บาดแผลที่พบในปัจจุบันมีทั้งแผลเรื้อรังและแผลเฉียบพลัน สำหรับแผลเฉียบพลันจะหายได้เร็ว ใช้เวลารักษาไม่นาน แต่สำหรับบาดแผลเรื้อรังจะหายช้าและกินเวลานาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะการรักษาอย่างถูกวิธีมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้แผลเรื้อรังหายได้เร็วยิ่งขึ้น
รู้จักแผลเฉียบพลัน VS แผลเรื้อรัง
- แผลเฉียบพลัน (Acute Wounds) คือ แผลที่เพิ่งเกิดขึ้น บาดแผลจะหายเร็ว
- แผลเรื้อรัง คือ บาดแผลที่ไม่สามารถดำเนินตามขบวนการหายของแผลตามปกติ แผลจะอยู่ในภาวะมีการอักเสบ แต่ไม่มีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ เรียกว่า แผลเรื้อรัง (Chronic Wounds) รักษาแล้วไม่หายภายใน 4 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่แผลทั่วไปจะหายภายในเวลาประมาณนี้
กระบวนการหายของแผล
กระบวนการหายของแผลเรื้อรังต่างจากแผลเฉียบพลัน เช่น หกล้ม ถลอก โดนมีดบาด กระบวนการหายจะเรียบง่าย
กระบวนการหายของแผลเฉียบพลันแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 ห้ามเลือดให้เลือดหยุด 1 – 3 วัน
- ระยะที่ 2 ระยะของการอักเสบไม่เกิน 1 สัปดาห์
- ระยะที่ 3 ระยะเสริมสร้างเนื้อเยื่อ 2 – 3 สัปดาห์
- ระยะที่ 4 ระยะปรับสภาพจะอยู่เป็นปี
สำหรับแผลเรื้อรังในกระบวนการหายของแผลจะอยู่ในช่วงระยะที่ 2 คือ ระยะของการอักเสบแล้วไม่ก้าวผ่านไปเป็นระยะเสริมสร้างเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อใหม่ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการรักษาแผลเรื้อรังจึงยากกว่าแผลเฉียบพลัน ต้องแก้ไขให้ก้าวผ่านระยะที่เป็นแผลอักเสบไปสู่ระยะเสริมสร้างเนื้อเยื่อและทำให้แผลหายต่อไป
สาเหตุที่พบบ่อยของแผลเรื้อรัง
- แผลเบาหวาน โดยเฉพาะแผลที่เท้า
- แผลกดทับ
- แผลจากหลอดเลือดดำเสื่อมและหลอดเลือดแดงตีบตัน
- แผลจากอุบัติเหตุ ที่ได้รับการดูแลไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก
การดูแลรักษาแผลเรื้อรัง
การดูแลรักษาแผลเรื้อรังนั้นมีความละเอียดและซับซ้อน ต้องแก้ไขสาเหตุของแผลร่วมด้วย และนอกจากการรักษาความสะอาดและทำแผลอย่างถูกวิธี รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะแล้ว ยังมีเครื่องมือและเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยเข้ามาช่วยลดผลกระทบของบาดแผล ให้แผลหายได้ในเร็ววัน ซึ่งต้องรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์เพื่อวินิจฉัยได้ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละกรณี