4 ชนิดต้อหินที่ล้วนแล้วแต่ต้องรีบรักษาในเร็ววัน ประกอบด้วย
1. ต้อหินชนิดมุมเปิด
ต้อหินที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากเนื้อเยื่อกรองน้ำเลี้ยงลูกตามีประสิทธิภาพการทำงานลดลงเรื่อย ๆ ความดันในตามักสูงขึ้นและทำลายขั้วประสาทตาในที่สุด ซึ่งในระยะแรกของต้อหินชนิดมุมเปิดนี้จะไม่มีอาการแสดง ลานสายตาจะแคบลงเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถสังเกตได้ แต่เมื่อประสาทตาถูกทำลายไปมากขึ้นเรื่อย ๆ การมองเห็นจะลดลงอย่างชัดเจนส่งผลให้ตาบอดได้ในที่สุด และถึงแม้ในบางรายความดันตาไม่สูงขั้วประสาทตาก็จะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ ทำให้ลานสายตาแคบลงส่งผลต่อการมองเห็น
2. ต้อหินชนิดมุมปิด
เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างตา ม่านตาอยู่ชิดกับเนื้อเยื่อกรองน้ำลูกตา ทำให้ไปปิดกั้นการระบายของน้ำเลี้ยงลูกตา ความผิดปกตินี้มักเกิดขึ้นกับคนที่ช่องว่างด้านหน้าของลูกตาแคบ หรือมีสิ่งกระตุ้น เช่น อยู่ในที่มืด ได้รับยา ทำให้รูม่านตาขยายมากขึ้น ส่งผลให้ม่านตาเคลื่อนเข้ามาปิดเนื้อเยื่อกรองน้ำลูกตา ส่งผลให้ความดันในตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันจะมีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะข้างเดียวร่วมด้วย ตาแดงภายใน 30 – 60 นาที มีแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ และการมองเห็นลดลง อีกทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะร่วมด้วย ส่วนในกรณีที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือน มุมของม่านตาจะค่อย ๆ ปิดลง มีอาการปวดเรื้อรังแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นต้อหินหรือต้อกระจก เลนส์สายตาจะบวมมากขึ้นจนไปดันช่องตาหน้าให้แคบลง ทำให้การไหลเวียนน้ำในช่องตาไม่สะดวก เป็นสาเหตุให้เกิดต้อหินเฉียบพลันได้
3. ต้อหินตั้งแต่กำเนิด
เป็นต้อหินที่พบมากที่สุดในวัยเด็กตั้งแต่ขวบปีแรก เกิดจากการหยุดพัฒนาการของตาบริเวณช่องหน้าของลูกตา ตั้งแต่ทารกอายุ 7 เดือนในครรภ์และถ่ายทอดทางพันธุกรรม ลักษณะต้อหินตั้งแต่กำเนิดดวงตาจะมีลูกตาใหญ่กว่าปกติ กลัวแสง กระจกตาหรือส่วนของตาดำขุ่น มีน้ำตาไหล หากไม่รักษาโดยเร็วทำให้ตาบอดได้
4. ต้อหินจากภาวะแทรกซ้อน
เกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางสายตาหรือโรคตาอื่น ๆ เช่น ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา เนื้องอก หรือการใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้พัฒนาความรุนแรงของอาการมาเป็นต้อหินในที่สุด เพราะต้อหินคือหนึ่งในปัญหาดวงตาที่พบมาก ดังนั้นการหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นและใส่ใจดูแลดวงตาอยู่เสมอย่อมช่วยให้การมองเห็นเป็นไปอย่างราบรื่นในทุกช่วงวัย