RSV ไวรัสตัวร้าย ปล่อยไว้อันตรายถึงแก่ชีวิต

3 นาทีในการอ่าน
RSV ไวรัสตัวร้าย ปล่อยไว้อันตรายถึงแก่ชีวิต

ฤดูกาลที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ร่างกายต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และหนึ่งในโรคสำคัญที่มีโอกาสติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการป่วยง่าย ๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV เชื้อนี้มองเผิน ๆ อาจเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้

รู้จักไวรัส RSV

ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว


การติดต่อของ RSV

การติดต่อของเชื้อ RSV นี้สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก ๆ 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่ต้องพึงระวัง คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว 
เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง

ทั้งนี้จากข่าวที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ แชร์ประสบการณ์เรื่องราวของผู้ปกครองรายหนึ่งที่มีลูกยังเล็กอายุเพียง 5 เดือน แต่ติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดปอดอักเสบ โดยคาดว่าติดเชื้อจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่มาจับหรือหอมแก้มลูกของตนนั้น การติดเชื้ออาจเกิดจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่ป่วยหรือเป็นพาหะได้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็กเล็ก อยากเข้าไปสัมผัสจับมือ หอมแก้ม โดยไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างมือก่อนสัมผัส เมื่อไปจับต้องโดนตัวเด็ก หรือสัมผัสโดนปากหรือจมูก ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง อย่าเผลอแพร่เชื้อให้เด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว


การรักษา RSV

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ


img

ป้องกัน RSV

การป้องกันการติดเชื้อ RSV ทำได้โดยการรักษาความสะอาด ผู้ปกครองควรดูแลความสะอาดให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อย ๆ เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ปกติแล้วในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อโรคนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่ผู้ใหญ่มีโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ได้ และหากไม่ล้างมือให้สะอาดก็อาจทำให้เด็กเล็กติดเชื้อจากผู้ใหญ่ได้

สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเข้าเรียนในเนิร์สเซอร์รีหรือโรงเรียนอนุบาลแล้ว หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง


ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ
เชื่อมั่นในพื้นฐานของความรักและความเข้าใจในครอบครัว ด้วยคำแนะนำเพื่อการเลี้ยงดูลูกน้อยอย่างถูกวิธีจากกุมารแพทย์ผู้มีประสบการณ์ ให้บริการตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพ และการรักษาผู้ป่วยเด็กในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงพัฒนาการเด็กในวัยต่าง ๆ โดยทีมแพทย์และบุคลากรเฉพาะทางหลากหลายสาขา เช่น กุมารเวชระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ โรคติดเชื้อ โรคหัวใจ ระบบประสาทและสมอง จิตเวช ต่อมไร้ท่อ ทางเดินปัสสาวะ ศัลยกรรม โรคเลือด และมะเร็งเด็ก


 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. พรเทพ สวนดอก

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
นพ. พรเทพ สวนดอก

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล