วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ เพิ่มภูมิให้ปอดก่อนสาย

3 นาทีในการอ่าน
วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ เพิ่มภูมิให้ปอดก่อนสาย

เพราะปอดอักเสบ ถ้าเป็นหนักอาจมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต การฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปี มีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ หากป่วยรุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้ 


วัคซีนป้องกันปอดอักเสบคืออะไร

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ เป็นวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า นิวโมคอคคัส (Pneumococcal) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อย่างปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น โดยการฉีดวัคซีนเป็นทางเลือกที่ช่วยป้องกันการติดเชื้ออย่างเห็นผล โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ฯลฯ


วัคซีนป้องกันปอดอักเสบมีกี่ชนิด

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ มี 2 ชนิด ได้แก่

  1. วัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ (Pneumococcal Conjugate Vaccine, PCV13) เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปอดติดเชื้อ 13 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 1, สายพันธุ์ 3, สายพันธุ์ 4, สายพันธุ์ 5, สายพันธุ์ 6A, สายพันธุ์ 6B, สายพันธุ์ 7F, สายพันธุ์ 9V, สายพันธุ์ 14, สายพันธุ์ 18C, สายพันธุ์ 19A, สายพันธุ์ 19F และสายพันธุ์ 23F เป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและอยู่ได้นาน ครอบคลุมสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุได้ร้อยละ 75  
  2. วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ (Pneumococcal Polysaccharide Vaccine, PPSV23) เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปอดติดเชื้อ 23 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 1, สายพันธุ์ 2, สายพันธุ์ 3, สายพันธุ์ 4, สายพันธุ์ 5, สายพันธุ์ 6B, สายพันธุ์ 7F, สายพันธุ์ 8, สายพันธุ์ 9N, สายพันธุ์ 9V, สายพันธุ์ 10A, สายพันธุ์ 11A, สายพันธุ์ 12F, สายพันธุ์ 14, สายพันธุ์ 15B, สายพันธุ์ 17F, สายพันธุ์ 18C, สายพันธุ์ 19A, สายพันธุ์ 19F, สายพันธุ์ 20, สายพันธุ์ 22F, สายพันธุ์ 23F และสายพันธุ์ 33F ภูมิคุ้มกันอาจอยู่ไม่นานมาก แต่ครอบคลุมสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุได้
    ร้อยละ 82 

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบต้องฉีดกี่เข็ม

  • อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดวัคซีน PCV13 อาจพิจารณาตามด้วย PPSV23 (ห่างอย่างน้อย 1 ปี)
    *ถ้ามีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้รับการฝังประสาทหูเทียม (Cochlear Implants) หรือมีน้ำไขสันหลังรั่ว (Cerebrospinal Fluid Leaks) แนะนําให้ตามด้วย PPSV23 (ห่างอย่างน้อย 8 สัปดาห์)
  • อายุ 18 – 64 ปีที่มีโรคประจําตัวที่ไม่ใช่กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ โรคหัวใจเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง เบาหวาน สูบบุหรี่ และพิษสุราเรื้อรัง (alcoholism) แนะนำให้ฉีดวัคซีน PCV13 อาจพิจารณาตามด้วย PPSV23 (ห่างอย่างน้อย 1 ปี)
  • อายุ 18 – 64 ปีขึ้นไปที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ โรคไตเรื้อรัง (โดยเฉพาะระยะที่ 4 ขึ้นไป) Nephrotic Syndrome ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวีที่จํานวนซีดีสี่น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. Congenital หรือ Acquired Immunodeficiency โรคมะเร็ง (เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และ Multiple Myeloma) ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (รวมถึง Systemic Steroid ระยะยาวหรือได้รับรังสีรักษา) และได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแนะนำให้ฉีด PCV13 แล้วตามด้วย PPSV23 (ห่างอย่างน้อย 8 สัปดาห์) และตามด้วยวัคซีน PPSV23 (ห่างจาก PPSV23 โดสก่อนหน้าอย่างน้อย 5 ปี)

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ เพิ่มภูมิให้ปอดก่อนสาย

ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ

  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภาวะคุ้มกันบกพร่อง 
  • ผู้ที่ม้ามทำงานบกพร่องหรือผู้ที่ไม่มีม้าม
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจวายเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง ฯลฯ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ

อาการที่เกิดขึ้นจะหายได้เองภายใน 2 – 3 วัน

  • ปวด บวม แดง ตึงบริเวณที่ฉีด 
  • อ่อนเพลีย มีไข้ ปวดศีรษะ 
  • เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ 

ข้อจำกัดในการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ

  • ห้ามฉีดวัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์และวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์พร้อมกันหรือภายในวันเดียวกัน
  • ข้อห้ามใช้ของวัคซีน PCV คือ ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนคอตีบ (Diphtheriatoxoid)
  • ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยเพียงพอของการใช้วัคซีนนิวโมค็อกคัสระหว่างตั้งครรภ์

แพทย์ที่ชำนาญด้านการรักษาปอดอักเสบ

นพ.ชยพล ชีถนอม อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ 

สามารถคลิกที่นี่ เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง 


โรงพยาบาลที่พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ

คลินิกวัคซีน โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค โดยมีแพทย์เฉพาะทางพร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

แผนกอายุรกรรม

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 - 20.00 น.