สำหรับคนเป็นภูมิแพ้ไม่มีใครอยากแพ้ไปตลอด การรักษาภูมิแพ้ด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy) จึงเป็นทางเลือกทางรอดของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่แม้ต้องใช้เวลาและความสม่ำเสมอในการรักษา แต่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดี ลดความรุนแรง ลดการใช้ยา ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รู้จักวัคซีนภูมิแพ้
วัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy) เป็นทางเลือกการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยภูมิแพ้มีอาการแพ้ลดลงไปจนถึงหายแพ้ โดยจะใช้วิธีให้สารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายทีละนิด เริ่มจากปริมาณน้อยไปจนถึงมากที่สุดตามแนวเวชปฏิบัตินานาชาติ โดยฉีดทุกสัปดาห์แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทีละนิดจนถึงปริมาณสูงสุดที่แนะนำในการรักษาในช่วง 6 เดือนแรก ทั้งนี้ระยะเวลาขึ้นกับปฏิกิริยาข้างเคียงของผู้ป่วยแต่ละท่าน หลังจากนั้นอาจพิจารณาเป็นฉีดเดือนละครั้งตลอด 3 – 5 ปี โดยตามรายงานทางการแพทย์ อาการผู้ป่วยเฉลี่ยจะดีขึ้นที่ 20 สัปดาห์เป็นต้นไปหลังเริ่มรักษา เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันจนตอบสนองต่อสารที่แพ้ลดลง ร่างกายทนต่อสิ่งที่แพ้ได้ดีขึ้น เกิดภูมิคุ้มกันดีที่เป็นความจำระยะยาว อาการดีขึ้น ลดยาได้หรือไปจนถึงหายจากอาการแพ้ได้ในที่สุด
ใครเหมาะกับวัคซีนภูมิแพ้
- ผู้ป่วยโรคโพรงจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้
- ผู้ป่วยโรคหอบหืดจากภูมิแพ้
- ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเรื้อรังจากภูมิแพ้
โดยผู้ป่วยได้รับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test To Aeroallergen) หรือ ตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันจำเพาะ (Specific IgE) และพบว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดที่สามารถทำการรักษาได้ เช่น ไรฝุ่น ละอองหญ้า ขนน้องแมว ขนน้องสุนัข ขนแมลงสาบ หรือเชื้อรา
ประเภทวัคซีนภูมิแพ้
วัคซีนภูมิแพ้มี 2 ประเภท ได้แก่
- วัคซีนภูมิแพ้ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Immunotherapy) มีหลายชนิดตามสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ อาทิ ไรฝุ่น ละอองหญ้า ขนแมว ขนสุนัข แมลงสาบ เชื้อรา เป็นต้น อาจแพ้วัคซีนได้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยในช่วงแรกผู้ป่วยต้องมาฉีดทุกสัปดาห์ และหลังจากที่ถึงปริมาณสูงสุดที่ใช้ในการรักษาสามารถฉีดห่างเป็นทุก 1 เดือนได้ โดยในการฉีดแต่ละครั้งผู้ป่วยจะได้รับการสังเกตอาการแพ้อย่างใกล้ชิดที่คลินิกภูมิแพ้ โดยแพทย์และบุคลากรเฉพาะทาง
- วัคซีนภูมิแพ้ชนิดอมใต้ลิ้น (Sublingual Immunotherapy) ปัจจุบันในประเทศไทยมีใช้สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ไรฝุ่นเท่านั้น มีโอกาสแพ้น้อยกว่าแบบฉีด แต่ผู้ป่วยต้องอมใต้ลิ้นทุกวันไปต่อเนื่อง 3 ถึง 5 ปี
เตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนภูมิแพ้
- ผู้ป่วยภูมิแพ้แต่ละคนมีข้อจำกัดแตกต่างกันจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ฉีดวัคซีนภูมิแพ้กับแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น และสังเกตอาการแพ้ใกล้ชิดที่คลินิกภูมิแพ้อย่างต่ำ 30 นาที
- งดออกกำลังกายก่อนและหลังฉีดวัคซีนภูมิแพ้ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ดูดซึมเร็วเกินไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6 – 8 ชั่วโมง
- หากวางแผนตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ถ้าไม่สบายหรือกำลังป่วยไม่สามารถรับวัคซีนภูมิแพ้ได้
- ไม่จำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ สามารถรับประทานได้ตามปกติ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อนฉีดวัคซีนภูมิแพ้
ดูแลหลังฉีดวัคซีนภูมิแพ้
หลังฉีดวัคซีนภูมิแพ้ผู้ป่วยภูมิแพ้ต้องสังเกตอาการประมาณ 30 นาที หากมีอาการบวม แดง คัน ผื่น ปากบวมตาบวม หายใจลำบาก ให้แจ้งแพทย์ทันที หากมีอาการแพ้ดังกล่าวผู้ป่วยจะได้รับการรักษาทันทีและสังเกตอาการใกล้ชิด
การรับวัคซีนภูมิแพ้จะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้นโดยผู้ป่วยจะต้องไปตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการรักษาและควรทำร่วมกับการเลี่ยงสิ่งที่แพ้ซึ่งเป็นต้นเหตุการแพ้จะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งนี้วัคซีนภูมิแพ้ไม่สามารถป้องกันการแพ้อาหารหรือลมพิษเรื้อรังได้
วิธีการรักษาอื่น ๆ ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และโรคหืด
- เลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยหลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ใดบ้าง เราจะรู้วิธีและสามารถหลีกเลี่ยงการก่อภูมิแพ้ดังกล่าวได้อย่างถูกวิธี รวมถึงควรหลีกเลี่ยงมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ร่วมด้วย เพื่อลดการกำเริบของโรคและลดการเกิดการแพ้สารก่อภูมิแพ้ใหม่ ๆ อีกได้
- การใช้ยาพ่นต่อเนื่อง
- โรคภูมิแพ้โพรงจมูก หรือโพรงไซนัสอักเสบ หากเป็นรุนแรงมีเยื่อบุโพรงจมูกบวม หรือเป็นถึงโพรงไซนัสอักเสบ แนะนำการใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ต่อเนื่องไปช่วงหนึ่ง เพื่อลดการบวมอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ลดอาการคัดจมูก ปวดโพรงใบหน้าได้ โดยไม่แนะนำในการใช้ยาพ่นจมูกชนิดลดบวมจมูกที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ต่อเนื่องเพราะถ้าเป็นชนิดนี้จะไปหดเส้นเลือด ส่งผลให้ผนังโพรงจมูกไม่ตอบสนองต่อยาพ่นใด ๆ หรือภาวะ Rhinitis Medicamentosa
- โรคหอบหืด จำเป็นต้องมีการใช้ยาพ่นชนิดควบคุมอาการต่อเนื่องทุกวัน (Controller) เพื่อช่วยป้องกันการเสื่อมลงของสมรรถภาพปอด ลดการกำเริบ ลดการเกิดระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน โดยมักเป็นกลุ่มยาสูดพ่นชนิดสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลม และหากมีอาการกำเริบให้ใช้ยาพ่นเฉียบพลันชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Reliever) และถ้าไม่ดีขึ้นให้มาโรงพยาบาล
- การล้างจมูก ต้องล้างให้ถูกวิธีด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกในโพรงจมูก
- ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) คือ ยาที่สร้างภูมิคุ้มกันจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการรักษา หรือเป็นการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์ต่าง ๆ ที่เป็นต้นกำเนิดที่ทำให้เกิดโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ (Targeted Therapy) เช่น ยาฉีดกลุ่ม Anti-IgE, Anti-IL-5, Anti-IL4/13, Jak-1 inhibitor
- ยาเสริมอื่นๆ ตามอาการ เช่น ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานแบบไม่ง่วง ยาหยอดตาแก้แพ้หากมีอาการภูมิแพ้เยื่อบุตาอักเสบร่วม