ติดโควิด-19 เสี่ยงเบาหวานตามมา

2 นาทีในการอ่าน
ติดโควิด-19 เสี่ยงเบาหวานตามมา

หลังหายจากโควิด-19 ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่มีโอกาสป่วยด้วยโรคเบาหวานตามมา ดังนั้นการดูแลตนเองหลังหายจากโควิด-19 จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียดคือเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะหากพบความผิดปกติย่อมช่วยให้ดูแลร่างกายได้ทันท่วงที

ทำไมเสี่ยงเบาหวานเมื่อหายโควิด

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinology ได้เก็บข้อมูลผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ถึง 181,000 คน จากจำนวนประชากรกว่า 8.5 ล้านคน โดยพบว่ากลุ่มผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปีหลังหายจากโควิด ซึ่งความเสี่ยงนี้ไม่จำกัดเฉพาะในผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้นและไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น น้ำหนักตัวเกิน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงก่อนป่วยเป็นโควิดมีความเสี่ยงจะเป็นเบาหวานเมื่อหายจากโควิดไม่น้อยกว่ากัน แสดงว่าถ้ามีผู้ป่วยโควิด 1 ล้านคนย่อมมีผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นผู้ป่วยใหม่ได้ถึง 20,000 คน นับเป็นลองโควิดที่สามารถเกิดขึ้นได้

ในช่วงที่เป็นโควิดร่างกายจะเกิดการอักเสบเพราะเชื้อไวรัสเข้าไปกระตุ้นการอักเสบและกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายในผู้ที่ไม่เคยป่วยเป็นเบาหวานมาก่อนความรุนแรงของโควิดมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วตรวจพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาการของโควิดจะไม่ค่อยดีมีการอักเสบค่อนข้างมากจนไปกระตุ้นระดับน้ำตาลให้สูงขึ้นนำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเข้าไปทำลายตับอ่อนทำลายเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินเกิดการดื้ออินซูลินทำให้เกิดเบาหวานขึ้นได้ผู้ป่วยบางรายหลังหายจากการติดเชื้อโควิดระดับน้ำตาลดีขึ้นแต่หากติดเชื้อรุนแรงและได้รับยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบอาจเข้าไปกระตุ้นเบาหวานได้เช่นกันแต่ถ้าหยุดยาสเตียรอยด์เบาหวานจะดีขึ้น 


ความรุนแรงของเบาหวานเมื่อติดเชื้อโควิด

ความรุนแรงของโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโควิด-19 ในผู้ที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน หากมีอาการหนักเมื่อเป็นโควิด-19 ย่อมมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานอยู่แล้วเมื่อป่วยเป็นโควิด-19 ความรุนแรงจะมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นเบาหวาน เพราะคุมเบาหวานยากขึ้น ความซับซ้อนของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในผู้ป่วยเบาหวานเมื่อเป็นโควิด-19 อาจต้องปรับยาหรือรับประทานยาบางตัวไม่ได้ จึงต้องปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ในเด็กที่ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 พบภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวานเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด เด็กจะหายใจเร็วขึ้น เหนื่อย หอบ เพราะความรุนแรงของเบาหวานเพิ่มขึ้น ร่างกายผลิตอินซูลินไม่ได้จึงต้องให้อินซูลินและสารน้ำ ส่วนผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นเบาหวานอาจไม่พบภาวะเลือดเป็นกรด แต่หากคุมน้ำตาลได้ไม่ดีจะมีอาการหิวน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะบ่อยขึ้น อาการแย่ลงขณะป่วยเป็นโควิด 


ติดโควิด-19 เสี่ยงเบาหวานตามมา

ตรวจเช็กเบาหวานหลังติดเชื้อโควิด

หลังหายป่วยจากโควิด-19 ควรต้องตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 – 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ผู้ที่ขณะป่วยโควิดมีอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเข้าไอซียู ควรต้องตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะการตรวจเช็กเบาหวานเพื่อจะได้ควบคุม ระวัง และป้องกันได้โดยเร็ว

อย่างไรก็ตามอาการเบาหวานหลังติดเชื้อโควิดสามารถดีขึ้นได้หลังจากผ่านการติดเชื้อและรักษาตัวจนหายดีแล้ว 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากร่างกายจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ยิ่งถ้าดูแลตัวเองได้ถูกวิธีทั้งอาหาร การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย ยิ่งช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ที่สำคัญคือควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น หากเหนื่อยง่าย ปัสสาวะบ่อย เวียนศีรษะ ควรพบแพทย์ทันที  

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ

ชั้น 2 อาคาร โรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์ – ศุกร์ 7.00 - 16.00 น.

เสาร์ – อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ 7.00 – 16.00 น.