อย่าทนปวดหลัง เพราะกระดูกสันหลังเสื่อม

2 นาทีในการอ่าน
อย่าทนปวดหลัง เพราะกระดูกสันหลังเสื่อม
นอกจากลักษณะและโครงสร้างกระดูกที่ถูกกำหนดโดยพันธุกรรม รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหากับกระดูกสันหลังจนเกิดความเจ็บปวด ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถบำบัดรักษาได้หลายวิธี ตามการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ชำนาญการ เช่น กินยา ฉีดยา ทำกายภาพบำบัด ฯลฯ อย่างไรก็ตามหากมีผู้ป่วยอาการรุนแรงจนถึงขั้นกระดูกสันหลังเสื่อมและกดทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเคลื่อน คลอนคด แพทย์อาจเสนอวิธีการแก้ไขโดยการผ่าตัดยึดกระดูกสันหลังด้วยสกรูไททาเนียม ซึ่งต้องอาศัยทักษะและความชำนาญของศัลยแพทย์กระดูกสันหลังเป็นสำคัญเพื่อวางแนวสกรูไว้ในตำแหน่งองศาที่ถูกต้องและไม่กระทบกระเทือนเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง จนทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังผ่าตัด เช่น ปวดร้าวตามเส้นประสาทตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรงเป็นอัมพาตถาวร จึงมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่หลีกเลี่ยงการผ่าตัด ยอมอดทนต่อความเจ็บปวด เนื่องจากไม่มั่นใจในผลของการผ่าตัด

เพิ่มความมั่นใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โอ-อาร์ม (O-ARM)

ทุกวันนี้มีการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โอ-อาร์ม (O-ARM) ซึ่งจะเก็บข้อมูลเอกซเรย์สามมิติ ทั้งแนวตั้ง แนวนอน และภาพตัดขวางร่วมกับเครื่องมือนำวิถีโดยคอมพิวเตอร์ (Navigation System) ชื่อ สเต็ลท์ (Stealth) ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้จากโอ-อาร์ม มาช่วยศัลยแพทย์ประเมินระยะที่สามารถเข้าถึงบริเวณที่ต้องรับการผ่าตัดได้ในระดับมิลลิเมตร จึงช่วยให้ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังทำงานได้อย่างถูกต้องชัดเจน เมื่อใช้ร่วมกับเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) ที่ทำให้เกิดแผลเล็กลง ช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น

ห้องผ่าตัดต้องการเครื่องเอกซเรย์ที่เคลื่อนย้ายได้ เพื่อให้สะดวกต่อการผ่าตัดหลาย ๆ แบบ จึงมักใช้ประเภท C-ARM ซึ่งเป็นการเอกซเรย์สองมิติแบบ Fluoroscopy ให้ข้อมูลเป็นภาพสองมิติ แพทย์จึงต้องมีทั้งความชำนาญและประสบการณ์ในการผ่าตัด และอาจจะต้องเปิดแผลใหญ่ร่วมด้วย แต่ด้วยกายวิภาคที่แตกต่างกันของคนไข้จึงอาจทำให้ตำแหน่งการฝังสกรูบางตัวพลาดไปบ้าง แม้แต่แพทย์ที่มีประสบการณ์สูงก็ยังมีโอกาสผิดพลาดได้ด้วยเครื่องมือแบบเก่า

อาการไม่พึงประสงค์หลังผ่าตัดยึดกระดูกสันหลังไว้ในตำแหน่งเหมาะสมด้วยสกรูไททาเนียมด้วยเครื่องมือช่วยแบบเดิม ๆ เครื่องเอกซเรย์โอ-อาร์ม ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ มีขนาดที่สามารถเคลื่อนย้ายได้จึงสามารถนำมาใช้สแกนข้อมูลขณะที่คนไข้นอนบนเตียงพร้อมรับการผ่าตัดได้เลย โอ-อาร์มให้ข้อมูลสามมิติแสดงภาพตัดขวางด้วย แพทย์จึงทราบว่าขณะที่คนไข้นอนอยู่ในท่านั้น กระดูกข้อไหนมีรูปร่างอย่างไร อยู่ในท่าไหน เมื่อดาวน์โหลดข้อมูลนี้ลงในเครื่องมือนำวิถีแล้ว แพทย์ก็จะได้พิกัด ณ จุดที่ต้องการผ่าตัดมาช่วยเสริมประสบการณ์กับความชำนาญในการผ่าตัด นอกจากนี้โอ-อาร์มยังช่วยเช็กด้วยว่าสกรูอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ไม่เข้าใกล้จนเกินไปหรือมีแนวโน้มจะไปเบียดทับเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้

ข้อมูลสามมิติและพิกัดชัดเจนจากเครื่องเอกซเรย์โอ-อาร์มและสเต็ลท์ ช่วยให้แพทย์แก้ไขปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมเคลื่อนคลอนได้ง่ายและถูกต้อง ช่วยให้คนไข้ไม่เจ็บมากเกินจำเป็นจากการเปิดแผลกว้าง เมื่อแผลมีขนาดเล็กจึงไม่ต้องพักฟื้นนาน การทำงานของโอ-อาร์มยังช่วยลดรังสีเอกซ์ที่จะเข้าสู่ร่างกายของคนไข้ แพทย์ และทีมงานในห้องผ่าตัด ผลพลอยได้สำคัญอีกประการจากการทำงานร่วมกันของโอ-อาร์มและสเต็ลท์ คือ “ความมั่นใจ” สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ผู้ผ่าตัด คนไข้ รวมทั้งญาติมิตร ซึ่งสามารถตัดความวิตกกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังและยึดด้วยสกรูไททาเนียมไปได้ ที่สำคัญ ผู้ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องอดทนต่อความเจ็บปวดจากภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน คลอนคด หรือไม่มั่นคงอีกต่อไป

 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. คณิต จำรูญธเนศกุล

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

นพ. คณิต จำรูญธเนศกุล

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์กระดูกสันหลัง

ชั้น 2 ฝั่งทิศใต้ (S2) อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น.

เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 08.00 - 17.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด