การตรวจเช็กสุขภาพเด็กมีความสำคัญไม่แพ้ผู้ใหญ่ เพราะหากพบความผิดปกติโดยเร็วย่อมช่วยให้ดูแลรักษาได้ทันท่วงทีและป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นได้ถูกวิธี ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการตามวัยของเด็ก นับเป็นพื้นฐานการมีสุขภาพดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรละเลย เพื่อให้เจ้าตัวเล็กเติบโตอย่างแข็งแรงในอนาคต
เด็กกับการเปลี่ยนแปลง
ในแต่ละช่วงเวลาการเติบโตของเด็กย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงตามวัยที่แตกต่างกัน การติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อดูแลสุขภาพเด็กให้สมบูรณ์และเสริมสิ่งที่ขาดอย่างเหมาะสม
- วัยทารกแรกเกิดถึง 7 วัน นับตั้งแต่ลืมตาดูโลก จะมีการประเมินภาวะตัวเหลือง เจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจการได้ยิน รวมถึงให้วัคซีนสำคัญอย่างวัคซีนป้องกันวัณโรคและป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
- วัยทารกไม่เกิน 6 เดือน จะมีการติดตามการเจริญเติบโต เสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้ได้วัคซีนที่เหมาะกับวัย
- วัยทารก 6 – 12 เดือน เริ่มตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อเช็กฟันผุ สุขภาพเหงือก เพราะต้องปรับตัวในการกินอาหาร รวมถึงตรวจตาเพื่อคัดกรองภาวะตาเหล่ ตาเข และความผิดปกติต่าง ๆ ตรวจข้อสะโพก ตรวจอวัยวะเพศ ตรวจวัดความเข้มข้นของเลือดเพื่อประเมินภาวะโลหิตจาง
- วัยเด็กตั้งแต่ 1 – 12 ปี เน้นตรวจด้านพัฒนาการเพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มีการวัดสายตาเพื่อแก้ปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง วัดความดันโลหิต วัดระดับความเข้นข้นของเลือด รวมถึงคำแนะนำที่เหมาะสมด้านการเรียน การเล่น การเข้าสังคมเพื่อให้ปรับตัวได้ถูกต้อง
- วัยรุ่น 13 – 15 ปี ร่างกายจะแข็งแรงโตเต็มวัย แต่อาจละเลยการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม จำเป็นต้องตรวจสุขภาพโดยรวมเพื่อป้องกันโรคในระยะยาว
เช็กสุขภาพตามวัย
การตรวจเช็กสุขภาพเด็กตามวัยอย่างเหมาะสม คือสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องใส่ใจ แบ่งตามอายุของเด็ก ได้แก่
- เด็กอายุ 1 – 4 ปี
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด
- ตรวจสุขภาพช่องปาก
- เด็กอายุ 4 – 7 ปี
- ตรวจปัสสาวะ
- ตรวจหาค่าสายตาอัตโนมัติ
- ทดสอบตาบอดสี
- ตรวจสุขภาพช่องปากและเอกซเรย์ช่องปาก
- เด็กอายุ 7 – 15 ปี
- ตรวจสมรรถภาพตับ
- ตรวจการทำงานของไต
- ตรวจปัสสาวะ
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือด
- ตรวจอายุกระดูก และภาวะความเป็นหนุ่มสาวในรายที่มีข้อบ่งชี้
ทั้งนี้รายละเอียดการตรวจเช็กสุขภาพเด็กขึ้นอยู่กับการพิจารณาโดยกุมารแพทย์เป็นสำคัญ อาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของเด็กแต่ละคน จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เด็กเติบโตได้แข็งแรงสมวัย