เนื่องจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาต้องการการเคลื่อนไหวและการใช้กำลังของกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากขึ้นกว่าปกติ การป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาจึงต้องอาศัยการฝึกฝนเพื่อให้ข้อต่อมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นปกติ ที่สำคัญคือ กล้ามเนื้อต่าง ๆ ต้องมีความยืดหยุ่นที่ดีพอและต้องมีความแข็งแรงทนทาน เพื่อป้องกันปัญหากล้ามเนื้อฉีกขาดหรืออักเสบ
การฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ คือ การบริหารเหยียดกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการเล่นกีฬา ส่วนการฝึกความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อ คือ การเสริมสร้างกำลัง โดยอาศัยน้ำหนักถ่วง Weight Training และฝึกให้กล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้นปัจจัยภายนอก เช่น สนามกีฬา อุปกรณ์ และเครื่องป้องกันต่าง ๆ แต่ละชนิดกีฬาก็มีความสำคัญ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ มีคำแนะนำเพื่อความเข้าใจในการป้องกันการบาดเจ็บดังกล่าว
ปวดไหล่ ไหล่ติดยึด
ข้อไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกาย ดังนั้นปัญหาทุกปัญหาที่เกิดกับข้อไหล่มักจะก่อให้เกิดปัญหาข้อไหล่ติดหรือเคลื่อนไหวไม่สุด โดยเฉพาะเมื่อไขว้หลังหรือพยายามจะเกาหลัง เป็นต้น
ปัญหาข้อไหล่ติดมักจะเป็นผลที่ตามมาของหัวไหล่ เช่น ปวดไหล่ นอนทับตะแคงแล้วเจ็บในเวลากลางคืน แล้วต่อมาเกิดไหล่เคลื่อนไหวไม่สุด ดังนั้นเมื่อเกิดข้อไหล่ติดยึด แพทย์จำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของข้อไหล่ติดยึด เพื่อจะทำให้แพทย์รักษาได้ถูกต้องไปที่ต้นตอของสาเหตุปัญหาและจะทำให้อาการปวด เจ็บ ข้อไหล่ติดหายขาดได้ในเวลาที่รวดเร็วที่สุด
ไหล่หลุดซ้ำ หลังจากอุบัติเหตุข้อไหล่หลุด
เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับข้อไหล่จนข้อไหล่หลุดออกจากเบ้าในครั้งแรก ผู้ป่วยมักจะเจ็บปวดมาก และอาจจำเป็นต้องไปให้แพทย์ดึงข้อไหล่ให้กลับเข้าที่ แต่หลังจากนั้นปัญหาที่มักจะเกิดตามมาอยู่เสมอ คือ ไหล่หลวมและหลุดซ้ำ ซึ่งการหลุดซ้ำจะง่ายและเจ็บปวดน้อยลงในทุกครั้งที่จำนวนครั้งของข้อไหล่หลุดมากขึ้น
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะมีปัญหาการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น นอนแล้วไหล่หลุดเองกลางดึก หรือมีปัญหาขณะทำงาน หรือออกกำลังกาย ซึ่งข้อไหล่ที่หลุดง่ายจนรบกวนชีวิตประจำวันควรได้รับการแก้ไขให้หายขาดและสามารถกลับมาใช้งานข้อไหล่ได้ดีเหมือนเดิม โดยเฉพาะการเล่นกีฬา
การแก้ไขดังกล่าว คือ การผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่เพื่อทำงานเย็บซ่อมเอ็นที่ฉีกขาดให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยการผ่าตัดส่องกล้องจะทำให้บาดเจ็บน้อย ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลเพียง 1 วัน กลับมาใช้งานได้เร็วขึ้น และผลของการผ่าตัดดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดที่น้อยลงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในนักกีฬาที่ต้องการกลับมาใช้งานในเวลาที่รวดเร็ว
ทำอย่างไรเมื่อเอ็นหรือหมอนรองกระดูกในข้อเข่าฉีกขาด
เมื่อเกิดอุบัติเหตุข้อเข่าบิด พลิก อาจจะเกิดปัญหาเอ็นหรือหมอนรองกระดูกในข้อเข่าฉีกขาดได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการเจ็บเข่า เข่าบิดแล้วมีเสียงดังขณะเกิดอุบัติเหตุ หรือมีอาการปวด เจ็บเข่า และเข่าบวม หลังจากนั้นแพทย์เฉพาะทางจะทำการตรวจร่างกายและทำการวินิจฉัยพิเศษด้วยเครื่องมือที่จำเป็น อาทิ X-Ray, MRI ฯลฯ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
หลังจากมีอุบัติเหตุเข่าบิด พลิก ผู้ป่วยจะมีอาการปวด เจ็บเข่า บวมข้อเข่าค่อนข้างมาก แต่หลังจากได้พัก ได้ยาแก้อักเสบ ประคบเย็นสักระยะแล้ว อาการจะดีขึ้นมากจนสามารถเดินได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น เจ็บเข่าหรือเจ็บแปล๊บในเข่า เข่าบวมเมื่อใช้งานหรือเดินยืนนาน เข่าหลวม โดยเฉพาะเวลาเดินเลี้ยวเร็ว ๆ หรือขึ้นลงบันได ซึ่งอาการดังกล่าวจะไม่หายไปจนกว่าอาการฉีกขาดของเอ็นและหมอนรองกระดูกข้อเข่าจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง