีที่เลือกวันที่ถูกต้องแล้ว แต่ Application ยังแสดงผลว่า “ไม่พบข้อมูล” แนะนำให้ลบ Application แล้วติดตั้ง Application ใหม่อีกครั้ง โดยระบบหมอพร้อมในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีปัญหาหรือเวอร์ชั่นไม่อัพเดท
Q: รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้กี่รายต่อวัน
A: ประมาณ 1,000 คนต่อวัน
Q: วัคซีนที่จะให้บริการครั้งนี้ ที่ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เป็นวัคซีนยี่ห้อใด
A: ขณะนี้ รพ.ยังไม่สามารถยืนยันเรื่องข้อมูลยี่ห้อวัคซีนได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูลอย่างเป็นทางการ ทาง รพ.จะรีบแจ้งให้ทุกท่านทราบ ผ่านช่องทางสื่อของ รพ.
Q: ชาวต่างชาติ (EXPAT) ที่เป็นผู้รับบริการ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ได้รับสิทธิ์การฉีดวัคซีนที่ รพ. หรือไม่
A: จากข้อปฏิบัติในขณะนี้ ข้อมูลที่ต้องใช้รวบรวมส่งให้ภาครัฐยังจำเป็นต้องใช้เลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก ซึ่งชาวต่างชาติจะไม่มีเลขประจำตัวบัตรประชาชนนี้ แต่กรณีที่ชาวต่างชาติทำงานที่ประเทศไทยและมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก สามารถใช้เลขนี้แทนเลขบัตรประชาชนได้
Q: หากได้รับการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐจัดสรรให้ครั้งนี้แล้ว ในอนาคตหากมีวัคซีนยี่ห้อที่ต้องการฉีดนำเข้ามาได้ จะฉีดเพิ่มได้หรือไม่
A: จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน สามารถฉีดวัคซีนเพิ่มได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงหรืองานวิจัยที่บ่งชี้ว่าประสิทธิภาพการป้องกันโรคจะเพิ่มขึ้นจากวัคซีนที่ฉีดครั้งแรกมาก-น้อย เพียงใด และยังไม่มีข้อมูลเรื่องอาการข้างเคียงหากมีการฉีดวัคซีนมากกว่า 1 ชนิด
Q: นอกจากวัคซีนของภาครัฐแล้ว รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ มีวัคซีนทางเลือกภาคเอกชนให้บริการหรือไม่
A: ขณะนี้ รพ.ยังไม่มีบริการวัคซีนทางเลือกภาคเอกชน โดยข่าวที่ออกสื่อไปเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ท่านสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกภาคเอกชนของ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ผ่านช่องทางสื่อสารของโรงพยาบาลโดยตรงเท่านั้น เช่น Website, Facebook, Line Official Account เป็นต้น
Q: หลังจากรับการฉีดวัคซีนแล้ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้หรือไม่
A: เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยทั่วไปร่างกายจะได้รับการกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นหลังจากรับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มประมาณ 2 -3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม อาจยังมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วเกิดอาการป่วยได้ แต่การฉีดวัคซีนจะลดโอกาสการเกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อ COVI-19 และลดอัตราการเสียชีวิตได้ จึงขอแนะนำให้ทุกท่านยังคงใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมืออย่างสม่ำเสมอ จนกว่าจะมีประกาศจากทางกระทรวงสาธารณสุข
Q: หากฉีดวัคซีนแล้วมีผลข้างเคียง จะได้รับการรักษาที่ไหน
A: ท่านสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่ รพ.ที่ท่านได้รับการฉีดวัคซีน โดยสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพที่มี หากท่านไม่มีประกันสุขภาพ ท่านสามารถใช้สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ (UCEP) ภายใน 72 ชม. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย