ฝุ่นพิษเกิดขึ้นได้ อยู่กลางแจ้งต้องระวัง

2 นาทีในการอ่าน
ฝุ่นพิษเกิดขึ้นได้ อยู่กลางแจ้งต้องระวัง

ในช่วงที่อากาศแปรปรวนเสมือนมีหมอกปกคลุม บางครั้งอาจไม่ใช่หมอกแต่เป็นฝุ่นละอองที่มีปริมาณมากเกินขนาดจนเป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งอาจพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ผู้ที่มีโรคประจำตัวทางระบบหายใจ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรต้องระวังและใส่ใจดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้

 

ฝุ่นละอองควรรู้

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาหลักของคนเมือง แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า ฝุ่นละอองที่มีปริมาณมากเกินขนาดในชั้นบรรยากาศส่งผลกระทบต่อร่างกายและการใช้ชีวิตได้มากกว่าที่คิด ดังนั้นการรู้เท่าทันในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า

  • ฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศมีขนาดตั้งแต่ 0.002 ไมครอน มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ไปจนถึงขนาดใหญ่กว่า 500 ไมครอน ที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือฝุ่นที่มีขนาดตั้งแต่ 50 ไมครอนขึ้นไป
  • ฝุ่นละอองอาจเป็นของแข็งหรือของเหลว แต่ที่แขวนลอยบนอากาศได้เป็นเวลานานคือฝุ่นละอองขนาดเล็ก
  • ฝุ่นละอองที่สามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจทำให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นได้ เช่น เนื้อเยื่อปอด หากรับเข้าไปมากเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมเป็นพังผืดหรือแผล สมรรถภาพปอดเสื่อม หลอดลมอักเสบ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง และยังอาจทำให้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย

ฝุ่นพิษ

มลพิษทางอากาศคนเมือง

มลพิษทางอากาศในเมืองอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแหล่งกำเนิดหลัก ๆ ได้แก่

  1. การจราจร
  2. อุตสาหกรรม
  3. การเผาในที่โล่ง

นอกจากนี้อาจประกอบกับการเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ทำให้เกิดมลพิศทางอากาศจนส่งผลกระทบต่อร่างกายได้

 

สุขภาพแย่เมื่อฝุ่นเกินขนาด

ฝุ่นละอองที่มีมากเกินขนาดส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คิด ได้แก่

  • ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล  เจ็บคอ
  • ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้มีอาการไอ มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก หายใจวี้ด หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก
  • ระบบการไหลเวียนเลือดและหัวใจ ทำให้ร่างกายต้องเพิ่มอัตราการหายใจ เนื่องจากแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการหัวใจวาย เป็นต้น

 

วิธีปฏิบัติตัว

  • ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังนอกอาคาร
  • บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรทำกิจกรรมภายนอกอาคารเป็นเวลานาน
  • ถ้าหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกอาคารไม่ได้ควรสวมหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดจมูก  
  • ดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีไม่ปล่อยควันดำ
  • ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ใช้ระบบขนส่งมวลชนแทน
  • ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิด
  • หากเกิดความผิดปกติกับร่างกายควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

 

ฝุ่นพิษ

 

ข้อมูล :

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

Loading

กำลังโหลดข้อมูล