ท่านทราบหรือไม่ว่าทารกแรกเกิด จำนวน 3 ใน 1,000 ราย มีความพิการทางการได้ยิน หรืออาการหูตึงมาแต่กำเนิด ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการโดยรวม และโดยเฉพาะการพูด ที่ส่งผลให้เด็กมีโอกาสเป็นใบ้สูงขึ้น ถ้าไม่ได้รับการตรวจวินิฉัย และฟื้นฟูบำบัดทันเวลา ผู้ใหญ่อาจหูตึงได้เร็วกว่าวัย จากการทำงานในที่เสียงดัง หรือรับฟังเสียงดังมากเกินไป แม้แต่การดูหนัง ฟังเพลง หรือเข้าผับ
การได้ยิน ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม
ด้วยความเสี่ยงดังกล่าว ส่งผลให้ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ เล็งเห็นถึงความปลอดภัยของทารก และผู้ประสบปัญหาความผิดปกติทางการได้ยิน จึงเปิดศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
การตรวจคัดกรองทำได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด
ปัจจุบันด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีก้าวหน้า สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด และหากว่าสงสัยว่าหูหนวกหรือหูตึง ควรตรวจยืนยันภายในเวลา 6 เดือนแรก จะทำให้การรักษาและฟื้นฟูบำบัดโดยใช้เครื่องช่วยการได้ยินและสอนพูดได้ทันเวลา เพื่อไม่ให้อาการหูตึง หูหนวกเป็นเหตุให้ไม่สามารถพูดได้ หรือเป็นใบ้ในที่สุด หากพบแพทย์ช้า การฟื้นฟูจะเป็นไปได้ยาก
เพราะพัฒนาการทางสมองส่วนการได้ยินจะสูญเสียไปภายใน 2 ขวบ ดังนั้น การฟื้นฟูอาการหูตึงในเด็กแรกเกิด ควรทำตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ขวบ เนื่องจากจะสามารถเสริมทักษะต่าง ๆ ได้ง่าย แต่ถ้าหากอายุเกิน 6 ขวบ การฟื้นฟูจะยากหรืออาจไม่เกิดผล เพราะสมองที่พัฒนาการพูดหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม หากเด็กไม่ได้ผ่านการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่แรกเกิด ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการเริ่มต้นได้ อาทิ เด็กไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงหรือพูดด้วยไม่หัน ไม่รับรู้ ไม่เลียนเสียงพ่อแม่ ออกเสียงไม่ชัดเจน
ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกคลอด โดยวัดการรับรู้ตอบสนองของปลายประสาทรับเสียงในหูขั้นใน (Otoacoustic Emmission) ถ้าไม่ผ่านด้วยเหตุใดก็ตามจะต้องมีการตรวจซ้ำ และยืนยันโดยวัดการได้ยินระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response) การตรวจดังกล่าว เด็กจะไม่มีการเจ็บปวดใดๆ เป็นการฟังเสียงตามปกติ และหากตรวจพบความผิดปกติ จะทำการตรวจหาระดับการได้ยินที่ถูกต้อง ณ ความถี่ต่างๆ (Auditory Steady State Response) เพื่อจัดเครื่องช่วยฟังให้เหมาะสมแต่ละข้างและเป็นราย ๆ ไป เพราะเด็กที่หูพิการนั้นมีระดับการสูญเสียตั้งแต่น้อยไปถึงรุนแรง
ผู้สูงอายุ กับ อาการหูอื้อหูตึง เวียนศีรษะ
ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักถูกเรียกว่าผู้สูงอายุและถูกจัดเข้ากลุ่ม “วัยเสื่อม” เมื่อเกิดอาการหูอื้อหูตึง เวียนศีรษะ ก็มักจะถูกละเลย คิดว่าเสื่อมจากวัย ไม่อาจแก้ไขให้คืนดีได้ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องยอมรับ โดยมิได้มีความเข้าใจเรื่องการเสียการได้ยิน และโดยเฉพาะการเสียทรงตัวในผู้สูงอายุ ว่าเป็นเรื่องซับซ้อนที่อาจมีหลายเหตุปัจจัยที่เป็นอันตรายและอาจป้องกันได้ อาจแก้ไขให้ฟื้นคืนดีได้ อย่างไรก็ตาม การแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันได้มีการให้ความสนใจผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีบริการตรวจวินิจฉัยให้การรักษาผู้สูงอายุมากขึ้น
การแพทย์ในสาขาผู้สูงอายุเป็นเรื่องซับซ้อนและละเอียดอ่อน เนื่องจากโรคของผู้สูงอายุ ยากจะจำกัดอยู่ ณ อวัยวะเดียวของร่างกาย แต่มักพบความผิดปกติของหลายอวัยวะร่วมกัน ร่วมกับการมีโรคทางกายอื่นๆ เรื้อรังหรือทับซ้อน รวมทั้งการเสื่อมโดยธรรมชาติ ทำให้การให้การวินิจฉัยและการดูแลรักษายากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ จำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยร่วมต่าง ๆ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อการดูแลรักษาผู้สูงอายุได้อย่างมี ประสิทธิภาพ การเสียสมรรถภาพการทรงตัว หรือเกิดอาการเวียนศีรษะรวมทั้งการเสื่อมการได้ยิน เป็นเรื่องที่พบบ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และมักได้รับการละเลยว่าเนื่องจากอายุมากแล้ว ทั้ง ๆ ที่ความผิดปกติหลาย ๆ อย่างอาจป้องกันได้ และแม้เกิดขึ้นแล้วก็อาจรักษาให้หายได้ หรือแก้ไขให้ทุเลา รวมทั้งการพื้นฟูบำบัดให้กลับฟื้นคืนดีได้ ยิ่งกว่านั้น อาการเวียนศีรษะในผู้สูงอายุอาจมีสาเหตุจากโรคแฝงทางร่างกาย หรือโรคทางสมอง ซึ่งอาจร้ายแรงเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ภาวะการณ์ขาดเลือดของสมองและหูชั้นใน การผิดปกติของกระดูกคอไปทับเส้นเลือดไปสมอง ศูนย์การได้ยิน การพูดการทรงตัวและเสียงในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ มีแพทย์เฉพาะทาง และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อตรวจแยกหาสาเหตุการเสียการได้ยินและการทรงตัว รวมทั้งการให้การรักษาและฟื้นฟูบำบัด ทั้งทางการได้ยินด้วยเครื่องช่วยฟัง และการทรงตัวโดยการฝึกบริหารให้ผู้สูงอายุได้