ตับและตับอ่อน คือ อวัยวะที่หากเกิดความผิดปกติแล้วอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อร่างกายได้หลายอย่าง ตั้งแต่เกิดภาวะอักเสบเฉียบพลัน อักเสบเรื้อรัง เกิดก้อนเนื้องอกหรือซีสต์ (ถุงน้ำ) หรือโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตับและตับอ่อนเกิดภาวะอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังเกิดอันตรายต่อร่างกายจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ อาทิ เกิดภาวะอักเสบชนิดรุนแรงจนตับวายเฉียบพลันหรือเกิดตับแข็งและเป็นมะเร็งตับ
นอกจากอันตรายที่เกิดต่อตับและตับอ่อนโดยตรงแล้วยังสามารถเกิดผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ไต ต่อมไร้ท่อ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติจนไม่สามารถห้ามเลือดได้เมื่อเกิดมีภาวะเลือดออก ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้นการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้
ปัญหาชวนปวดตับ
ส่วนใหญ่โรคที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับตับเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ คือ
1) การดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับสูงกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณในการดื่ม หากดื่มในปริมาณสูงต่อเนื่องเพียง 2 สัปดาห์สามารถทำให้เกิดไขมันพอกตับ หรือดื่มต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีด้วยปริมาณตั้งแต่ 20 – 30 กรัมต่อวันในเพศหญิง หรือตั้งแต่ 40 – 50 กรัมต่อวันในเพศชาย ก่อให้เกิดภาวะตับแข็งได้
ผลร้ายของแอลกอฮอล์ที่มีต่อตับแตกต่างกันในแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณของการดื่มและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่างจะมีผลเสียต่อตับมากกว่าดื่มพร้อมอาหาร หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าแอลกอฮอล์เข้าไปกระตุ้น ทำให้เกิดกระบวนการเป็นพิษต่อตับจนกลายเป็นไขมันพอกตับ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับได้อย่างไร
เนื่องจากในกระบวนการย่อยจะมีกระบวนการที่เป็นขั้นตอน การดื่มที่ตับไม่สามารถย่อยสลายได้สมบูรณ์ ทำให้สารตกค้างในกระบวนการย่อยคั่งค้าง ซึ่งสารดังกล่าวนี้เป็นพิษทำลายเซลล์ตับ ขัดขวางการทำงานของตับ การสลายของไขมัน ทำให้ไขมันสะสมในเซลล์ตับเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่าภาวะไขมันพอกตับ แต่ถ้าหยุดดื่ม ตับก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เพราะตับสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่หากยังดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปจนเซลล์ตับเกิดการอักเสบเรื้อรังจนซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ เกิดเนื้อเยื่อพังผืดหรือแผลเป็นในตับ กลายเป็นตับแข็ง ตับวาย พัฒนาเป็นมะเร็งตับในระยะท้ายของโรค
2) พันธุกรรม โรคทางพันธุกรรมบางอย่างส่งผลต่อการสร้างอวัยวะตับไม่สมบูรณ์หรือบกพร่องในการสร้างเอนไซม์ในตับ เกิดของเสียสะสมในเนื้อตับอย่างต่อเนื่องจนทำให้ตับเสื่อม ตับแข็ง และเกิดมะเร็งตับได้
3) โรคประจำตัว โรคเลือด โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี หากดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งส่งผลให้การดำเนินของโรคลุกลามอย่างรวดเร็วขึ้น จนเกิดตับแข็งและมะเร็งตับได้เร็วขึ้น
4) การรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง อาทิ อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราที่สร้างสารอัลฟาท็อกซิน หรืออาหารปิ้ง ๆ ย่าง ๆ เกิดความไหม้เกรียม อาหารที่มีส่วนผสมของดินปะสิว และอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ที่ทำจากปลาน้ำจืดในภาคอีสานส่งผลให้เกิดพยาธิใบไม้ในตับ ตับแข็ง และมะเร็งท่อน้ำดี
5) สูบบุหรี่
6) ทานยา สมุนไพร หรือสารเคมีบางชนิด อาทิ ทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลในปริมาณมากเกินขนาด อาจก่อให้เกิดสารพิษในตับ อีกกลุ่มคือยาสมุนไพรที่สกัดมาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ทราบชนิดและปริมาณของตัวยาที่ผสมอยู่ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงยาสมุนไพรที่ไม่มีที่มาที่ไป อาจเป็นอันตรายถึงขั้นตับวายได้
สังเกตตับผิดปกติ
การสังเกตอาการตัวเองว่าตับมีความผิดปกติหรือไม่เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะอาการของโรคตับหากยังไม่เป็นมากมักไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติออกมา รู้ตัวอีกทีเมื่อเป็นมากแล้ว อาการหรือความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มสังเกตได้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความเสื่อมของตับพอควรแล้ว เช่น อาการเบื่ออาหาร ผอม น้ำหนักลดลง นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือท้องผูกเป็นประจำ บางคนมีอาการเจ็บตับบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา ตามมาด้วยอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโตขึ้นจากน้ำในช่องท้องที่มากขึ้น (ท้องมาน) ปัสสาวะสีเข้มแม้จะทานน้ำมากแค่ไหนก็ไม่จาง
ทั้งนี้แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติความเป็นมาของอาการป่วย รวมถึงประวัติคนในครอบครัว เป็นตัวช่วยคัดกรองว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคหรือมีภาวะตับผิดปกติหรือไม่ ตับที่ผิดปกติอาจเริ่มจากภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งหากอาการเพิ่งเป็นในระยะเริ่มต้น ก็สามารถรักษาตับให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
เมื่อตับอ่อนอักเสบ
สถานการณ์ของโรคมะเร็งตับอ่อนจะคล้ายกันกับมะเร็งตับ แต่ความรุนแรงของมะเร็งตับอ่อนจะมากกว่า และมักพบในระยะลุกลามแล้ว ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณหลังกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่หลักสองอย่างคือ ผลิตน้ำย่อยเพื่อใช้ในการย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน น้ำย่อยต่าง ๆ ที่ตับอ่อนผลิตนั้นจะถูกหลั่งออกมาที่ท่อน้ำดีส่วนปลาย ออกสู่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยอาหารต่อไป หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของตับอ่อน คือ การสร้างฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด
ทั้งนี้หากตับอ่อนเกิดการอักเสบ สามารถแบ่งการอักเสบออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1) ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน สาเหตุที่ทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ประกอบด้วย 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
- นิ่วในถุงน้ำดี หากก้อนนิ่วหลุดลงมาอุดตันที่ท่อน้ำดีส่วนปลายกับท่อตับอ่อน ทำให้น้ำย่อยไม่สามารถไหลออกมาย่อยได้ตามปกติ เกิดการไหลย้อนของน้ำดีเข้าสู่ท่อตับอ่อนจนแรงดันในท่อตับอ่อนสูงขึ้น เกิดตับอ่อนอักเสบได้
- แอลกอฮอล์ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปมาก ๆ สารที่เกิดระหว่างกระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์จะมีพิษต่อตับอ่อน ส่งผลให้เซลล์ตับอ่อนถูกทำลาย หากดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนแคลเซียมเกาะที่ตับอ่อน เกิดพังผืดที่ตับอ่อน และนำไปสู่ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรังได้ในอนาคต
อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน คือ คนไข้จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเริ่มปวดจากบริเวณลิ้นปี่ แล้วปวดร้าวไปที่หลัง ซึ่งเป็นอาการปวดที่เป็นลักษณะเฉพาะของตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ทานอาหารไม่ได้ ยิ่งทานยิ่งรู้สึกปวด ปวดมากจนนอนไม่เป็นสุข
การตรวจวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกเมื่อคนไข้มาพบแพทย์ คือ การซักประวัติ ตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุ หากมีประวัติชัดเจนว่าดื่มแอลกอฮอล์ อาจสันนิษฐานได้ว่า มีอาการของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันจากแอลกอฮอล์ หรือหากมีสาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดีแล้วก้อนนิ่วตกลงไปอุดตัน อาจต้องทำอัลตราซาวนด์เพื่อยืนยัน (ในกรณีที่ไม่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์) สุดท้ายคือ การเจาะเลือดเพื่อหาค่าระดับเอนไซม์ Amylase กับ Lipase
การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันขึ้นอยู่กับระยะของโรค หลัก ๆ คือ การให้สารน้ำอย่างเพียงพอต่อร่างกายทางหลอดเลือดเพื่อป้องกันภาวะช็อกที่อาจเกิดขึ้นได้ อาจนอนพักโรงพยาบาลระยะหนึ่งเพื่อสังเกตอาการและค้นหาสาเหตุ ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสาเหตุการอักเสบ หากเป็นในระยะรุนแรงมากอาจส่งผลทำให้อวัยวะภายในล้มเหลว คนไข้มีโอกาสเสียชีวิตได้
2) ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง สาเหตุหลักใหญ่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ตับอ่อนเกิดการอักเสบซ้ำ ๆ และนำไปสู่ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังที่เด่นชัดคือ ปวดท้อง ซึ่งคล้ายคลึงกับอาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เพียงแต่จะปวดถี่ขึ้นและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทานยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แต่หากคนไข้ไม่มีอาการปวดท้อง จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โดยการสังเกตขณะขับถ่าย หากพบว่ามีไขมันปนออกมากับอุจจาระลอยอยู่ แสดงว่าตับอ่อนเริ่มทำงานแย่ลง ร่วมกับการตรวจค่าน้ำตาลในเลือด หากพบว่าค่าน้ำตาลสูงขึ้นถือเป็นสัญญาณเตือน ทั้งนี้หากวินิจฉัยพบว่าเป็นตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับอ่อนสูงกว่าคนปกติ
รักษาโรคตับและตับอ่อนอักเสบแบบยั่งยืน
การรักษาโรคตับและตับอ่อนอักเสบแบบยั่งยืน สามารถจัดการได้ที่ต้นเหตุ คือ หยุดดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ตับฟื้นฟูตัวเอง เพื่อหยุดยั้งการทำลายเซลล์ตับที่เหลืออยู่ และหวังให้การดำเนินของโรคช้าลง แต่หากจำเป็นต้องทำการรักษา ปัจจุบันการรักษาโรคตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการให้ยาจำเพาะที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิต และป้องกันภาวะแทรกซ้อน การให้สารอาหารหรือวิตามินที่เพียงพอเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงพิจารณาเลือกใช้วิธีผ่าตัดที่เหมาะสมกับอาการและระยะของโรค ทั้งการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การรักษาแบบ Intervention treatment และ/หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายตับสำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อยารักษา
ในกรณีที่วินิจฉัยว่าตับอ่อนอักเสบมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ อาทิ มีเนื้อตายหรือมีการติดเชื้อร่วมด้วย อาจต้องทำการใส่ท่อระบายบริเวณที่มีปัญหา หรือถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อตายบริเวณตับอ่อนออก ซึ่งการผ่าตัดเพื่อตัดตับอ่อนทั้งหมดหรือบางส่วนออก ถือเป็นทางเลือกที่จะพิจารณาในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งจำกัดเฉพาะอยู่ในตับอ่อน เป็นต้น
ดูแลใส่ใจตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี
ภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากแอลกอฮอล์เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง การวินิจฉัยและให้การรักษาที่รวดเร็วมีความสำคัญยิ่ง ฉะนั้นการป้องกันและดูแลใส่ใจตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดีให้แข็งแรง ได้แก่
- งดดื่มแอลกอฮอล์
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ใช้ช้อนกลางเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- รับประทานอาหารเสริมอย่างรอบคอบโดยควรปรึกษาแพทย์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอและบี
นอกจากนี้หากมีนิ่วในถุงน้ำดีควรปรึกษาแพทย์ หมั่นสังเกตอาการเตือนของโรค เข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านโรคตับและตับอ่อนเพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดโรคที่มาจากปัญหาพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อให้มีสุขภาพดีห่างไกลจากโรคตับและตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง