ปรับยาเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

3 นาทีในการอ่าน
ปรับยาเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

ร่างกายผู้สูงวัยเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้บางครั้งต้องรับประทานยาที่ค่อนข้างหลากหลาย ได้รับการสั่งยาจากแพทย์หลายคน หรือรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่ร่างกายดูดซึมยาได้ช้าลงหรือยาที่ได้รับอาจตีกัน ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้นการปรับยาอย่างเหมาะสมในผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย

 

ปรับลดยาในผู้สูงวัยคืออะไร

การปรับลดยาในผู้สูงวัย (Deprescribing) คือ การวางแผนลดขนาดยาที่อาจเป็นอันตราย ไม่เหมาะสม ไม่ได้ผล หรือไม่จำเป็นต่อร่างกายผู้สูงวัย โดยแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ตรวจประเมินและให้คำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้สูงวัยได้รับยาที่เหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณ ซึ่งต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงจากอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

ปรับยาเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

เป้าหมายของการปรับลดยาในผู้สูงวัย

  • ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย
  • ลดความเสี่ยงจากกลุ่มอาการผิดปกติในผู้สูงวัย
  • แก้ไขปัญหาจากอาการไม่พึงประสงค์ของยา
  • มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นระยะยาว

ปรับยาเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

แนวคิดสีรุ้งช่วยปรับลดยาในผู้สูงวัยคืออะไร

การปรับลดยาในผู้สูงวัยด้วยแนวคิดสีรุ้ง (Deprescribing Rainbow) จะใช้รุ้งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมิติหลายด้านที่ต้องพิจารณาในการลดหรือหยุดการใช้ยาในผู้สูงวัยอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย

Clinical (มิติทางคลินิกสีแดง)

  • ประโยชน์ของยาเมื่อเทียบกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
  • ระยะเวลาที่คาดว่าจะเห็นผล
  • อาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย
  • การพยากรณ์โรคของผู้ป่วย
  • ข้อพิจารณาทางจริยธรรม

Psychological (มิติทางจิตวิทยาสีส้ม)

  • การทำงานของระบบการรับรู้
  • ความเชื่อและทัศนคติของผู้ป่วยเกี่ยวกับยาและโรค
  • ความสามารถในการตัดสินใจของผู้ป่วย
  • ปัญหาสุขภาพจิตของผู้ป่วย

Social (มิติทางสังคมสีเหลือง)

  • การสนับสนุนจากครอบครัวและผู้ดูแล
  • ผลกระทบของการใช้ยาในชีวิตประจำวัน
  • บริบททางสังคมของผู้ป่วย

Financial (มิติทางการเงินสีเขียว)

  • ประกันสุขภาพ
  • ค่ายาและค่ารักษา
  • ทรัพยากรที่มีอยู่ 

Physical (มิติทางกายภาพสีฟ้า)

  • ความสามารถของผู้ป่วยในการใช้ยา เช่น การกลืนยา
  • ภาวะทางสุขภาพโดยรวม
  • ความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของยา

Deprescribing Rainbow เป็นแนวคิดปรับลดยาในผู้สูงวัยที่ช่วยให้แพทย์เฉพาะทางพิจารณาในทุกมิติเพื่อลดหรือหยุดการใช้ยา โดยใช้สีของสายรุ้งเป็นตัวแทนแต่ละมิติเพื่อให้การหยุดยาปลอดภัยและมีประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย

ปรับยาเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

ลดการสั่งยาในผู้สูงวัยได้อย่างไร

  • ลดการสั่งยาเชิงรับ (Reactive Deprescribing) ลดหรือหยุดการใช้ยาหลังจากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาแล้ว 
  • ลดการสั่งยาเชิงป้องกัน (Proactive Deprescribing) ทบทวนรายการยาสม่ำเสมอ ช่วยให้หยุดการใช้ยาก่อนเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา

หลักการใช้ยาในผู้สูงวัยเป็นอย่างไร

  • ยาทุกชนิดที่ผู้สูงวัยรับประทานต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งยาเท่านั้น
  • ควรใช้ยาในปริมาณที่ต่ำก่อนแล้วค่อยปรับเพิ่มขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์
  • หากลืมรับประทานยาควรงดยาในมื้อนั้นและเริ่มยาในมื้อต่อไป
  • ระวังยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง เช่น ยานอนหลับ ยาต้านอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • หากต้องการใช้ยาอื่น ๆ นอกจากยาที่แพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ถ้ามีอาการแพ้ยาหรือปัญหาจากการใช้ยาควรแจ้งแพทย์ทันที

ประเมินการหยุดใช้ยาได้อย่างไร

แพทย์เฉพาะทางจะทำการประเมินความเป็นไปได้ของการหยุดใช้ยาในผู้สูงอายุ ได้แก่

  1. ประโยชน์จากการใช้ยาในผู้สูงวัย ทบทวนข้อบ่งชี้ โรคหรืออาการผ่านการตรวจวินิจฉัยถูกต้องแล้วหรือไม่
  2. อันตรายจากการใช้ยาในผู้สูงวัย ทบทวนประโยชน์ที่ได้รับจากยา ต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
  3. ความจําเป็นของการใช้ยา ทั้งการบรรเทาอาการ การรักษาโรค การป้องกันโรค

ในบางกรณีที่แพทย์พิจารณาให้หยุดยาทันที ยาบางชนิดเมื่อหยุดใช้ยาอาจเกิดอาการถอนยา ต้องค่อย ๆ ลดการใช้ยา และเฝ้าระวังอาการถอนยาจนกระทั่งหยุดยาได้

แพทย์ที่ชำนาญการดูแลยาในผู้สูงอายุ

พญ.พัณณิดา วัฒนพนม อายุรแพทย์ผู้ชำนาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ  ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง

โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการดูแลยาในผู้สูงอายุ

ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลปรับยาในผู้สูงวัยให้เหมาะสมกับร่างกาย โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ พยาบาล และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์

ชั้น 1 อาคาร R

เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00 - 15.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด