ไซนัสอักเสบ ดูแลอย่างไรไม่ให้รุนแรง

8 นาทีในการอ่าน
ไซนัสอักเสบ ดูแลอย่างไรไม่ให้รุนแรง

ไซนัสอักเสบอาการอาจคล้ายหวัดหรือแพ้อากาศ นอกจากอาการคัดจมูก น้ำมูกหรือเสมหะแล้ว ยังอาจปวดศีรษะ ปวดหน้า และได้กลิ่นลดลง ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานไม่ดูแลรักษาให้ดีอาจเรื้อรังรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

 

ไซนัสอักเสบคืออะไร

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เกิดจากการอักเสบของไซนัส ซึ่งเป็นโพรงอากาศที่อยู่รอบจมูก อาจเป็นการติดเชื้อหรือไม่ใช่การติดเชื้อก็ได้ การติดเชื้ออาจเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา อย่างไรก็ตามเมื่อพูดสั้น ๆ ว่าไซนัสอักเสบโดยไม่ระบุว่าเป็นการอักเสบจากสาเหตุอื่นจะหมายถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย

ไซนัสอักเสบมีความสำคัญอย่างไร

  • เป็นโรคที่พบบ่อย ทำให้มีอาการที่ไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เช่น คัดจมูก น้ำมูก เสมหะลงคอ ไอ ปวดตามใบหน้า ปวดฟัน ปวดศีรษะ การได้กลิ่นลดลง เสียงขึ้นจมูก มีกลิ่นเหม็นในจมูก ไข้ อ่อนเพลีย หูอื้อ
  • ทำให้มีโรคแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น เกิดการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ตาและสมอง
  • อาจมีสาเหตุแฝงที่เป็นอันตรายซ่อนอยู่ เช่น ในบางรายอาจมีก้อนเนื้องอกหรือก้อนเชื้อราแฝงอยู่ 
  • การดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการค้นหาและรักษาสาเหตุแฝงที่อาจพบร่วมด้วยจะได้ผลดี และมีโรคแทรกซ้อนน้อย

ไซนัสอักเสบ ดูแลอย่างไรไม่ให้รุนแรง

ไซนัสอักเสบมีกี่แบบ

ไซนัสอักเสบมีหลายแบบ ได้แก่ 

  1. การอักเสบแบบเฉียบพลัน มีอาการน้อยกว่า 3 เดือน
  2. การอักเสบแบบเรื้อรัง มีอาการตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
  3. การอักเสบแบบเฉียบพลันแทรกในรายที่มีการอักเสบแบบเรื้อรังอยู่แล้ว 
  4. การอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ มีการอักเสบแบบเฉียบพลัน ตั้งแต่ 4 ครั้งต่อปีขึ้นไป

ทำไมถึงเป็นไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ในไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักมีสาเหตุเริ่มต้นจากการเป็นไข้หวัด มีส่วนน้อยที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น จากฟันและการดำน้ำ เป็นต้น แต่ในไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือไซนัสอักเสบเป็น ๆ หายๆ อาจมีปัจจัยบางอย่างที่เป็นสาเหตุหรือส่งเสริมให้เกิดโรคไซนัสอักเสบแฝงอยู่  ทำให้การอักเสบไม่หายไปหรือหายไปแล้ว แต่กลับมาเป็นอีกบ่อย ๆ การตรวจค้นหาและรักษาที่สาเหตุที่อาจเป็นสาเหตุหรือส่งเสริมให้เกิดโรคไซนัสอักเสบดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย จะทำให้การรักษาได้ผลดี 

สาเหตุแฝงที่ทำให้เป็นไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง หรือแบบเป็น ๆ หาย ๆ ที่พบบ่อยได้แก่

  • มีการอุดตันช่องเปิดหรือช่องทางเดินของน้ำเมือกของไซนัส การอุดตันนี้อาจเกิดจากโครงสร้างทางกายภาพของช่องเปิด / ช่องทางเดินของน้ำเมือกผิดปกติ หรือเกิดจากเยื่อบุรอบ ๆ ช่องเปิด / ช่องทางเดินของน้ำเมือกบวม เช่นจากการแพ้อากาศ หรือมลพิษทางอากาศ   
  • มีความผิดปกติของการขับน้ำเมือกที่อยู่ในไซนัสออกมาในโพรงจมูก อาจเกิดจากการมีน้ำมูกที่เหนียวข้นเกินไป หรือเกิดจากการที่ขนเล็ก ๆ (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) ที่เยื่อบุผิวของไซนัส ไม่ทำหน้าที่พัดโบกน้ำเมือกในไซนัสออกมาทิ้งในโพรงจมูก
  • การติดเชื้อจากอวัยวะอื่น เช่น รากฟันอักเสบ
  • มีความผิดปกติของภูมิต้านทานทั่วไปของร่างกาย มีเซลล์อักเสบมากผิดปกติในเยื่อบุของไซนัส หรือมีภาวะภูมิต้านทานอ่อนแอ
  • โรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคทางเดินหายใจกำเริบจากยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ต่อมอะดีนอยด์ที่โตจนอุดตันช่องจมูกด้านหลัง กรดเอ่อล้นขึ้นมาจากหลอดอาหาร หรือมีก้อนเชื้อราอยู่ในไซนัส เป็นต้น

ไซนัสอักเสบ ดูแลอย่างไรไม่ให้รุนแรง

ไซนัสอักเสบอาการเป็นอย่างไร

ไซนัสอักเสบมีอาการได้หลายอย่าง อาการหลัก ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกหรือน้ำมูกลงคอที่ขุ่น และอาการรอง ได้แก่ ปวดหรือแน่นตึงตามใบหน้า การได้กลิ่นลดลงหรือหายไป ถ้ามีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 2 อาการ โดยต้องมีอาการหลักอย่างน้อย 1 อาการ ร่วมกับอาการรอง แล้วไม่ดีขึ้นหลังจากมีอาการมา 10 วัน หรือแย่ลงหลังจากมีอาการ 5 วันไปแล้ว จะมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบสูง ยิ่งถ้านํ้ามูกหรือมูกที่ลงคอนั้นมีลักษณะเป็นหนอง อาการปวดเหมือนปวดฟันบนหรือแก้มข้างเดียว หรือมีไข้ร่วมด้วย จะยิ่งมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบสูงขึ้นอีก

ตรวจวินิจฉัยไซนัสอักเสบอย่างไร

การตรวจที่จะช่วยบอกหรือยืนยันว่าเป็นไซนัสอักเสบ ได้แก่ การใช้เครื่องมือถ่างจมูกตรวจโพรงจมูกด้านหน้า การใช้กระจกส่องตรวจหลังโพรงจมูก และการใช้กล้องเอนโดสโคปส่องตรวจในโพรงจมูก การตรวจที่ดีที่สุดเป็นการตรวจด้วยกล้องเอนโดสโคป เพราะสามารถตรวจได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่เจ็บ และใช้เวลาไม่นาน มักจะมีการเอกซเรย์เพื่อใช้ประกอบในการวินิจฉัยไซนัสอักเสบ ซึ่งจะต้องระมัดระวังในการแปรผลเป็นอย่างมาก เอกซเรย์แบบธรรมดาให้ผลบวกเทียมและผลลบเทียมได้ ส่วนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ให้ผลบวกเทียมในสัดส่วนที่สูงมากได้ อย่างผู้ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา เมื่อลองตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่ามีความผิดปกติในไซนัสสูงเกือบ 90% โดยที่ไม่ได้เป็นไซนัสอักเสบจริง ๆ

ไซนัสอักเสบรักษาอย่างไร

การรักษาไซนัสอักเสบจะมุ่งเน้นที่การลดการอักเสบของเยื่อบุ การกำจัดเชื้อที่เป็นสาเหตุ การส่งเสริมให้ทางระบายน้ำเมือกและอากาศของไซนัสดีขึ้น การรักษาโรคพื้นฐานที่อาจเป็นสาเหตุหรือส่งเสริมให้เกิดไซนัสอักเสบ และการลดอาการของผู้ป่วย โดยแบ่งการรักษาออกเป็นการรักษาด้วยยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด

ไซนัสอักเสบ ดูแลอย่างไรไม่ให้รุนแรง

การรักษาไซนัสอักเสบด้วยยาเป็นอย่างไร

การรักษาไซนัสอักเสบด้วยยา ส่วนใหญ่ประกอบด้วยยาต้านจุลชีพ ยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก น้ำเกลือล้างจมูก และยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงนอน (ในกรณีที่มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย) 

  • ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน แพทย์มักแนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ใช้ยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก และใช้ยาต้านจุลชีพในกรณีที่มีหลักฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูกสามารถลดการอักเสบทั้งในการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อและที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ส่วนการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะได้ประโยชน์มากในกรณีที่มีน้ำมูกเหนียวข้น
  • ไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง แพทย์มักแนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ร่วมกับการใช้ยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก ส่วนยาต้านจุลชีพมีที่ใช้น้อยกว่าการอักเสบแบบเฉียบพลัน และในการอักเสบบางชนิดอาจแนะนำให้ใช้ยาต้านจุลชีพบางชนิดในระยะเวลานานกว่าปกติ โดยหวังจะไปลดเซลล์อักเสบ ไม่ได้หวังฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ

นอกเหนือจากยาแล้ว สิ่งที่สำคัญคือต้องนอนพักผ่อนให้เพียงให้พอ และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม เช่น สารก่อความระคายเคืองทั้งหลาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในรายที่ว่ายน้ำแล้วคัดจมูกบ่อย ๆ ก็ให้งดว่ายน้ำ

เมื่อไรที่ต้องผ่าตัดไซนัสอักเสบ

ในไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่แล้วเมื่อได้รับการรักษาก็จะหายได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ในไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว สิ่งสำคัญคือการค้นหาและรักษาสาเหตุแฝงที่ทำให้เกิดการอักเสบตามที่กล่าวมา 

  • สาเหตุบางอย่างรักษาด้วยยาร่วมกับการหลีกเลี่ยง เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบเรื้อรังทั้งที่เกิดจากภูมิแพ้ และที่ไม่ใช่เกิดจากภูมิแพ้ โรคหวัด การสูดดมควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ เป็นต้น 
  • สาเหตุบางอย่างรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ความผิดปกติของโครงสร้าง โดยอาจจะมีก้อนเนื้อหรือไม่มีก้อนเนื้อก็ได้ ต่อมอะดีนอยด์ที่โตจนอุดตัน และก้อนเชื้อราในไซนัส เป็นต้น 
  • สาเหตุบางอย่างรักษาไม่ได้โดยตรงหรือรักษาก็ได้ผลไม่มาก เช่น ความผิดปกติที่ทำให้มีน้ำมูกเหนียวข้น ความผิดปกติของขนเล็ก ๆ ทำให้ไม่สามารถพัดโบกน้ำเมือกออกไปทิ้งได้ หรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทานทั่วไปของร่างกาย เป็นต้น

จะเห็นว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องผ่าตัดร่วมด้วยจึงจะทำให้โรคดีขึ้น นอกเหนือจากมีสาเหตุแฝงที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว ยังมีข้อบ่งชี้อื่นที่ต้องทำผ่าตัดอีกหลายอย่าง ได้แก่

  • มีโรคแทรกซ้อนจากการอักเสบของไซนัส ได้แก่ โรคแทรกซ้อนทางตา เช่น มีเนื้อเยื่อลูกตาอักเสบ หรือฝีในลูกตา และโรคแทรกซ้อนทางสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมอง เป็นภาวะที่จำเป็นต้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
  • มีสาเหตุแฝงที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ดังที่กล่าวมาแล้ว 
  • มีการอุดตันช่องเปิดของไซนัสเป็นเวลานาน ทำให้มีการคั่งของน้ำเมือกในไซนัสเป็นจำนวนมากจนดันผนังของไซนัสให้โป่งพอง
  • ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาและแนวทางที่ไม่ต้องผ่าตัดอย่างเต็มที่แล้วการอักเสบก็ยังไม่หาย ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจรอได้นาน 6 – 12 สัปดาห์

ผ่าตัดไซนัสอักเสบมีขั้นตอนอย่างไร

การผ่าตัดโดยทั่วไปจะดมยาสลบ ใช้กล้องเอนโดสโคป สอดผ่านช่องจมูกเข้าไปในบริเวณที่จะผ่าตัด แล้วมีเครื่องมือสอดตามเข้าไปทำการผ่าตัด ในปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องมือขึ้นมามากโดยเฉพาะเครื่อง Microdebrider (Powered Instrumentation) เพื่อให้มีความสะดวก ตัดเนื้อเยื่อที่ต้องการได้ดี โดยรบกวนเนื้อเยื่อส่วนดีที่ไม่ต้องการตัดได้ดีขึ้น ทำให้ระหว่างผ่าตัดเลือดออกน้อย ผ่าตัดเสร็จแล้วไม่ต้องใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูกมาก หลังผ่าตัดเจ็บแผลน้อย หายใจทางจมูกได้ และทำให้ผลของการผ่าตัดดีกว่าเมื่อก่อนมาก 

เครื่อง Microdebrider ใช้ครั้งแรกในโลกประมาณปี พ.ศ. 2539 และมีการนำมาใช้ในการผ่าตัดไซนัสครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2541 และมีการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ถือว่าเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้ในการผ่าตัดไซนัส

เครื่อง Navigator เป็นเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่ช่วยทำให้การผ่าตัดในบางจุดในผู้ป่วยบางรายมีประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น แต่ต้องอยู่ภายใต้การรักษาของแพทย์ผ่าตัดที่รู้จักโครงสร้างในไซนัสเป็นอย่างดี ซึ่งการผ่าตัดจะมากน้อยแค่ไหน ต้องผ่าไซนัสไหนบ้าง และต้องเอาผนังของไซนัสออกแค่ไหนขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละรายไป

ข้อดีของการผ่าตัดไซนัสอักเสบ

ไซนัสเป็นอวัยวะที่มีประโยชน์และธรรมชาติสร้างให้มีโครงสร้างในจมูกที่ป้องกันไม่ให้โพรงไซนัสสัมผัสกับช่องจมูกโดยตรง การผ่าตัดไซนัสเป็นการทำให้ช่องเปิดของไซนัสกว้างขึ้น และเปิดช่องทางเดินของมูกของไซนัสให้เชื่อมเข้ากับช่องจมูกโดยตรง มูกในไซนัสจึงขับออกทางจมูกได้ง่ายขึ้น หรือเวลาล้างจมูก น้ำเกลือก็เข้าไปล้างในไซนัสได้ ถ้าใช้ยาผสมในน้ำเกลือ ยาก็สามารถเข้าไปถึงเยื่อยุผิวของไซนัสได้ดี 

แต่ในทางกลับกันเมื่อมีอะไรในจมูก สิ่งนั้นก็จะเข้าไปในไซนัสได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน เช่น เวลาเป็นไข้หวัดจะมีไซนัสอักเสบจากไวรัสได้มากและหนักขึ้น ถ้าผ่าตัดแบบเปิดกว้าง เช่น Full – House FESS ตัวไซนัสทั้ง 5 ไซนัสก็จะต่อเป็นโพรงเดียวกับช่องจมูก ถ้าผ่าแบบ Extended Endoscopic Sinus Surgery ก็จะมีการตัดเอาเนื้อในโพรงจมูกด้านในบางส่วนออกไปด้วย การจะผ่าตัดจึงต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนหมายความว่ามีการศีกษาในวงกว้างมาแล้วว่าการผ่าตัดมีความจำเป็นหรือได้ประโยชน์มากกว่าการไม่ผ่าตัด และการผ่าตัดไซนัสเฉพาะในส่วนที่ควรผ่า ไม่ผ่าในส่วนที่ไม่จำเป็น 

ซึ่งวิธีการผ่าตัดมีตั้งแต่น้อยไปหามากคือ Limited Endoscopic Sinus Surgery, Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS), Full – House FESS, Reboot Endoscopic Sinus Surgery, Extended Endoscopic Sinus Surgery ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีสาเหตุของโรคและมีวัตถุประสงค์ในการผ่าตัดไม่เหมือนกัน วิธีการผ่าตัดจึงอาจไม่เหมือนกัน โดยจะเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม โดยพิจารณาว่าไซนัสอักเสบแบบไหนจะเลือกใช้การผ่าตัดแบบใดจึงจะได้ผลดีและมีผลกระทบต่อไซนัสส่วนที่เหลือน้อยที่สุด การผ่าตัดน้อยไปโรคก็ไม่ดีขึ้น ส่วนการผ่าตัดมากเกินไปก็อาจมีความเสี่ยงในการผ่าตัดมากขึ้นโดยไม่จำเป็น และมีผลข้างเคียงจากการที่หน้าที่ส่วนดีตามธรรมชาติของไซนัสและจมูกเสียไป

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดไซนัสอักเสบ

ไซนัสเป็นโครงสร้างซึ่งอยู่ติดกับอวัยวะที่มีความสำคัญ คือ ตาทางด้านข้างและสมองทางด้านบน ดังนั้นการผ่าตัดไซนัสจึงมีโอกาสผ่าทะลุเข้าตาและสมอง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตั้งแต่เลือดออกรอบ ๆ ตา ซึ่งจะหายไปเอง จนถึงทำให้ตาบอดได้ ถ้าทะลุเข้าสมองอาจทำให้น้ำในสมองรั่วต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดซ่อม อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงดังกล่าวพบได้น้อยมาก ซึ่งแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะรู้ลักษณะทางกายวิภาคและโครงสร้างของไซนัสเป็นอย่างดี ส่วนผลข้างเคียงอื่น ที่พบได้ คือ เลือดออกหลังผ่าตัด สามารถแก้ไขด้วยการใส่วัสดุห้ามเลือดหรือจี้ห้ามเลือดในบริเวณที่มีเลือดออก

โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาไซนัสอักเสบที่ไหนดี

ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาโรคไซนัสอักเสบในทุกมิติ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ ทำทุกกิจกรรมได้อย่างมีความสุข

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาไซนัสอักเสบ

นพ.ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร แพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลกรุงเทพ

แพ็กเกจผ่าตัดรักษาไซนัสอักเสบ

แพ็กเกจผ่าตัดรักษาไซนัสอักเสบ ราคาเริ่มต้นที่ 157,000 บาท

คลิกที่นี่ 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร

โสต ศอ นาสิกวิทยา

นพ. ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร

โสต ศอ นาสิกวิทยา

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์หู คอ จมูก

ชั้น 7 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ



วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น

วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

ประหยัดเวลาค้นหาแพทย์ด้วยตัวเอง

ให้ AI ช่วยประเมินอาการและแนะนำแพทย์ที่เหมาะสม

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด