ปอดเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก ถ้าปอดหยุดทำงาน เราจะตายภายในเวลาไม่กี่นาที หรือถ้าปอดทำงานได้น้อยกว่าปกติ จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ซึ่งโรคปอดเรื้อรังเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นช้า ๆ และค่อย ๆ ทำลายเนื้อปอดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีอาการรู้ตัวอีกทีอาจสายเกินไป การตรวจสมรรถภาพปอดในระยะแรก ๆ สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงหรือผู้ที่มีอาการทางปอดจึงสำคัญ เพราะช่วยวินิจฉัยโรค ประเมินสภาพ และติดตามผลการรักษาโรคของผู้ป่วย
ใครควรตรวจ
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลภาวะเป็นพิษสูง เช่น ใกล้โรงงานที่ปล่อยควันพิษ ควันรถยนต์ ควันบุหรี่
- ทำงานในที่มีมลภาวะเป็นพิษสูง เช่น ทำงานในโรงงานมีฝุ่น ทำเหมือง โม่หิน มีไอสารเคมี
- ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง และอาจมีการทำลายเนื้อปอดและหลอดลม เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ
- ผู้ที่หายป่วยจากโรค COVID-19 อย่างน้อย 4 สัปดาห์
- ผู้ที่ไอเรื้อรัง
- ผู้ที่มีอาการเหนื่อยง่าย เพราะปอดเมื่อสูญเสียหน้าที่จากการทำลายเนื้อปอดโดยพยาธิสภาพของโรคแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีการกลับคืนมา ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง กว่าจะมีอาการเหนื่อย ปอดจะถูกทำลายไปมากแล้ว (เกิน 50%) และต้องทนทรมานจากอาการเหนื่อยหอบและหายใจลำบากจนเสียชีวิต
เตรียมตัวก่อนตรวจ
- ไม่ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีก่อนการตรวจ
- ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่มีการตรวจ
- ควรงดยาขยายหลอดลมตามที่แพทย์แนะนำ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดบริเวณทรวงอกและหน้าท้อง
ตรวจสมรรถภาพปอด
- การตรวจสมรรถภาพปอดทำได้ง่าย ไม่เจ็บตัว ใช้เวลาไม่มาก ไม่ต้องเตรียมตัวมาก เพียงใส่เสื้อผ้าที่หลวมไม่คับ เพื่อให้ออกแรงหายใจได้เต็มที่ และไม่ควรรับประทานอาหารหนักก่อนมาทำ ผู้ที่ใช้ยาขยายหลอดลมควรหยุดยา รวมทั้งหยุดสูบบุหรี่ก่อน 24 ชั่วโมง ถ้าตรวจแบบทั่ว ๆ ไปจะใช้เวลา 15 – 30 นาที
- การตรวจแบบมาตรฐานที่ใช้ในโรงพยาบาลทั่วไปเรียกว่า Spirometry เป็นการตรวจปริมาตรที่หายใจเข้าออกและความเร็วที่หายใจออกแต่ละครั้ง ซึ่งผลที่ได้จะเป็นกราฟบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณอากาศกับเวลาหรือเป็นอัตราความเร็วของการไหลของอากาศกับปริมาตร การแปลผลที่ออกมาจะเป็นผลปกติ (Normal) ผลมีการอุดตันของหลอดลมขณะหายใจออก (Obstructive Pattern) ผลมีปริมาตรอากาศหายใจเข้าออกแต่ละครั้งได้น้อยกว่าปกติ (Restrictive Pattern) และผลมีค่าต่ำกว่าปกติทั้งสองอย่างร่วมกัน (Mixed Pattern)
ข้อดีของการตรวจสมรรถภาพปอด
การตรวจสมรรถภาพปอดมีความไวในการบอกว่าผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจและปอดหรือไม่ แม้จะเริ่มเป็นเพียงเล็กน้อย ในระยะนี้ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการแสดง ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลที่ดี แต่หากรอให้ถึงระยะที่มีอาการแสดง เช่น เหนื่อย หอบ นั่นหมายถึงสมรรถภาพปอดเสียหายเกิน 50% ไปแล้ว ทำให้การรักษาไม่ค่อยได้ผลและบางครั้งก็สายไป
เพราะการตรวจสมรรถภาพปอดช่วยให้รู้เท่าทันทุกความเสี่ยงจึงไม่ควรละเลยและเข้ารับการตรวจเป็นประจำทุกปี ยิ่งถ้ามีความเสี่ยงยิ่งควรตรวจสมรรถภาพปอดโดยละเอียด เพื่อให้ดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที