เปลือกตาอักเสบไม่ใช่เรื่องเล็ก

4 นาทีในการอ่าน
เปลือกตาอักเสบไม่ใช่เรื่องเล็ก

ใครที่เคยมีปัญหาคันตา แสบตา น้ำตาไหล ตาแห้ง หยอดน้ำตาเทียมเท่าไรก็ไม่ค่อยดีขึ้น ตาแดงตลอด เปลือกตาบวมแดง เป็นตากุ้งยิงบ่อย ๆ มีคราบขี้ตาแข็ง ๆ หรือตื่นเช้ามาแล้วขนตาติดจนลืมตาไม่ขึ้น หากมีอาการเหล่านี้บ่อย ๆ อาจบ่งบอกว่าคุณมีภาวะเปลือกตาอักเสบที่ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด


รู้จักเปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) คือ การอักเสบของผิวหนังบริเวณเปลือกตาโดยเฉพาะบริเวณขอบเปลือกตา ซึ่งประกอบด้วยขนตา ต่อมรากขนตา (Eyelash Follicles) และต่อมไขมัน (Meibomian Gland) มักเป็นสาเหตุของอาการระคายเคืองตาและไม่สบายตาที่พบได้บ่อย 

นอกจากนี้เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์จะพบอาการแสดงของเปลือกตาอักเสบ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการ ซึ่งสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย มักแสดงอาการในตาทั้ง 2 ข้าง มักเป็นแบบเรื้อรัง แต่ไม่เป็นโรคติดต่อ แม้ว่าเปลือกตาอักเสบเป็นโรคไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้ตาบอด แต่ก็อาจรบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้เสียบุคลิกภาพ และสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถาวรบริเวณขอบเปลือกตา ส่งผลให้ตาแห้ง ขนตาเกขูดผิวกระจกตา ผิวกระจกตาอักเสบหรือเป็นแผลที่กระจกตาและการมองเห็นแย่ลงได้ 

เปลือกตาอักเสบไม่ใช่เรื่องเล็ก


ชนิดเปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบ แบ่งเป็น 2 ชนิดตามตำแหน่งทางกายภาพ ได้แก่ เปลือกตาอักเสบส่วนหน้าและส่วนหลัง แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจแยกจากกันยากและมักเกิดร่วมกันได้บ่อย 

  1. เปลือกตาอักเสบส่วนหน้า (Anterior Blepharitis) ประกอบด้วย ผิวหนังเปลือกตา โคนขนตา ต่อมรากขนตา 
    • เปลือกตาอักเสบชนิดที่เกิดจากเปลือกตาติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcal Blepharitis) เป็นชนิดที่พบบ่อยในผู้หญิงถึง 80%
    • เปลือกตาอักเสบชนิดที่เป็นการอักเสบของต่อมสร้างไขมันผิวหนังเปลือกตา (Seborrheic Blepharitis)
  2. เปลือกตาอักเสบส่วนหลัง (Posterior Blepharitis) มักเกิดจากต่อมไขมันที่ขอบเปลือกตา (Meibomian Gland) ทำงานผิดปกติ (Meibomian Gland Dysfunction – MGD) 

เปลือกตาอักเสบไม่ใช่เรื่องเล็ก

สาเหตุเปลือกตาอักเสบ

สาเหตุของเปลือกตาอักเสบยังไม่รู้แน่ชัด อาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น

  • โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันที่ผิวหนัง (Seborrheic Dermatitis) สะเก็ดรังแค อาจทำให้เกิดการอักเสบระคายเคืองที่ผิวหนังบริเวณเปลือกตา
  • การติดเชื้อ
  • การอุดตันหรือการทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่ขอบเปลือกตา (Meibomian Gland Dysfunction – MGD)
  • โรคภูมิแพ้ หรือการแพ้ยาหยอดตา น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ หรือเครื่องสำอาง
  • ไรฝุ่นหรือไรขนตา (Demodex)
  • ภาวะตาแห้ง

เปลือกตาอักเสบไม่ใช่เรื่องเล็ก


อาการเปลือกตาอักเสบ

  • รู้สึกเหมือนมีอะไรในตา
  • แสบตา เคืองตา
  • น้ำตาไหลบ่อย
  • คันตา
  • ตาแพ้แสง
  • ตาแดง
  • เปลือกตาบวมแดง
  • มีตุ่มสีขาวคล้ายสิวบริเวณเปลือกตาหรือขอบเปลือกตา
  • น้ำตาเป็นฟอง
  • ตาแห้ง
  • มีคราบขี้ตาหรือสะเก็ดบริเวณขนตาหรือหัวตา มักเป็นช่วงเช้าเวลาตื่นนอน บางครั้งขนตาติดกันจนลืมตาไม่ขึ้น
  • ขนตาจับตัวกันเป็นกระจุก
  • ตาพร่ามัว แต่กะพริบตาแล้วมักจะดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนจากเปลือกตาอักเสบ

  • ความผิดปกติของขนตา เช่น ขนตาร่วง ขนตางอกผิดทิศทางหรือขนตาเก
  • ความผิดปกติของผิวหนังเปลือกตา เช่น แผลเป็นที่ขอบเปลือกตา ขอบเปลือกตาม้วนเข้าหรือม้วนออก
  • น้ำตาไหลบ่อยหรือตาแห้ง ต่อมไขมันที่ขอบเปลือกตา (Meibomian Gland) ทำหน้าที่สร้างชั้นไขมันในน้ำตา ซึ่งช่วยให้น้ำตาไม่ระเหยเร็ว ดังนั้นเมื่อมีการอักเสบบ่อย ๆ จะทำให้ต่อมไขมันทำงานผิดปกติ (Meibomian Gland Dysfunction หรือ MGD) สร้างไขมันน้อยลง ส่งผลให้น้ำตาระเหยเร็ว เกิดอาการตาแห้ง ตาแดง เคืองตา คันตา แสบตา น้ำตาไหล
  • การอุดตันของต่อมไขมันบริเวณขอบเปลือกตา ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อภายในต่อมไขมันและทำให้เปลือกตาบวม แดง เจ็บ เรียกว่า ตากุ้งยิง (Stye) หากการอักเสบติดเชื้อดีขึ้น อาการเจ็บหายไป แต่อาจทิ้งร่องรอยเป็นตุ่มนูนแข็งที่บริเวณเปลือกตา (Chalazion) ได้
  • ตาแดงเรื้อรังจากเยื่อบุตาอักเสบ
  • กระจกตาถลอกหรือเป็นแผล จากการระคายเคืองจากเปลือกตาอักเสบหรือขนตางอกผิดทิศทาง นอกจากนี้การมีตาแห้งหรือน้ำตาไม่เพียงพออาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่กระจกตาได้ หากกระจกตาขุ่นจากแผลเป็นอาจทำให้การมองเห็นแย่ลงแบบถาวรได้

เปลือกตาอักเสบไม่ใช่เรื่องเล็ก

รักษาเปลือกตาอักเสบ

วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาเปลือกตาอักเสบ คือ การรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตาและขอบเปลือกตา ซึ่งเบื้องต้นสามารถทำด้วยวิธีการง่าย ๆ ที่บ้าน ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาจนกว่าการอักเสบจะดีขึ้นเพื่อลดการระคายเคือง
  • ประคบอุ่น โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นบิดหมาด ๆ หรืออาจใช้อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ถุงน้ำร้อน แผ่นเจลประคบ ไข่ต้ม ควรรักษาอุณหภูมิที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 10 – 15 นาที ควรทำวันละ 1 – 2ครั้ง เพื่อให้คราบขี้ตาหรือสิ่งอุดตันบริเวณเปลือกตานุ่มลงและล้างออกได้ง่ายขึ้น 
  • นวดเปลือกตาโดยล้างมือให้สะอาด ใช้นิ้วกดรีดเบา ๆ ในแนวตั้งฉากเข้าหาขอบเปลือกตาตามแนวการเรียงตัวของต่อมไขมันบริเวณขอบเปลือกตา เพื่อระบายไขมันที่อุดตัน ควรหลีกเลี่ยงในกรณีที่มีการอักเสบรุนแรง
  • ทำความสะอาดเปลือกตาโดยผสมแชมพูเด็กกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1:1 ใช้ผ้าหรือแผ่นสำลีชุบน้ำผสมแชมพูถูไปมาเบา ๆ ตามแนวโคนขนตาและขอบเปลือกตาหลาย ๆ ครั้งขณะหลับตา หรือในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะ อาจอยู่ในรูปของโฟมหรือแผ่นสำลีชุบน้ำยา ช่วยให้สะดวกในการใช้มากขึ้น หลังจากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด 
  • หากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยยาตามความเหมาะสมและสาเหตุของโรค
    • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) อาจเป็นยาหยอดตา ขี้ผึ้งป้ายตา หรืออาจต้องใช้ยากินหากมีการติดเชื้อ
    • ยาสเตียรอยด์ (Steroids) ช่วยลดอาการอักเสบ บวม แดง หรือการระคายเคือง 
    • ยาปรับภูมิต้านทาน (Immunomodulators) เช่น ยา Cyclosporine ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในบางกรณี เช่น การอักเสบของขอบเปลือกตาส่วนหลัง 
    • น้ำตาเทียม ช่วยลดอาการตาแห้งและการระคายเคือง
    • ยารักษาโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุหรือตัวกระตุ้นเปลือกตาอักเสบ เช่น ภูมิแพ้ หรือโรคผื่นแพ้ Seborrheic Dermatitis

ป้องกันเปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบมักเป็นเรื้อรัง อาจรักษาไม่หายขาด และอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก จึงควรรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของเปลือกตาและใบหน้าอย่างสม่ำเสมอ การเลี่ยงหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ให้ดีก็ช่วยลดอาการ ทำให้โรคหายเร็วขึ้นและไม่กลับมาเป็นซ้ำบ่อยๆ ทำได้โดย

  • รักษาความสะอาดของใบหน้าและมือ 
  • พยายามไม่สัมผัส หรือเกาใบหน้า หรือขยี้ตา 
  • ล้างเครื่องสำอางบนใบหน้าก่อนนอนทุกคืน
  • เปลี่ยนเครื่องสำอางที่ใช้บริเวณดวงตาเป็นประจำ เช่น Eyeliner Eyeshadow Mascara เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค
  • ใส่แว่นตาแทนคอนแทคเลนส์จนกว่าการอักเสบจะดีขึ้น
  • ซับคราบน้ำตาหรือยาหยอดตาที่ล้นออกมาจากตาด้วยกระดาษทิชชูหรือสำลีสะอาด

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ

จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.

เสาร์ 08.00 - 17.00 น

อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด