หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สร้างความทรมานในการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย คือ กระดูกหัก ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจาก “โรคกระดูกพรุน” ที่เป็นภัยเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยไม่รู้มาก่อนว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เพราะไม่มีอาการใด ๆ มารู้ตัวอีกทีเมื่อล้มแล้วเกิดกระดูกหัก
อันตรายเมื่อกระดูกพรุน
กระดูกพรุน เกิดจากความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น จนทำให้กระดูกเปราะบางและแตกหักได้ง่าย หากผู้สูงอายุหกล้มขณะที่มีภาวะกระดูกพรุน การรักษาจะทำได้ยาก ที่สำคัญคือส่วนใหญ่ผู้สูงวัยที่หกล้มครั้งแรกมักจะกลับมาหกล้มซ้ำอีก โดยผลจากการหกล้มอาจเกิดกระดูกสันหลังยุบหรือกระดูกข้อมือหัก ซึ่งไม่เป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิต แต่ถ้าล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วย 95% จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
โดยผู้สูงวัยที่กระดูกสะโพกหักจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามมาในช่วง 1 ปีแรก คือ โอกาสเสียชีวิตถึง 20% พิการ 30% เดินเองไม่ได้ 40% และ 80% จะมีอวัยวะอย่างน้อย 1 อย่างที่เสียไปไม่สามารถกลับมาทำงานได้ปกติ ดังนั้นในช่วง 1 ปีแรก จึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากหลังจากกระดูกสะโพกหักจะมีผู้สูงวัยประมาณ 20% เท่านั้นที่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเกิดกระดูกสะโพกหักแล้ว ขณะที่นอนอยู่นิ่ง ๆ อาจจะมีโรคประจำตัวกำเริบขึ้น หัวใจทำงานได้ไม่ดี ปอดขยายน้อย ปัสสาวะไม่ไหลเวียน ถ้าใส่ท่อก็มีโอกาสติดเชื้อ นอนนาน ๆ ไม่พลิกตัวก็อาจเกิดแผลกดทับ บางคนนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลก็จะเริ่มสับสน หากเป็นมากอาจจะทำให้สมองแปรปรวน เมื่อรับการรักษาหายแล้ว ก็กลับไปล้มและเกิดกระดูกหักซ้ำอีก
ป้องกันภาวะกระดูกพรุน
กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนเป็นเรื่องสำคัญที่ป้องกันได้ในเบื้องต้น เช่น
- หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะกระดูกพรุน โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเป็นภาวะกระดูกพรุน เช่น การได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน บริโภคอาหารไม่ครบ 5 หมู่ มีพฤติกรรมนั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ฯลฯ
- หมั่นตรวจวัดมวลกระดูก ปีละ 1 – 2 ครั้ง เมื่อมีภาวะกระดูกพรุนควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เช่น เสริมด้วยแคลเซียม วิตามินดี หรือใช้ยาฉีดประเภทพาราไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างมวลกระดูกให้มีความหนาแน่นขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงผู้สูงอายุหกล้ม
- ปัจจัยภายใน มาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่ทำให้อ่อนแรง เช่น ข้อเข่าเสื่อม โรคทางสมอง หรือใช้ยาที่ทำให้ง่วง
- ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่ทำให้สะดุดหรือลื่นที่สามารถป้องกันได้ เช่น ขอบพรมต้องไร้รอยต่อ พื้นไม่ลื่นหรือเปียก ควรมีราวจับจากเตียงไปถึงห้องน้ำ มีแสงสว่างเพียงพอเพื่อการมองเห็นอย่างชัดเจนเวลาเดิน โดยส่วนใหญ่คนไข้มักจะหกล้มในขณะลุกจากเตียงเพื่อไปห้องน้ำในเวลากลางคืน
ผ่าตัดรักษากระดูกหักแบบรถไฟใต้ดิน (MIPO: Minimally Invasive Plate Osteosynthysis)
สำหรับผู้สูงวัยที่กระดูกหักควรต้องรีบทำการรักษาผ่าตัดภายใน 48 ชั่วโมง เพราะจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันและลดการติดเชื้อรวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ในการพัฒนาเทคนิคผ่าตัดเชื่อมกระดูกหักแผลเล็กและช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ได้นำเทคนิค “การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกแบบแผลเล็ก” หรือการผ่าตัดรักษากระดูกหักแบบ “รถไฟฟ้าใต้ดิน” มาใช้ โดยมีอุปกรณ์เครื่องมือช่วยในการยึดตรึงกระดูก ใช้อุปกรณ์เฉพาะในการทำทางเพื่อสอดเหล็กแผ่นใต้ชั้นกล้ามเนื้อตามตำแหน่งที่หัก โดยวางเหล็กแผ่นอยู่เหนือกระดูก จากนั้นจึงเปิดแผลเล็ก ๆ เพื่อยึดกระดูกด้วยสกรูด้านบนและด้านล่างของตำแหน่งที่หัก เทคนิคผ่าตัดแผลเล็กนี้ ทำให้ไม่ต้องเปิดแผลยาว จึงช่วยให้เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเยื่อหุ้มกระดูกบอบช้ำน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว กระดูกติดเร็ว ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ อีกทั้งแพทย์ได้นำ “ARTIS pheno หุ่นยนต์แขนกลเอกซเรย์ ฟลูโอโรสโคป (Fluoroscope)” ที่ทำให้เห็นภาพเอกซเรย์ได้ทันทีในขณะผ่าตัดเข้ามาช่วยในการจัดแนวกระดูกและวางตำแหน่งของวัสดุยึดตรึงกระดูก ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นขณะผ่าตัดอีกด้วย
หลักการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยกระดูกหัก
หลักการสำคัญ 5 ข้อในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยกระดูกหัก คือ
- การจัดกระดูกให้เข้าที่ตามกายวิภาค
- การยึดตรึงกระดูกโดยวัสดุอุปกรณ์ที่มีความแข็งแรงมั่นคง
- การผ่าตัดที่ไม่ทำลายเส้นเลือดหรือเนื้อเยื่อโดยรอบของกระดูก
- การเปลี่ยนใส่ข้อเทียมที่เหมาะสมในบางกรณีของข้อสะโพกหัก
- การให้ผู้ป่วยเริ่มเคลื่อนไหวให้เร็วที่สุดหลังการผ่าตัดโดยไม่ต้องใส่เฝือก