ศูนย์รักษาแผล โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นคลินิกรักษาแผลทุกประเภทที่เป็นแผลเรื้อรังรักษาไม่หายภายใน 4 สัปดาห์ เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
- แผลเบาหวาน
- แผลกดทับ
- แผลหลอดเลือด แผลจากเส้นเลือดแดง – ดำตีบตัน
- แผลจากระบบประสาท
- แผลจากการฉายแสง
- แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
- แผลอื่น ๆ ที่รักษาแล้วไม่ดีขี้นใน 4 สัปดาห์
บาดแผล (Wound) คืออะไร
ภาวะที่ชั้นผิวนอกที่ปกป้องอวัยวะแยกจากกัน ทำให้อวัยวะนั้น ๆ สัมผัสกับภายนอก เมื่อร่างกายเกิดมีบาดแผลขึ้น ร่างกายจะพยายามซ่อมแซมเพื่อให้แผลปิด กระบวนการหายของแผล (Wound Healing) เป็นกลไกที่ซ่อมแซมในแง่ของลักษณะทางกายภาพและการทำงานของอวัยวะให้สมบูรณ์เหมือนเดิม
กระบวนการหายของแผล
กระบวนการหายของแผลมีอยู่ 4 ขั้นตอนคือ
- การหยุดเลือด (Hemostasis Phase) เกล็ดเลือด (Platelets) เป็นเซลล์สำคัญและเป็นตัวเริ่มต้นของกระบวนการนี้ในการห้ามเลือดออกจากบาดแผล
- การอักเสบ (Inflammatory Phase) เซลล์เม็ดเลือดขาว (Leukocytes and Macrophages) ทำลายเชื้อโรคและกำจัดเซลล์ที่ตายแล้วเพื่อทำความสะอาดบาดแผล
- กลไกการสร้างเนื้อเยื่อทดแทน (Proliferative Phase) ขั้นตอนหลักของกระบวนการนี้ประกอบด้วยการสร้างโครงสร้างสารพื้นฐาน (Ground Substance and Matrix Synthesis) การสร้างเส้นเลือดใหม่ (Angiogenesis) การสร้างเนื้อเยื่อพังผืด (Fibroplasia) การสร้าง Granulation Tissue การสร้างเยื่อบุผิว (Epithelialization) และการสะสมของเส้นใยคอลลาเจน (Collagen Deposition)
- กลไกการปรับสมดุลโครงสร้างของแผล (Remodeling Phase, Maturation Phase) จะเกิดการปรับการเรียงตัวของเส้นใยคอลลาเจนและเกิดการหดตัวของแผล (Wound Contraction) ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้บาดแผลมีลักษณะเล็กลงและราบลง
ข้อแตกต่างระหว่างบาดแผลเฉียบพลันและเรื้อรัง
บาดแผลที่เกิดขึ้นทันทีเรียกว่า บาดแผลเฉียบพลัน (Acute Wounds) บาดแผลจะหายเร็ว ส่วนบาดแผลที่ไม่สามารถดำเนินตามขบวนการหายของแผลตามปกติ ทั้งกายภาพและการทำงานของอวัยวะการสร้างเซลล์ไม่สมบูรณ์ เรียกว่า บาดแผลเรื้อรัง (Chronic Wounds)
ข้อบ่งชี้ในการรักษา
- แผลทุกประเภทที่เป็นแผลนานกว่า 4 สัปดาห์แล้วไม่หาย ยกเว้นแผลแยกจากการผ่าตัด
- แผลหายยากต่าง ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุ
LINE CENTER ID: @BHQSurgery