โรคกินไม่หยุด แค่อยากหรือป่วย

2 นาทีในการอ่าน
โรคกินไม่หยุด แค่อยากหรือป่วย

ใครจะคิดว่าพฤติกรรมการกินไม่หยุดจะไม่ใช่แค่ความอยากอาหาร แต่อาจเป็นโรคที่คุณกำลังเผชิญโดยไม่รู้ตัว หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ จึงควรสังเกตตัวเองและรู้เท่าทันความผิดปกติก่อนสายเกินไป

รู้จักโรคกินไม่หยุด

โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder : BED) เป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากผิดปกติ ไม่สามารถคุมตัวเองได้ ไม่หิวก็ยังรับประทาน ที่สำคัญจะรับประทานจนอิ่มแบบที่ไม่สามารถรับประทานอาหารอื่น ๆ ต่อได้ หลังจากนั้นจะรู้สึกโกรธตัวเองที่ทำพฤติกรรมแบบนี้ลงไป ที่น่าสนใจคือโรคนี้ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด เกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกช่วงวัย 


แบบไหนเรียกกินไม่หยุด

  • กินมากกว่าปกติ
  • กินแบบควบคุมตัวเองไม่ได้
  • กินปริมาณมากในเวลาที่รวดเร็ว
  • กักตุนอาหารไว้ใกล้ตัว
  • กินได้ทุกเวลาไม่ว่าจะหิวหรือไม่หิว
  • กินคนเดียวเพราะรู้สึกอาย
  • กินเสร็จแล้วจะรู้สึกผิด โกรธ เศร้า รังเกียจ โทษตัวเอง
  • กินไม่หยุดต่อเนื่อง 3 เดือนขึ้นไป

โรคกินไม่หยุด แค่อยากหรือป่วย

ปัญหาสุขภาพจากการกินไม่หยุด

นอกจากโรคกินไม่หยุดจะเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังอย่างโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน  หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ยังส่งผลกับระบบทางเดินอาหารโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น 

  • ท้องอืด จากการกินอาหารมากเกินไป ทำให้ต้องย่อยอาหารนานมากขึ้น เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้น ปวดท้อง แน่นท้อง มีลมในท้อง ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบได้   
  • อาหารไม่ย่อย เพราะกินไม่หยุดจึงกินมากไป ทำให้ไม่สบายท้อง อึดอัดบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ปวดท้องช่วงบน แสบร้อน ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี หากร้ายแรงอาจเลือดออกในทางเดินอาหาร หลอดอาหารตีบ กระเพาะอาหารส่วนปลายตีบได้
  • กรดไหลย้อน หากกินมากไปและโดยเฉพาะกินมากไปแล้วนอนทันทีย่อมเสี่ยงต่อกรดไหลย้อน คือการที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร อาจรู้สึกแสบร้อนที่ลิ้นปี่มาที่หน้าอกและคอ หากปล่อยให้เรื้อรังจนรุนแรงอาจมีแผลที่หลอดอาหารและนำไปสู่โรคมะเร็งแม้พบน้อยก็ตาม
  • ท้องร่วง การกินไม่หยุด ทำให้กินมากไป กินหลายอย่าง จนกระเพาะอาหารและลำไส้เกิดการแปรปรวน ส่งผลให้ท้องเสียและท้องร่วงได้เช่นกัน 

รักษาโรคกินไม่หยุด

วิธีรักษาโรคกินไม่หยุด แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียด ก่อนจะรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมบำบัดร่วมกับการใช้ยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป และผู้ป่วยแต่ละคนจะมีวิธีการรักษาแตกต่างกันตามปัจจัยทีทำให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพที่ต้องเผชิญ


ป้องกันโรคกินไม่หยุด

  • ห่างไกลความเครียด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

หากกินบางมื้อเยอะเกินไปตามโอกาสพิเศษไม่ถือว่าเป็นโรคกินไม่หยุดแต่ถ้ามีอาการกินไม่หยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ควรสังเกตตัวเองแล้วรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาทันที ก่อนปัญหาสุขภาพจะเรื้อรังและรุนแรง

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ

ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี, เสาร์, อาทิตย์ เวลา 07.00 - 16.00 น.

พุธ, ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด