การเสริมจมูกเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมความงามเพื่อสร้างความสมดุลบนใบหน้า ซึ่งทำได้ง่าย รวดเร็ว เห็นผลทันที โดยประสบการณ์และความชำนาญของศัลยแพทย์คือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ แก้ไขสัดส่วนได้ตามที่ต้องการ โดยขึ้นกับโครงสร้างของจมูกและใบหน้าผู้ป่วยด้วย ผลแทรกซ้อนน้อย ดังนั้นการศึกษาข้อมูลก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสริมจมูกจะช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
การผ่าตัดศัลยกรรมจมูก
การเสริมจมูกปัจจุบันทำได้หลายวิธี ได้แก่
1) การเสริมจมูก (Augmented Rhinoplasty)
การเสริมจมูกด้วยซิลิโคนจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเกาหลี มีให้เลือกทั้งแบบมาตรฐานและแบบเปิดที่เพิ่มการตกแต่งปลายจมูก
- แบบมาตรฐาน จะไม่มีแผลภายนอก
- แบบเปิด จะมีแผลบริเวณ (Collumella) ภายนอกเล็กน้อย มองเห็นไม่ชัด วิธีนี้มีข้อดีที่สามารถปรับแก้ไขปัญหาปลายจมูกหรือลดขนาดของปลายจมูกให้เรียวสวยเข้ารูป
วิธีการผ่าตัด
หลังจากออกแบบซิลิโคนให้เข้ากับรูปหน้าเรียบร้อย แพทย์จะทำการนัดวันผ่าตัด เมื่อถึงวันผ่าตัดแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณรอบจมูก บางรายอาจใช้ยานอนหลับร่วมด้วย จากนั้นแพทย์จะเสริมสารซิลิโคน (Medical Grade Silicone) เข้าใต้ชั้นเยื่อหุ้มกระดูก (Subperiostium) บริเวณดั้งจมูกผ่านทางรอยผ่าตัดขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตรที่ด้านในของจมูกแล้วเย็บแผลปิด การผ่าตัดแพทย์ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะทำการนัดหลังผ่าตัดเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยจนกว่าจะหายสนิท
2) การเสริมจมูกโดยใช้กระดูกอ่อนหลังหู
นอกจากการใช้ซิลิโคน (Silicone Implant) แล้ว ยังสามารถใช้กระดูกอ่อนของตนเองได้ โดยมาจากใบหูหรือบริเวณอื่น ๆ เช่น กระดูกอ่อนขวางกั้นระหว่างช่องจมูกหรือส่วนของซี่โครงมาช่วยเสริมปลายจมูกให้ดูสูงขึ้นเป็นธรรมชาติและป้องกันการทะลุของการเสริมซิลิโคนที่ปลายจมูก ซึ่งกระดูกอ่อนซี่โครงจะเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ต้องการใช้ซิลิโคนหรือมีปัญหาจากการทำผ่าตัดดั้งจมูกมาก่อนจึงไม่สามารถใช้ซิลิโคนได้
การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป โดยผู้ป่วยอาจต้องดมยาสลบหากผู้ป่วยไม่สามารถนอนได้นานหรือกลัว หลังผ่าตัดต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน
ข้อจำกัด
- ผู้ที่เหมาะกับการเสริมจมูกต้องมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป
เตรียมตัวก่อนเสริมจมูก
1) แจ้งข้อมูลสุขภาพกับแพทย์อย่างละเอียด ได้แก่
- ปัญหาสุขภาพ
- โรคร้ายแรง / โรคประจำตัว
- ประวัติการผ่าตัดและการได้ยาระงับความรู้สึก
- ฟันโยก ฟันปลอม และปัญหาเกี่ยวกับฟัน
- การแพ้ยา / แพ้อาหาร
- อื่น ๆ
2) ในกรณีมีภาวะเสี่ยงหรือโรคประจำตัวจะมีการเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการผ่าตัดและดมยาสลบ ได้แก่
- การเอกซเรย์
- การตรวจเลือด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรม
3) งดใช้ยา ยาบำรุง สมุนไพรบางชนิดที่อาจมีผลกับการผ่าตัด ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน และนำยาประจำตัวและยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่รับประทานมาโรงพยาบาลเพื่อแจ้งแพทย์ในวันผ่าตัด เช่น
- ยาแก้ปวด
- ยาแอสไพริน
- วิตามินดี วิตามินซี
- น้ำมันตับปลา
- อื่น ๆ
4) งดสูบบุหรี่ ก่อนการผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันภาวะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เนื้อเยื่อตายได้ ถ้าสูบบุหรี่จัดต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที และควรงดสูบบุหรี่หลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
5) หยุดดื่มสุรา ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด และควรหยุดดื่มสุราหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
6) อาบน้ำชำระร่างกายและสระผมให้สะอาด
7) ห้ามใช้เครื่องสำอาง
8) งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการสูดสำลักน้ำย่อยหรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าไปสู่ปอดระหว่างการได้รับยาระงับความรู้สึก